เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบทั่วไปและมีอากาศร้อนในตอนกลางวันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ความร้อนและแสงแดดแรงๆ อาจทำให้เราเหนื่อยเพลียง่าย แถมยังพ่วงท้ายด้วยโรคภัยไข้เจ็บอีกหลายชนิดด้วย สิ่งที่หลายคนมักกังวลก็คือ แสงแดดที่อาจทำลายผิวหนังจนก่อให้เกิดผลเสียตามมา แต่ไม่ใช่แค่ต้องระวัง ผิวไหม้จากแสงแดดเท่านั้น เพราะฤดูร้อนยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
ข้อมูลจาก พญ.ดวงกมล ทัศนพงศากุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จนร่างกายต้องขับ “เหงื่อ” เพื่อระบายความร้อนออกมา เพราะฉะนั้นเหงื่อจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในช่วงหน้าร้อน ซึ่งโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่
l ผด
เวลาอากาศร้อนมาก จะทำให้เหงื่อออกมากซึ่งผดเกิดจากความผิดปกติของท่อเหงื่อ เมื่อมีเหงื่อเพิ่มขึ้น หนังขี้ไคลที่บวมอาจทำให้เกิดการอุดตันของท่อเหงื่อ ทำให้เกิดผด ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดงเล็กกระจายสม่ำเสมอ หรือบางครั้งจะเป็นเม็ดใสๆ พบมากในเด็ก โดยผดในเด็กมักขึ้นรอบๆ คอ หน้าผาก หน้าขา และรักแร้ ในผู้ใหญ่มักพบผดในบริเวณร่มผ้าที่มีการเสียดสี เช่น คอ หนังศีรษะ หน้าอก ลำตัว และข้อพับ
การป้องกันและรักษาคือ พยายามอยู่ในที่อากาศเย็น มีลมโกรก เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศตามความเหมาะสม ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เบาสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป หากอาการไม่ดีขึ้นให้ทายาแก้ผื่นคัน แป้งน้ำ และในเวลาที่เหงื่อออกมาก ให้อาบน้ำหรือใช้ผ้าซุบน้ำเช็ด ไม่ควรทาผลิตภัณฑ์ที่เป็นครีมหรือน้ำมัน เพราะสารเหล่านี้จะไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เหงื่อระบายออกได้น้อยกว่าเดิม
l ผื่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา เช่น เกลื้อน และกลาก
เกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายๆ วง มีขุยละเอียด สีต่างกัน เช่น สีจางหรือสีขาว แดง น้ำตาล หรือดำ มักเกิดขึ้นบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ และคอ มักไม่มีอาการคันพบมากในผู้เล่นกีฬาที่มีเหงื่อออกมาก อยู่ในที่ร้อนมากๆ สวมเสื้อผ้ารัดแน่นหรือเสื้อผ้าที่อับชื้น เนื่องจากการเกิดความอับชื้น ทำให้เกิดการติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น
กลาก ผื่นมีลักษณะเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน เป็นขุย เริ่มต้นด้วยอาการคันแล้วตามด้วยผื่นแดง ต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อยๆ และมักจะคันมาก ส่วนใหญ่มักพบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วเท้า หนังศีรษะ ดังนั้น ต้องดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายให้ดี บางครั้งกลากอาจจะติดจากการใช้ของร่วมกับคนที่เป็นโรค หรือติดจากสัตว์เลี้ยงก็ได้
l ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
มักเกิดในบริเวณที่อับชื้นซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะสมของการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น รักแร้ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วเท้า เป็นต้น
โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) เป็นโรคที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังบริเวณชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะเหม็นมากกว่าคนทั่วไป มีหลุม รูพรุนเล็กๆ บริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า
ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Erythrasma) จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงแห้งๆ ออกน้ำตาล มักพบบริเวณรักแร้ขาหนีบ ซอกนิ้วเท้า
ในฤดูร้อนมีเหงื่ออกมาก ทำให้เกิดมีกลิ่นตัวได้ง่าย ซึ่งสาเหตุเกิดจากบนผิวหนังมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ ซึ่งแบคทีเรียจะมีการเปลี่ยนแปลงสารที่อยู่ในเหงื่อ ทำให้มีกลิ่นเหม็นเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น รักแร้และในร่มผ้า
l ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบได้ทุกฤดู แต่ในช่วงฤดูร้อนผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีโอกาสเกิดมากขึ้น เพราะมีเหงื่อเป็นตัวกระตุ้น สังเกตได้ว่าบริเวณที่เหงื่อออกมาก ก็จะมีผื่นมากเช่นกันเช่น บริเวณข้อพับแขน บริเวณข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา ซอกคอ โดยลักษณะผื่นมักเป็นผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมาก ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อน หรือมีฝุ่นละอองมาก เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการคันมากขึ้นได้
l ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrheicdermatitis)
เป็นผื่นแดงมีสะเก็ดเป็นมัน ขอบเขตชัดเจน ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณร่องข้างจมูก หว่างคิ้ว หน้าหู หลังหู หนังศีรษะ มีโอกาสเกิดได้มากขึ้นเมื่อได้รับแสงแดดจัด หรือโดนความร้อนมากๆ
l ผิวไหม้แดด
พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน มักเกิดขึ้นเมื่อโดนแสงแดดเป็นเวลานาน ทำให้ผิวไหม้แดดและลอก ผิวจะดำคล้ำขึ้นและทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย ฉะนั้น ควรหลีกเลี่ยงการออกไปอยู่กลางแดด ควรใส่เสื้อผ้าแขนยาวป้องกันแสงแดด ทาครีมกันแดด ใส่แว่นกันแดดใส่หมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวี
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าโรคผิวหนังที่มากับหน้าร้อน บางโรคเราสามารถดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิดได้ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว และมีอาการรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังเพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมกับโรคมากที่สุด
ปัจจุบันผู้บริจาคโลหิตลดลงมากในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการในแต่ละวัน คุณเป็นคนหนึ่งที่สามารถจะช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพียงไปร่วมบริจาคเลือดที่มีคุณภาพ ช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตใหม่และกลับไปอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 02-2564300, 02-2639600 ต่อ 1760, 1761 หรือ https://blood-donationthai.com
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี