โขน คือการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงชนิดหนึ่งของไทย โดยเฉพาะโขนที่แสดงเรื่องรามเกียรติ์ เพราะเป็นการจำลองเอาขนบประเพณีและรูปแบบต่างๆ ของราชสำนักมานำเสนอเพื่อความบันเทิงใจของผู้ชม
ดังนั้นหนึ่งในมหรสพหลวงของราชสำนักสยาม คือ โขน เพราะใช้แสดงในพระราชพิธีสำคัญๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ด้วย
ตะลอนเที่ยวสัปดาห์นี้ไปเก็บภาพจากนิทรรศการวิจิตราภรณ์ และประณีตศิลป์แห่งโขนมานำเสนอ เพื่อย้อนความทรงจำของหลายคนที่ได้ไปชมนิทรรศการนี้ ณ หอศิลป์ร่วมสมัย ถนนราชดำเนิน ซึ่งเพิ่งปิดการจัดแสดงไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 แล้วก็เพื่อนำภาพงดงามมาฝากคุณๆ ที่พลาดการชมนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งก็คงต้องรอการจัดนิทรรศการครั้งหน้าในโอกาสต่อไป
โขนโดยเฉพาะโขนหลวงนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์หลายพระองค์ จึงให้การแสดงโขนมีบทร้อง ที่มาจากบทพระราชนิพนธ์ และมีท่ารำที่วิจิตรงดงาม มีการใช้ดนตรีสดประโคมประกอบการแสดง นอกจากนั้นเครื่องทรง หรือพัสตราภรณ์ของตัวละครหลักคือตัวพระ และตัวนาง รวมถึงยักษ์ชั้นสูงก็เปรียบเสมือนเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี และเจ้านายชั้นสูงในราชสำนัก ดังนั้นเครื่องทรงของตัวละครหลักในโขนรามเกียรติ์จึงมีความวิจิตรอลังการอย่างที่สุด และยังมีถนิมพิมพาภรณ์ หรือเครื่องประดับที่ใช้ในการแสดงที่สุดแสนวิจิตรงดงาม
ดังที่ได้กล่าวว่าโขนนับเป็นมหรสพหลวงชนิดหนึ่งที่ใช้ประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงมักเลือกเรื่องรามเกียรติ์เพื่อใช้แสดง เพื่อสะท้อนคติความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ที่ทรงลงมายังโลกมนุษย์เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้อาณาประชาราษฎร์
ขอกล่าวย้ำว่าโขนในพระราชสำนักนั้นเป็นการแสดงที่วิจิตรงดงามมาก เพราะมีการนำงานประณิตศิลป์สารพัดแขนงเข้าไปรวมในการแสดงโขน ดังจะปรากฏได้ตั้งแต่บทร้อง ดนตรี เครื่องทรง ศิราภรณ์ ท่าร่ายรำและหัวโขนของตัวละครต่างๆ
ขออนุญาตเรียนย้ำว่าโขนไทยได้รับการยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อ พ.ศ. 2561
งานชิ้นสำคัญที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้มีหลายอย่าง อาทิ หัวโขนศีรษะกุมภกรรณหน้าทอง อายุ 135 ปี ซึ่งทำจากทองแดงแล้วตอกลวดลายอย่างวิจิตรบนหัวโขน เศียรพระพิฆเนศ งานศิลป์ชิ้นสำคัญของครูชิต แก้วดวงใหญ่ เครื่องทรงตัวพระ (มังกรกัณฐ์) และตัวนาง ผลงานของอาจารย์จักรพันธ์ุ โปษยกฤต ศีรษะหนุมานหน้ามุก และฉากลับแลตอนทศกัณฐ์ลงสวนขวัญ ของอาจารย์หทัย บุนนาค และยังมีศิราภรณ์ คือ ชฎาอายุมากถึง 100 ปีมาจัดแสดงอีกด้วย ในงานนี้มีทั้งงานของโบราณดั้งเดิม และงานที่สร้างในยุคใหม่ มาจัดแสดงร่วมกัน เพื่อให้เห็นถึงความมีพลวัตรของงานประณีตศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับโขน ซึ่งเป็นการยืนยันว่าประณีตศิลป์แห่งโขนนั้นมีความเชื่อมต่อกันตั้งแต่ยุคโบราณถึงยุคปัจจุบัน โดยผ่านการรังสรรค์ของช่างศิลป์ในแต่ละยุคสมัย
แม้นิทรรศการวิจิตราภรณ์ ประณีตศิลป์แห่งโขนจะปิดการแสดงไปแล้ว แต่ก็เชื่อมั่นได้ว่าในอนาคตจะกลับมาเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมอีกครั้ง เพราะความวิจิตรงดงามของโขนในราชสำนักยังประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยและชาวโลกผู้รักและหลงใหลในงานศิลป์ชั้นสูงตลอดเวลา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี