ร.๙ ทอดพระเนตรโบราณวัตถุ
ด้วยเหตุตำบลบ้านเก่า เมืองกาญจนบุรี เป็นแหล่งที่ค้นพบเรื่องของมนุษย์ยุคหินใหม่แห่งแรก หลังจากกรมศิลปากรสร้าง พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์บ้านเก่า ขึ้นที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ แล้ว แต่ด้วยเหตุที่การขุดค้นเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ที่ตำบลบ้านเก่านั้นสร้างผลกระทบทางวิชาการโบราณคดีอย่างมากมาย จึงเป็นเหตุให้กรมศิลปากรได้ปรับปรุงสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบ้านเก่าใหม่ให้สามารถนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์กาญจนบุรี วัฒนธรรมบ้านเก่าและเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อย-แควใหญ่ด้วยเทคนิคการจัดที่ทันสมัยให้น่าสนใจวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา นายอิทธิพล คุณปลื้มรมว.วัฒนธรรมได้เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการถาวรในอาคารพิพิธภัณฑ์สีดินเทศแห่งใหม่ที่นำเสนอเรื่องราวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์บ้านเก่าหรือ วัฒนธรรมฟิงนอย (ฟิงนอย เรียกมาจาก แควน้อย)ซึ่งเกิดขึ้นจาก ดร.เอช.อาร์.วอน เฮเกอเร็น(H.R.Van Heekerren) นักโบราณคดีชาวฮอลันดา ที่ถูกจับเป็นเชลยศึกและถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้พบเครื่องมือหินกะเทาะและขวานหินขัดจากหินกรวดที่นำมาใช้งานเมื่อสงครามสงบยุติลงจึงนำเครื่องมือหินที่พบนั้นกลับไปศึกษาวิเคราะห์ที่สหรัฐอเมริกาจนนำไปสู่การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีโดยนักโบราณคดีไทยและต่างประเทศในพื้นที่ตำบลบ้านเก่าขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙หลังจากนั้นใน พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๕ คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์จากโครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างไทย-เดนมาร์กจึงเกิดขึ้นโดยคณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก นี้มี ศ.ชิน อยู่ดีเป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายไทย และ นายเปีย เซอเรนเซนเป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายเดนมาร์ก ได้ร่วมกันสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่ตำบลบ้านเก่าตรงที่ดินของ นายลือ-นายบาง เหลืองแดงบริเวณริมแม่น้ำแควน้อย การขุดค้นในครั้งนั้นได้พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณมากกว่า ๕๐ โครง และพบโบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงว่าเมื่อประมาณ ๓๘๗๗-๓๕๙๗ ปีมาแล้ว บริเวณนี้มีมนุษย์ยุคหินใหม่อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมาหลายชั่วคน คนกลุ่มนี้รู้จักทำการเกษตร มีเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลายชนิด ซึ่งพบวัตถุที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา ภาชนะทรงพาน ภาชนะทรงคนโท เครื่องมือหินกระเทาะ ขวานหินขัด ลูกปัดโดยเฉพาะภาชนะสามขา นั้น ได้มีการทำลวดลายจากวิธีใช้เชือกทาบ นักวิชาการเรียกชื่อกลุ่มโบราณคดีที่พบในบริเวณนี้ว่า “วัฒนธรรมบ้านเก่า” (Ban-Khaoians) หรือ วัฒนธรรมฟิงนอย
คณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก
เมื่อทำการขุดค้นโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ฝังใต้ดินนั้นได้พบว่ามีวัตถุจำนวนมากที่ฝังอุทิศร่วมกับโครงกระดูก จึงเปิดโลกให้มีการศึกษาพิธีฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก ส่งผลให้มีการตื่นตัวในการเรียนรู้ จดบันทึกและสังเกตการฝังศพ จนมีการรายงานการพบหลุมฝังศพ หรือสุสานมากขึ้นทั่วทุกภาคในไทย จนต่อเนื่องไปถึงการหาค้นคำตอบประเด็น คนไทยมาจากไหน? การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าจึงกระตุ้นให้เกิดความพยายามในการศึกษาเรียนรู้เปรียบเทียบวัตถุที่พบจาก ตำบลบ้านเก่าหรือ วัฒนธรรมแฟงนอย กับวัตถุที่พบจาก วัฒนธรรมยางเชาและลุงชาน(Longshan culture- YangshaoCulture) ในประเทศจีน ซึ่งพบว่ามีความคล้ายคลึงกัน จนมีข้อสันนิษฐานว่าคนไทยได้อพยพมาจากจีน
ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ได้เข้ามาร่วมศึกษาโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่พบจากบ้านเก่า และเสนอว่า “คนไทยคือผู้ที่อยู่ในดินแดนไทยนี้มาก่อนและไม่ได้เคลื่อนย้ายมาจากภายนอกอย่างแน่นอน” ดังนั้น แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าจึงเป็นหลักฐานทางวิชาการสำคัญ สำหรับการเรียนรู้ว่าคนไทยอพยพมาจากจีน หรือคนไทยอยู่ในดินแดนนี้มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้เปิดการเรียนรู้ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางโบราณคดีในประเทศไทยอีกมากมาย เช่น การศึกษาเทคนิคกรรมวิธีการทำภาชนะดินเผา ตั้งแต่การเตรียมดินไปจนถึงวิธีการเผา วิธีทำลวดลาย วิธีเคลือบ แล้วยังศึกษาพืช และสัตว์โบราณที่ได้จากแหล่งขุดค้น นอกจากนี้ยังศึกษารูปแบบเครื่องมือที่พบมีเครื่องมือหิน เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับ เป็นต้น ดังนั้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่าจึงเป็นเหมือนคลังความรู้ด้านโบราณคดีที่เป็นรากฐานการศึกษาเรื่องราวมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ทั้งในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผ่านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แม้ว่าจะอยู่ไกลก็ต้องเดินทางไปเรียนรู้กันทั้งวันไม่เบื่อ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี