ในทุกๆ บ้านมักมียาติดบ้าน เช่น ยาที่ต้องใช้เป็นประจำเนื่องจากเพื่อรักษาโรคประจำตัว และโรคเรื้อรัง หรือยาที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเป็นครั้งคราว รวมถึงวิตามินต่างๆ ที่เรารับประทานเพื่อหวังให้ร่างกายแข็งแรง แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือการเก็บรักษายาให้คงไว้ซึ่งคุณภาพที่ดีตลอดเวลา ถ้าเราเก็บยาไม่ดี ยามีโอกาสเสื่อมสลาย ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดหายไป อีกทั้งสารเสื่อมสลายของยาอาจกลายเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ยกตัวอย่างเช่น สารเสื่อมสลายของยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย รวมถึงเกิดพิษต่อตับและไตได้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยาเสื่อมสลาย คืออุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม โดยทั่วไปอุณหภูมิสูงจะเป็นตัวเร่งการเสื่อมสลายของยา ทำให้ยาเสีย บางครั้งเมื่อยาเสื่อมสลายเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ยาที่จำหน่ายในประเทศไทยจึงต้องระบุอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บยาเช่น “เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส” หรือบางครั้งระบุเป็นภาษาอังกฤษว่า “store below 30° C” หมายถึงเราต้องเก็บยาที่อุณหภูมิห้องและต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส
ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในบางเดือนในบ้านเรา ทำให้การเก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียสนี้อาจเป็นไปได้ยาก ดังนั้น เราอาจต้องหาบริเวณในบ้านที่มีอุณหภูมิไม่ร้อนจนเกินไป แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ขอแนะนำว่าไม่ควรซื้อหรือตุนยาไว้ใช้เป็นเวลานาน เพราะยาอาจเสื่อมสภาพก่อนถึงวันหมดอายุตามที่ระบุไว้บนฉลาก แล้วยังพบอีกว่าบางคนนำยาไปไว้ในรถยนต์ เผื่อใช้เวลาฉุกเฉิน ขอบอกว่าอุณหภูมิในรถยนต์โดยเฉพาะรถที่จอดตากแดดจะมีความร้อนสูงมาก ซึ่งจะทำให้ยาเสื่อมสลายได้ง่าย เมื่อนำยาเสื่อมสภาพไปใช้จะไม่มีประสิทธิผล แถมยังเสื่อมสลาย และให้สารพิษต่อร่างกายด้วย
ในบางกรณี ยาจะถูกระบุให้เก็บไว้ในตู้เย็น โดยฉลากที่ระบุว่า “เก็บในตู้เย็นหรือที่มีอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส” หรือระบุเป็นภาษาอังกฤษว่า “Store in refrigerator at 2° C- 8° C” แสดงว่ายาเหล่านี้สามารถเสื่อมสลายได้เมื่อเราเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง จึงจำเป็นต้องเก็บยาไว้ในตู้เย็นเพื่อรักษาคุณภาพยา บริเวณที่ดีที่สุดสำหรับการเก็บยาเหล่านี้คือบริเวณกลางตู้เย็น ไม่ควรเก็บไว้ที่ประตูตู้เย็นซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบ่อยจากการเปิดตู้เย็น และไม่ควรเก็บยาในช่องแช่แข็ง เนื่องจากอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้
นอกจากนี้ หลายคนมีพฤติกรรมชอบเก็บยาทุกชนิดไว้ในตู้เย็น แม้ว่าที่ฉลากจะระบุไว้ให้เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียสก็ตาม ซึ่งยาบางตัวจะมีประสิทธิภาพในการรักษาลดลงเมื่อถูกนำไปไว้ในตู้เย็น เช่น ยาหยอดตาที่เป็นลักษณะของยาน้ำแขวนตะกอน ความเย็นที่มากเกินไปจะทำให้อนุภาคของผลยาที่แขวนลอยอยู่ มีขนาดที่เปลี่ยนไป เมื่อใช้ยาก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร
อีกปัจจัยที่สามารถทำให้ยาเสื่อมสลายได้คือแสง ยาบางชนิดเสื่อมสลายได้เมื่อโดนแสงแดด แต่ยาบางชนิดสามารถเสื่อมสลายได้แม้กระทั่งแสงในห้อง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยาหลายชนิดมีการบรรจุในภาชนะบรรจุที่ป้องกันแสง เช่น ในขวดสีชา แผงสีชา หรือเป็นภาชนะทึบแสงที่ช่วยป้องกันแสง ทางที่ดีที่สุด คือต้องเก็บยาให้พ้นแสง
ความชื้นในบรรยากาศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยาเสื่อมสลาย ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยจากภาพยนตร์ต่างประเทศพบว่าคนในหลายประเทศชอบเก็บยาไว้ในห้องน้ำซึ่งเป็นที่ที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่น แต่โชคดีที่พฤติกรรมการเก็บยาไว้ในห้องน้ำมักไม่พบกับคนไทย ทางที่ดี ขอแนะนำให้เก็บยาไว้ในบริเวณที่แห้ง เพื่อป้องกันยาเสื่อมสลายจากความชื้นก่อนถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลาก
อีกประเด็นหนึ่ง ในกรณีที่ท่านใช้ภาชนะเพื่อแบ่งบรรจุยาเพื่อสะดวกในการรับประทาน เนื่องจากในแต่ละมื้ออาจต้องรับประทานยาหลายชนิด หรือกระทั่งในกรณีที่ท่านต้องเตรียมยาให้กับผู้ป่วยที่อยู่บ้านเป็นมื้อๆ การเลือกใช้ภาชนะแบ่งบรรจุเหล่านั้นควรต้องเลือกให้เหมาะสม พลาสติกส่วนใหญ่ที่แบ่งเป็นช่องก่อนอาหาร หลังอาหาร หรือแบ่งเป็นตามวันในสัปดาห์ ไม่สามารถป้องกันแสง และความชื้นได้ ฉะนั้นถ้าจะแบ่งบรรจุยา หากได้รับยามาเป็นแผง จึงไม่ควรแกะเม็ดยาออกจากแผงก่อนถึงเวลารับประทาน แต่ใช้การตัดแบ่งโดยให้เม็ดยาที่ยังอยู่กับแผง เพื่อให้ยาถูกเก็บรักษาในสภาพที่ดีที่สุด แต่ในกรณีผู้ป่วยที่ได้รับยาเม็ดครั้งละจำนวนมากอยู่ในขวดท่านไม่ควรแบ่งบรรจุออกมาทีละหลายๆ มื้อ เนื่องจากจะทำให้ยาเสื่อมสลายได้ง่าย
ยาที่เราได้รับมาจะมีอายุยาตามที่ระบุไว้บนฉลาก เราต้องเก็บยาได้ถูกต้องตามที่ฉลากระบุ แต่ถ้าเก็บไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ในที่ที่ร้อนไป มีความชื้นสูง หรือยาโดนแสงเป็นเวลานาน อายุยาจะสั้นกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก แปลว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ยา ก็อาจไม่ได้ผลการรักษาที่ดีและอาจเกิดอันตรายต่อตับไตด้วย
ฉะนั้น เมื่อได้รับยามา นอกจากศึกษาขนาดและวิธีการใช้อย่างละเอียดแล้ว ยังจำเป็นต้องรู้จักวิธีเก็บรักษายาให้ถูกต้อง และขอย้ำว่า เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้หรือเก็บยา โปรดปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง
ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี