ปัญหาผมร่วง ผมบาง จนทำให้หนังศีรษะล้าน เป็นปัญหาที่พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ผลกระทบที่ตามมาคือ ทำให้เกิดการสูญเสียความมั่นใจ ส่งผลต่อบุคลิกภาพ ปัจจุบันโรคผมร่วง สามารถรักษาหายได้ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุลแพทย์ประจำศูนย์ผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือ Alopecia Areata เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่อายุเฉลี่ยที่มักพบคือประมาณ 30 ปีโดยมีอุบัติการณ์การเกิดเท่ากับ ١ ใน 1,000 คนหรือประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์
บริเวณที่ผมร่วง จะมีขอบเขตที่ชัดเจนอาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยมากมักเกิดที่บริเวณศีรษะ แต่ยังสามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่นๆ ในร่างกายที่มีขนได้ เช่น ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ หรือขนบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งโรคนี้อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้
ปัจจุยันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่อาจมีปัจจัยที่ทำให้เกิด เช่น การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย โดยเชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้นอกจากนี้อาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ประวัติภูมิแพ้ เครียด ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของตัวเอง จนทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์เม็ดสีบริเวณรากผม และส่งผลให้ผมร่วง อีกทั้งยังพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์บางชนิด โรคโลหิตจางบางชนิดผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย โดยอาการที่เล็บอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วง ซึ่งความผิดปกติของเล็บที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การพบหลุมเล็กๆ บนผิวของแผ่นเล็บ
ทั้งนี้ มักตรวจพบว่าผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม อาจมีภาวะผมหักเป็นตอติดหนังศีรษะ เนื่องจากเส้นผมที่ขึ้นใหม่มีความเปราะและผิดปกติ โดยจะเกิดขึ้นในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย แต่เมื่อโรคสงบแล้วเส้นผมหรือเส้นขนสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้
โรคผมร่วง เป็นหย่อมแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้ Alopecia areata (AA) ผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ คิ้ว หนวด หรือขนบริเวณลำตัว Alopecia totalis (AT) ผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นมาก จนผมร่วงทั่วศีรษะ หรือเกือบทั่วศีรษะ Alopecia universalis (AU) ผมร่วงกระจายทั่วศีรษะ ร่วมกับมีขนที่บริเวณลำตัวร่วงไปด้วย
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้ โดยการตรวจลักษณะของผมร่วง ผู้ป่วยบางรายที่มีลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน หรือ สงสัยภาวะอื่นร่วมด้วย แพทย์จะพิจารณาตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ผมจะงอกขึ้นมาใหม่ได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่ในผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันที่เป็นสาเหตุร่วม การรักษาโรคภูมิคุ้มกันนั้นจะช่วยให้อาการผมร่วงดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาต่างๆ เช่น การใช้สเตียรอยด์ โดยมากเป็นการใช้แบบฉีดและแบบทาที่บริเวณรอยโรคร่วมกัน โดยการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การใช้ยาทากระตุ้นภูมิคุ้มกันบริเวณรอยโรค และการใช้ยาทารักษาผมร่วง เช่น Minoxidil ซึ่งจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มักมีผลกระทบต่อจิตใจ เพราะเป็นเรื่องของความมั่นใจและความสวยงาม โดยเฉพาะโรคผมร่วงเป็นหย่อมชนิด Alopecia universalis ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด แต่ตอบสนองต่อการรักษาต่างๆ น้อยที่สุด จึงแนะนำว่าหากพบว่ามีผมร่วงผิดปกติ ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาที่อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับชนิดที่เป็น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี