รูปหล่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ที่ฉะเชิงเทรา
วันที่ ๕ กรกฎาคม วันอังคารที่จะถึงนี้เป็นวันชาตกาล ๒๐๐ ปี ของ “พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)” ครูผู้เป็นปราชญ์ภาษาไทยของแผ่นดิน ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)ได้มีมติประกาศยกย่อง เป็น บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ ๔๑ ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีแห่งชาตกาล ปีพ.ศ. ๒๕๖๕ (200th Anniversary of the birth of Phraya Srisundaravohara (Noi Acharyankura) ค.ศ.1822-1891 ดังนั้น การดำเนินการจัดงานเพื่อให้ความสำคัญถึงผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) นอกจากจะสร้างความตระหนักรู้และร่วมกันยกย่องเชิดชูบุคคล ด้านภาษาไทยร่วมกันแล้ว กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกันศึกษาข้อมูลและเนื้อหาประวัติ และแสดงผลงานสำคัญของท่าน
“พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ” ผู้นี้ท่านชื่อ น้อย เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๕ กรกฎาคมพ.ศ.๒๓๖๕ ที่บ้านคลองโสธร ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลำดับที่ ๑๔๕๗ ว่า “อาจารยางกูร” ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๔ รวมสิริอายุ ๖๙ ปี
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)
ท่านเป็นนักปราชญ์ทางภาษาไทยและปราชญ์ทางธรรมของแผ่นดิน ได้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็น “อาจารย์ใหญ่” คนแรกของโรงเรียนหลวง และครูสอนหนังสือไทย เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอีกหลายพระองค์ ท่านได้นิพนธ์วรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์กลอน ลิลิต ซึ่งมีอยู่มากมายหลายประเภท ได้แก่ ประเภทแบบเรียนภาษาไทย ประเภทสุภาษิต ประเภทวรรณคดี ประเภทคำประกาศพระราชพิธี ประเภทคำฉันท์ ประเภทลิลิต ประเภทหนังสือศาสนา ประเภทโคลงเบ็ดเตล็ด โคลงเฉลิมพระเกียรติเจ้านายแล้ว ผลงานเบ็ดเตล็ด รวม ๑๕ เรื่องแล้ว ยังมีผลงานนิพนธ์ด้านวรรณศิลป์และการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เช่น หนังสือคำนมัสการคุณานุคุณ และอื่นๆ อีก ที่ต้องศึกษาสืบค้นนำมารวมเป็นข้อมูลของชาติต่อไป โดยเฉพาะตำราเกี่ยวกับภาษาไทย ที่สำคัญนั้นคือ แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม ได้แก่ “มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกรอักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์” และหนังสือแบบเรียนภาษาไทย อื่นๆ อีก๑๒ เล่ม บทเสภาเรื่องอาบูหะซัน ตอนที่ ๗ และหนังสือ “คำฤษฎี” ท่านเป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เนื้อเพลงฉบับแรก เป็นต้น
ปราชญสยามสามแผ่นดิน
ผลงานด้านภาษาไทยของท่านนั้้นถือเป็นตำราภาษาไทยชั้นครูที่ไม่มีใครจะรู้ได้มากเท่าท่าน แม้จะมีการเปลี่ยนบทเรียนภาษาไทยใหม่ในภายหลัง ก็ล้วนนำมาจากหนังสือเรียน ๑๘ เล่มของท่านนี้ ด้วยความเป็นปราชญ์แห่งภาษาไทยชั้้นยอด ท่านจึงได้รับการยกย่องเป็น “ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย” คือ ท่านอธิบายหรือสรุปอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา นั้้นได้จัดนิทรรศการประวัติและผลงาน ในหัวข้อ “ปราชญ์ภาษาไทยของแผ่นดิน” ทุกวันพุธ-อาทิตย์ ณ หอเชิดชูเกียรติ พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา เดิมอาคารไม้สักทรงปั้นหยาสองชั้นหน้าต่างบานกระทุ้งนี้เป็นตำหนักของ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็น ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปราจีณบุรีและได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๒๐๐ ปี พระยาศรีสุนทรโวหาร ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยอาจารยางกูร) ด้วย จึงขอเชิญร่วมกันยินดีและติดตามผลงานบุคคลสำคัญของโลก ผู้เป็น “ปราชญ์สยามสามแผ่นดิน” ที่หาได้ยากยิ่งท่านนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี