รศ.ดร.อรฤทัย ภิญญาคง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่อการบำบัดมลพิษทางทะเล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากอุบัติการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อขนส่งน้ำมันใต้ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อต้นปี 2565 ได้สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างมหาศาล และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวด้วย แม้หน่วยงานต่างๆ จะพยายามขจัดคราบน้ำมันที่กระจายทั่วผิวน้ำทะเลและตามบริเวณชายฝั่ง แต่ก็ยังคงมีมลพิษที่ตกค้างหลงเหลืออยู่ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลในระยะยาว หนึ่งในแนวทางขจัดปัญหาสารมลพิษตกค้าง คือจุลินทรีย์กินน้ำมัน ศูนย์ฯจึงได้วิจัยและพัฒนา จุลินทรีย์กินน้ำมัน นวัตกรรมชีวภาพเพื่อขจัดคราบน้ำมันปนเปื้อนในทะเลขึ้น โดยมุ่งให้เกิดการผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนเพียงพอต่อการใช้งาน หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต
“จุลินทรีย์ที่เราใช้ คัดเลือกมาจากธรรมชาติ ซึ่งจะใช้ขั้นตอนเฉพาะทางในการคัดเลือก โดยจุลินทรีย์เหล่านี้จะมีแหล่งอาหารคือสารมลพิษต่างๆ ซึ่งสารมลพิษเหล่านี้อาจจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ แต่จุลินทรีย์พวกนี้มีเอนไซม์ที่สามารถย่อยสารมลพิษเหล่านั้น และนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยที่ไม่เป็นพิษกับตัวมันได้ รวมถึงจุลินทรีย์ที่ช่วยในการปกป้องจุลินทรีย์ด้วยกัน เช่น จุลินทรีย์ที่สร้างฟิล์มชีวภาพ (biofilm) หรือจุลินทรีย์ที่สร้างสารลดแรงตึงผิวชีวภาพ (bio-surfactant) เพื่อทำให้จุลินทรีย์สามารถเข้าถึงมลพิษได้ง่ายขึ้น”
หลังจากที่ได้จุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสารพิษ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าจุลินทรีย์กินน้ำมัน ขั้นตอนต่อไปก็คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความพร้อมสำหรับการใช้งาน โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ได้จากห้องปฏิบัติการมีอยู่3 รูปแบบหลักๆ คือ 1.ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์พร้อมใช้แบบสูตรน้ำ มีการนำจุลินทรีย์มาเตรียมในรูปแขวนลอย (suspension) ในสารที่คัดเลือก ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานยาวขึ้นและนำไปใช้ได้สะดวก เช่น นำไปใช้พ่นบำบัดทรายหรือดินที่มีการปนเปื้อนของสารมลพิษ 2.ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์อัดเม็ด เป็นการนำจุลินทรีย์ที่คัดแยกได้ไปผสมกับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและสารปกป้องเซลล์ สามารถนำไปบำบัดดินหรือทรายที่มีการปนเปื้อนได้ และหากสามารถเพิ่มรูพรุนในดินด้วยแล้ว จะมีส่วนช่วยให้การย่อยสลายมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย
และ 3.ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่ตรึงบนวัสดุดูดซับ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เหมาะสำหรับการบำบัดน้ำที่มีการปนเปื้อน ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ตรึงบนวัสดุซับน้ำมัน โดยวัสดุซับน้ำมันทำหน้าที่ดูดซับและกักเก็บน้ำมันที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ ทำให้จุลินทรีย์สามารถนำน้ำมันเหล่านั้นมากำจัดได้มีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีการขายกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ
แม้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการย่อยสลายอย่างสมบูรณ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน หากมีปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันจำนวนมาก จะไม่สามารถเริ่มด้วยวิธีการทางชีวภาพได้ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลานานและอาจไม่ทนต่อความเป็นพิษสูง แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถนำไปใช้เสริมกับวิธีการขจัดคราบน้ำมันปนเปื้อนอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
“หากผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อแก้ปัญหาและขจัดคราบน้ำมันปนเปื้อนในทะเลของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จะสามารถพัฒนาขึ้นไปสู่การผลิตและการใช้จริงในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น BCG Economy และใช้เทคโนโลยีที่สะอาดอย่างแท้จริง ซึ่งทางคณะผู้วิจัยก็พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ มาร่วมมือและพัฒนาต่อยอดในอนาคต”ดร.อรฤทัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี