ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฐานไบโอดีเซล
วิกฤตพลังงาน เป็นอีกหนึ่งวิกฤตการณ์สำคัญที่เป็นผลพวงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 6 และยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการคว่ำบาตรรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานหลักของโลก และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก รองจากสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย ส่งผลกระทบให้ทั่วโลกเกิดวิกฤตการขาดแคลนพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และลุกลามไปถึงระบบการขนส่ง การผลิตอาหาร การบริโภค เงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น
“ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 19” โดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด(มหาชน) และองค์กรภาคี ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำครูอาจารย์ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจลงพื้นที่ทำกิจกรรม ในวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2565 ณ โครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในโครงการที่ได้ถูกคัดเลือกอยู่ในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา โดยศูนย์คุณธรรมร่วมกับองค์กรภาคี จัดทำสรุป 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้การแก้วิกฤต ด้วยการ “นำปัญหามาแก้ปัญหา” และการถอดพระอัจฉริยภาพ “จอมปราชญ์แห่งพลังงาน” โดยมี นายธรรมนูญ์ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี เป็นประธาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยในเรื่องการศึกษาการนำน้ำมันปาล์มไปใช้แปรรูปเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และได้ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสาธิตสกัดน้ำมันปาล์มที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ.กระบี่ และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ต่อจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ประสานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันและพืชพลังงานทดแทนประกอบด้วย โครงการจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านไบโอดีเซลเพื่อการแข่งขัน โครงการวิจัยทดสอบการใช้น้ำมันปาล์มดิบและไบโอดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซล และโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นสถานที่สำหรับใช้ในการศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืชและไบโอดีเซลจากการปฏิบัติจริง เพื่อเป็นตัวอย่างการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตพลังงานทดแทนการสกัดน้ำมันพืชแก่ชุมชน และเพื่อทดลองการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่แห้งแล้ง
ธรรมนูญ์ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าฯ จ.เพชรบุรี
โครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จ.เพชรบุรี มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การผลิตไบโอดีเซล และการนำวัตถุดิบที่ได้จากการผลิตไบโอดีเซล คือ กลีเซอรีนและน้ำมันปาล์มนำมาผลิตสบู่และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เช่น น้ำยาล้างจาน สเปรยไล่ยุง น้ำมันหอมระเหย การเลี้ยงปลา(ด้วยอาหารที่มีกากปาล์มผสม) เลี้ยงหมูป่า เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่เพื่อกินกากปาล์มซึ่งได้จากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ การกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรที่โครงการมีการปลูกพืชเพื่อสกัดน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ตะไคร้หอมตะไคร้บ้าน มะกรูด โปร่งฟา ขมิ้น กะเพราป่าเป็นต้น โดยทั้งหมดนี้เป็นการนำวัตถุดิบมาผลิตและหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์โดยไม่เกิดของเสียเหลือทิ้ง ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการเกิดคาร์บอนในอากาศ จากการใช้วัตถุชีวภาพ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ตามหลัก BCG โมเดล ซึ่ง ครูอาจารย์และผู้ที่สนใจจะได้เรียนรู้และลงมือทำกิจกรรมในโครงการทุกขั้นตอน
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัยจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กิจกรรมทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เราจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 19 มีผู้เข้าร่วมโครงการ รวมจำนวน 2,279 คน ทุกกิจกรรมในโครงการตามรอยพระราชาเราคาดหวังให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ในพระราชปณิธานและพระมหากรุณาธิคุณแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณีกิจนานัปการเพื่อให้ราษฎรของพระองค์มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก การมาลงพื้นที่ทำกิจกรรมโครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร ในครั้งนี้ เราได้เรียนรู้ทั้งการนำทรัพยากรจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การดูแลสิ่งแวดล้อมการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า รวมถึงแนวทางการสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งทิพยประกันภัยใส่ใจสังคม กับโครงการ ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด พร้อมร่วมส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กับสังคม คาดหวังว่าครูอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้และนำไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาตนเองและประเทศชาติต่อไป
(ซ้าย) อ.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล, รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
ด้าน ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉายประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเสริมว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเรื่องที่พระองค์ได้ทรงสอนให้คนไทยได้เข้าใจและนำมาใช้เพื่อการดำรงชีวิตมาเป็นเวลาช้านาน เป็นหลักการใช้ชีวิตที่ไม่มีวันล้าสมัย โครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของพระองค์ท่านในเรื่องของการสร้างเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับ BCG Model นั่นคือ Bio – Circular- Green Economy ซึ่งเน้นในเรื่องของการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว เกิดนวัตกรรมการผลิตเป็นห่วงโซ่จากวัตถุดิบตั้งต้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถสร้างงานและก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน UNSDGs 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถอยู่รอดภายใต้ภาวะวิกฤตที่ทุกประเทศต่างประสบปัญหาอยู่ขณะนี้”
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า บทบาทของศูนย์คุณธรรม คือการส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่สังคมคุณธรรม และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนให้ได้เข้าใจถึงคุณธรรม 5 ประการ คือพอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญูการที่ครูอาจารย์ได้มาร่วมทำกิจกรรมนับว่าเป็นประสบการณ์การเรียนรู้คุณธรรมได้ครบทุกมิติ ขยายผลส่งต่อให้เกิดต้นทุนชีวิตหรือทุนชีวิตที่มั่นคง เป็นพลังบวกที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปอย่างยั่งยืน
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ร่วมกิจกรรม
นอกจากกิจกรรมลงพื้นที่แล้ว อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรมถอดบทเรียนตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ (Board Game) 3 แบบได้แก่ “Game of Our Nation” “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป
ทั้งนี้ โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINEOfficial: @dfoundation
วิชชุดา ไตรธรรม มอบของที่ระลึกให้นักเรียน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี