แรงบันดาลใจในการเขียน เริ่มมาจากการแปลงานของลูกชาย ซึ่งเขาเขียนนิยายภาษาอังกฤษขายในสหรัฐฯ จนโด่งดัง แต่คนไทยอาจไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน ก็เลยนำเรื่องของลูกชายมาแปลเป็นภาษาไทย
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัยชวนคุณไปสนทนากับ คุณถ่ายเถา สุจริตกุลนักเขียนนวนิยายนามอุโฆษคนหนึ่งของสังคมไทยผู้ยืนยันว่าการเขียนนวนิยายต้องไม่ละเลยต่อคุณธรรมและศีลธรรม
l คุณอาเริ่มเขียนหนังสือที่ตีพิมพ์จำหน่ายมานานกี่สิบปีแล้วครับ
คุณถ่ายเถา ประมาณ 40 ปีกว่าแล้วค่ะเริ่มจากนำงานเขียนของลูกชาย (คุณสมเถา สุจริตกุล) ที่แต่งนวนิยายภาษาอังกฤษไว้มากมายหลายสิบเรื่อง ซึ่งผลงานของเขาได้รับการยอมรับมากในสหรัฐอเมริกา และยุโรป เบื้องต้นก็ต้องการบอกกับคนไทยว่า เรายังมีคนไทยที่มีฝีมือการแต่งนวนิยายเป็นภาษาอังกฤษแล้วจำหน่ายในต่างประเทศ อยากบอกว่าคนไทยมีฝีมือการเขียนที่สากลยอมรับ สมเถาใช้นามปากกาว่า S. P. Somtow เรื่องแรกที่นำมาแปลเป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งของอาเองก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เลย แต่เมื่อเห็นชื่อหนังสือและได้อ่านแล้วเห็นว่าน่าสนใจ ก็จึงแปล โดยเลือกจากเรื่องที่สมเถาเขียนสั้นที่สุด ชื่อเรื่อง Absent Thee From Falicity Awhile ซึ่งเป็นวลีเด็ดของ William Shakespeare นักประพันธ์นามอุโฆษของโลก เนื้อหาในหนังสือของสมเถาประมาณว่าเป็นเรื่องที่มนุษยโลกเข้าไปเกี่ยวโยงกับมนุษย์ต่างดาว คือมีมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลกของเรา อ่านแรกๆ ก็สนุกดี แต่เมื่อแปลไปก็เริ่มพบว่ายาก แต่เมื่อตั้งใจแล้วก็ต้องทำให้สำเร็จนี่คืองานแปลเล่มแรกของอานะคะ บอกตรงว่าเกือบแย่เหมือนกัน ใช้เวลานานกว่าที่คิด
l ตอนแปลเล่มนี้ คุณอายังเป็นมาดามท่านทูต (ท่านเอกอัครราชทูตสมปอง สุจริตกุล) งานในช่วงนั้นก็น่าจะมากมาย คุณอาแบ่งเวลาแปลหนังสืออย่างไรครับ
คุณถ่ายเถา ปกติเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เมื่ออ่านแล้วชอบก็จึงหาเวลาว่างแปลค่ะ ประกอบกับต้องการบอกให้สังคมไทยรู้ว่ามีหนังสือภาษาอังกฤษที่เขียนโดยคนไทย และเป็นที่นิยมในต่างประเทศก็จึงมุทำงานนี้ให้สำเร็จ ที่น่าดีใจคือแปลแล้วได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารด้วย
l คุณอาเป็นนักแปลหนังสือคนหนึ่งของสังคมไทยที่ได้รางวัลนราธิป และรางวัลสุรินทราชา ทั้งสองรางวัลนี้ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของนักแปลและนักเขียนอาวุโสของไทยเลยนะครับ
คุณถ่ายเถา นับเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝันมาก่อนค่ะอาถือว่าเป็นรางวัลที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ทราบมาก่อนว่าผู้เสนอชื่อเพื่อเข้ารับรางวัลนี้ แล้ววันหนึ่งก็มีโทรศัพท์ไปหาอา แล้วแจ้งว่าได้รับเลือกให้รับรางวัลนราธิปซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักเขียนและนักแปลอาวุโสผู้มีผลงานต่อเนื่องและยาวนาน ผลงานเป็นที่ยอมรับของสังคม อาถือว่าเป็นเกียรติมากสำหรับส่วนอาแล้วปีต่อมาหรือในปีเดียวกันแต่เป็นช่วงปลายปี ก็ได้รับรางวัลสุรินทราชา ซึ่งอาถือว่าลอยลงมาจากฟ้าอีกเช่นกัน เพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อน รางวัลสุรินทราชาเป็นรางวัลสำหรับนักแปลดีเด่น เข้าใจว่าได้รับรางวัลนี้เพราะแปลนวนิยามของสมเถา ชื่อ Jasmine Night ใช้ภาษาไทยว่า มาริษาราตรี เรื่องนี้ก็เช่นกัน แปลแรกๆ ก็คิดว่าไม่ยาก แต่ทำไปทำมาเจอหมูเขี้ยวตันเพราะมันไม่ง่ายเหมือนที่คิด เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของเด็กไทยที่เติบโตในต่างแดน และชีวิตพบกับความสับสนมากมาย เนื้อเรื่องสะท้อนว่าเป็นเด็กแก่แดด แต่การเดินเรื่องมีความลึกซึ้ง สะท้อนปัญหาต่างๆ ที่พบเจอในชีวิตมากมาย แล้วสุดท้ายก็รู้ว่าเรื่องนี้สมเถาแต่งทำนองอัตชีวประวัติของตัวเองที่ต้องประสบพบเจอเรื่องราวต่างๆ มากมายในวัยเด็ก เมื่อแปลเสร็จแล้วสมเถามาอ่านพร้อมๆ กับเพื่อนคนหนึ่งของสมเถาเป็นคนอเมริกันเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่อ่านเขียนพูดภาษาไทยได้ดีมาก เขาอ่านแล้วก็หัวเราะชอบใจ แต่อาบอกกับสมเถาว่า โอย! แปลยากกว่าที่คิดไว้มากเลย สมเถาหัวเราะอีกแล้วบอกว่า แม่แปลเรื่องนี้จบได้ แม่ก็แปลเรื่องไหนๆ บนโลกนี้ได้ (หัวเราะ) เรื่องแปลนี้ได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งเลย จากนั้นก็แปลงานของลูกชายโดยเฉพาะเรื่องสยองขวัญที่สมเถาเขียนไว้หลายเรื่อง และเป็นเรื่องที่โด่งดังในสหรัฐฯ เหตุที่แปลเรื่องสยองขวัญ จำพวกฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) เพราะอยากรู้ว่าจุดจบของเรื่อง ผู้ที่ก่อเหตุไว้จะได้รับโทษอย่างไร และสนใจว่าอะไรเป็นมูลเหตุให้คนคนหนึ่งต้องเป็นฆาตกรที่ฆ่าคนแบบต่อเนื่อง เขามีภูมิหลังอะไร เขามีปมอะไรในชีวิต เมื่อแปลเรื่องของคนอื่นๆ มานานพอสมควร ก็เริ่มถามตัวเองว่า เอ๊ะ! เราจะมีปัญญาเขียนเรื่องด้วยตัวเองไหมนะเราลองเป็นนักเขียนเองดีไหม ก็เริ่มต้นเขียนเรื่องของตัวเอง หลังจากอ่านเรื่องสั้นของจีนเรื่องหนึ่งชื่อ Raise the Red Lantern ซึ่งมาจากงานเขียนเรื่อง Wives and Concubines ของ Su Tong เนื้อหาจากหนังสือเดิมเป็นเรื่องของคนจีนทั้งหมด แต่อานำมาดัดแปลงให้เป็นเรื่องราวของครอบครัวเศรษฐีจีนในดินแดนประเทศไทย เป็นเรื่องราวที่เกิดแถวๆ ริมคลองภาษีเจริญ และนี่ก็คือเรื่องที่ใช้ชื่อว่า มงกุฎดอกส้ม เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าใจผิดคิดว่าความสุขกับความสบายเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แท้จริงมันคนละเรื่องกัน คนคนหนึ่งเข้าใจว่าการกินน้ำใต้ศอกไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่สุดท้ายมันมีผลอย่างมากต่อชีวิตของเขา อาเขียนเรื่องนี้ลงนิตยสาร เขียนไปได้ประมาณ 3 ตอน ก็ได้รับการติดต่อจากผู้สร้างละครโทรทัศน์ว่าต้องการนำไปทำละครโทรทัศน์ อาบอกไปว่า ใจเย็นก่อนดีไหม เรื่องยังเพิ่งเขียนไปได้แค่นิดเดียว คุณอาจจะไม่ชอบตอนจบของเรื่องก็ได้ แต่สุดท้ายก็นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ แล้วได้รับความนิยมมากในยุคนั้น อาบอกกับสาธารณชนว่า เนื้อเรื่องที่อาอ่านมาจากนวนิยายเดิมกับเรื่องที่อาแต่งขึ้นมีความต่างกันมาก แต่ก็ย้ำเสมอว่าได้เค้าโครงเรื่องมาจาก นวนิยายของจีน และเขียนจดหมายไปบอกเจ้าของเรื่อง เพื่อสอบถามเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่ประการใดเพราะอาไม่ต้องการให้ใครวิจารณ์ว่าลอกเลียนงานของผู้อื่นมา จึงอยากทำให้โปร่งใส แต่ไม่มีการติดต่อกลับ ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่าเคารพบทเจ้าของบทประพันธ์เดิม และไม่คิดขโมยงานของใครมาเป็นของตัวเอง หลังจากเขียนเรื่องนี้จบเรียบร้อย ก็ถามตัวเองอีกว่า เอ๊ะ! เรามีปัญญาแค่เพียงนี้เองหรือ เราไม่มีปัญญาแต่งเรื่องด้วยตัวเองบ้างหรือ เมื่อคิดแล้วก็เลยลงมือเขียนเรื่องดอกส้มสีทอง ซึ่งก็ได้รับความนิยมมาก อาจจะเรียกได้ว่ามากกว่ามงกุฎดอกส้มด้วยซ้ำไป เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงที่เกิดในบ้านของเจ้าสัวใหญ่ แล้วก็เดินเรื่องไปเรื่อยๆ จนเป็นชุดดอกส้มต่อๆ ไป เมื่อถูกนำไปเป็นบทละครโทรทัศน์ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน ผู้จัดทำละครโทรทัศน์ขอให้อาเขียนเรื่องต่อๆ ไปอีก อาบอกไปว่า ขอพักสักครู่ก่อนนะ เพราะไม่ต้องการเร่งเขียนทำนองโหนกระแส เพราะอาเห็นว่าความนิยมในละครโทรทัศน์และหนังสือมันได้ขึ้นมาถึงจุดสูงสุดแล้ว หากโหนกระแสต่อไปอาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้ ก็ขอพักไว้ก่อน คืออาไม่ต้องการโหนกระแส เพราะบอกกับตัวเองตลอดเวลาว่า เขียนนวนิยายเพราะต้องการเขียน ไม่ได้เขียนเพื่อต้องการเงิน แล้วที่สำคัญคือเขียนโดยใช้ชื่อจริง จึงต้องคิดมากในหลายๆ มุม และเห็นว่าการโหนกระแสไม่ช่วยให้ได้ผลดี เพราะสุดท้ายก็จะถึงจุดที่เส้นกราฟต้องปักหัวลงในวันใดวันหนึ่งหลังจากนั้นอีกระยะหนึ่งก็เขียนอีกเรื่องหนึ่งชื่อ ตุ๊กตาในป่าหนาว เรื่องนี้ก็สนุก เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชีวิตหักเหแบบเปลี่ยนมุมมากแบบสุดๆ
l คุณอาได้ข้อสังเกตอะไรบ้างจากการแปลงานของคุณสมเถาครับ
คุณถ่ายเถา อาไม่เคยเรียนการแปล และไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักเขียน แม้จะเคยเขียนหนังสือแบบสนุกๆ มาบ้างสมัยเป็นนักเรียนที่วัฒนาวิทยาลัยอาบอกตัวเองว่าเขียนเมื่อต้องการเขียน เขียนเรื่องที่อยากเขียน สิ่งที่จุดประกายจริงๆ อาจมาจากการที่คุณครูคัดเรื่องของเราไปลงตีพิมพ์ในหนังสือของวัฒนาวิทยาลัย อาเข้าใจว่าคุณครูอาจไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่อาเขียนเพราะสมัยก่อนนั้น อาก็เป็นที่น่าระอาของคุณครูมากเพราะสารพัดจะซน นามปากกาที่อาใช้คือ มะดันดองจนเมื่อมาแปลงานของสมเถาก็คุยกันว่า เวลาแม่เขียนหนังสือ ต้องใช้แบบการเริ่มจากจุดจบของเรื่องแล้วลากกลับไปที่ต้นเรื่อง แบบเดินทางย้อนกลับ และสมเถาก็บอกว่า เวลาเขียนเรื่องลงนิตยสารเป็นตอนๆ ต้องทิ้งท้ายแต่ละตอนอย่างไรเพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านติดตาม
l จุดเด่นอย่างหนึ่งในงานเขียนของคุณอาบทที่ต้องปะทะกันด้วยวาจา คุณอามีหลักในการเขียนบทที่ต้องใช้คำพูดแรงๆ อย่างไรครับ เพราะคำพูดที่ใช้แรงก็จริงแต่ไม่หยาบถ่อยสถุล
คุณถ่ายเถา อันแรกคือเราต้องเลี่ยงคำหยาบคายที่ต่ำทรามมากๆ แล้วเราก็ต้องเข้าใจบริบทของการใช้วาจาในขณะที่กำลังเกิดอารมณ์ที่ต้วละครต้องแสดงออก คือต้องเข้าให้ถึงอารมณ์ของตัวละครให้ได้ ว่าโกรธแบบนี้ ต้องแสดงอาการแบบไหน ใช้คำพูดแบบไหน แต่ก็ต้องบอกตัวเองเสมอว่าต้องไม่หยาบคายจนเกินไป อย่างเช่นตอนทำละครเพลงเรื่องเรยา อาเขียนบทเอง วันหนึ่งคุณครูหม่อมดุษฎี บริพัตร ไปชมด้วย คุณครูหม่อมดุษฎีสอนหนังสืออาสมัยที่อาเรียนที่มาแตร์เดอีวิทยาลัย หลังจากจบจากวัฒนาวิทยาลัย อาจำคุณครูได้ดีมาก เพราะท่านเป็นคนทันสมัยมากในยุคนั้น ในช่วงละครกำลังเปิดการแสดง วันหนึ่งสมเถาก็มาบอกกับอาว่า แม่ สุขุมพันธุ์ (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) บอกว่าแม่ของเขาซึ่งเป็นครูของแม่จะมาดูละครเรยา แล้วอาก็ได้พบคุณครูเมื่อละครจบการแสดง อาเดินไปกราบคุณครูแล้วเรียนว่า ขออภัยนะคะ หนูใช้ภาษาในบทละครแรงมาก เพราะมันมีฉากที่ด่ากัน คุณครูบอกว่า คนที่ด่าโดยไม่ใช้คำหยาบคายแบบต่ำมากๆ คือคนที่มีศิลปะ สำหรับงานแปลของอานั้น เช่นอาแปลบทโอเปรา ในช่วงที่ต้องใช้คำแรงๆเช่น สัตว์นรก อาก็ใช้มาแล้ว แต่ใช้ในบริบทที่จำเป็นต้องใช้คำนั้นจริงๆ เพราะเป็นการแสดงออกให้เห็นว่ามันเลวร้ายจริงๆ เราต้องสวมวิญญาณให้สมบทบาทโดยไม่ใช่ใช้คำที่เกินเหตุ อีกเรื่องหนึ่งที่อาให้ความสำคัญมากคือ การแปลเรื่องของคนอื่น เราต้องเคารพเนื้อหาของเรื่องให้มากที่สุด เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เราเขียน เราต้องเคารพต้นฉบับ ไม่ใช่แปลแล้วเปลี่ยนงานของคนอื่น ไม่เอาตัวเองเข้าไปแทรก ไม่มีอคติไม่ลำเอียง ต้องรักษาต้นฉบับไว้ให้ได้ อาไม่เคยลืมว่างานแปล ไม่ใช่งานของเธอนะ เธอเอามาดัดแปลงหรือเธอใส่อารมณ์หรือความคิดของเธอเข้าไปไม่ได้ หากทำก็เท่ากับเธอขโมยของเขาแล้วอาไม่ทำเด็ดขาด
l ตอนที่คุณอาเขียนนวนิยายแล้วมีผู้นำไปทำบทละคร แต่ปรากฏว่าบทนวนิยายถูกเปลี่ยนไปจากแทบหาเค้าโครงเดิมไม่เจอ คุณอาทำอย่างไรครับ
คุณถ่ายเถา เรื่องแบบนี้รู้สึกว่าเป็นปัญหาทั่วไปของนักเขียนนวนิยายนะคะ เวลาเขาเอานวนิยายของเราไปแล้วไปเปลี่ยนไปแปลงจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม แบบนี้เขาบอกว่าต้องทำใจ แต่อาก็ทำใจยากอยู่นะ สำหรับอานั้น เวลาเขียนนวนิยายเรื่องหนึ่งอาศึกษาเยอะมาก เช่น บทเรยาที่ก่อนจะตาย เพราะถูกแฟนหนุ่มแอบเอายาพิษใส่ในอาหารให้กินทีละน้อย แต่ให้กินมานาน อาศึกษาเรื่องนี้เยอะมาก ไปสอบถามคุณหมอที่มีความรู้เรื่องยาพิษที่ออกฤทธิ์กับคน แล้วศึกษาว่ายาตัวนั้นคืออะไร ใช้มากน้อยแค่ไหน มีฤทธิ์ต่อร่างกายในแต่ละช่วงอย่างไร แล้วเมื่อถึงช่วงที่ยาสะสมแล้วออกฤทธิ์ก่อนที่จะทำให้ตาย จะตายด้วยอาการแบบไหน เพราะฉะนั้นการตายแบบนี้จะต่างจากการตายที่ถูกยิงด้วยปืน เพราะมันมีความเป็นมาเป็นไปต่างกัน และอาการก่อนจะตายก็ต่างกันมาก เรื่องแบบนี้ทำให้อาผิดหวังมากที่บทนวนิยายถูกแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิม และที่สำคัญอีกเรื่องคืออาใส่ใจกับเรื่องศีลธรรม จรรยาบรรณของคน ตัวละครของอาจะไม่ประพฤติตัวเลวทรามจนเกินเหตุ แน่นอนว่าคนเรามีดีมีเลวผสมกัน ไม่มีใครดีอย่างเดียว หรือเลวอย่างเดียว มันมีส่วนผสมกัน เพราะฉะนั้นตัวละครของอาจึงไม่สามารถจะเป็นคนที่เลวจนหาความดีไม่เจอ เขาอาจจะต้องเลวเพราะมีข้ออ้างบางเรื่อง ไม่ใช่ว่าเลวมาโดยกำเนิด หาความดีไม่ได้เลยแม้แต่น้อย นี่คือข้อเท็จจริงของมนุษย์
l ก่อนจะลากันในวันนี้ ทราบว่าคุณอากำลังจะพิมพ์หนังสือชื่อ โลกของเรยา (หมา) คาดว่าจะวางตลาดเร็วๆ นี้ คุณอากรุณาเล่าให้ฟังด้วยครับ น้องหมาเรยาก็คือสุนัขตัวนี้ใช่ไหมครับ
คุณถ่ายเถา (หัวเราะ) เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุนัขที่แต่ละคนต่างก็มี แต่เรยาในที่นี้คือสุนัขของอาเอง ตัวแรกตายไปแล้ว นี่เป็นตัวที่สอง อาเขียนเรื่องลงในเฟซบุ๊คมาระยะหนึ่ง แล้วมีผู้เรียกร้องว่าขอให้รวมเล่ม มีทั้งหมด 15 บท เป็นเรื่องน่ารัก น่าขัน น่าเอ็นดูของสุนัขในมุมต่างๆ สุนัขบางตัวก็เป็นของเพื่อนๆ หรือคนรู้จักมักคุ้นกัน เป็นเรื่องเล่าถึงความตลกขบขันน่ารักบางทีก็น่าปวดประสาทอันเกิดจากสุนัขของคนที่เรารู้จัก อ่านแล้วรับรองอารมณ์ดี และจะมีความเอ็นดูต่อเหล่าสุนัขมากขึ้น อาเห็นว่าคุณเหน่ง (เฉลิมชัย ยอดมาลัย) เป็นคนในกลุ่มรักหมารักแมวและรักสัตว์ต่างๆ ก็เลยชวนมาช่วยกันทำหนังสือเล่มนี้ ท่านใดสนใจจะซื้อหาหนังสือไปเป็นของขวัญของฝากวันปีใหม่ก็กรุณาจองได้นะคะ จองกับคุณเหน่งก็ได้ หรือจองที่เฟซบุ๊คถ่ายเถา สุจริตกุล อันนี้เป็นเรื่องแรกที่ทดลองดูแรกเริ่มสัก 2 ปีแล้วก็เริ่มเขียนเป็นตอนสั้นๆ ลงในเฟซบุ๊คทุกวันอาทิตย์ เรื่องนี้ก็เรียกว่า โลกของเรยา(หมา) ก็เป็นเรยาเล่าชีวิตมายังไงก็เป็นตอนๆ แล้วนอกจากเรยาก็มีหมาของเพื่อนฝูงที่มันมีพฤติกรรมที่มันตลกๆ อะไรอย่างนี้ ทั้งหมดก็มีประมาณ 15 บท รายได้จากการจำหน่ายหนังสือส่วนหนึ่งมอบให้กับโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์ต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหิดล เกษตรศาสตร์ และมูลนิธิด้านการช่วยเหลือสัตว์ตกทุกข์ได้ยากต่างๆ ขอเชิญชวนซื้อหาหนังสือ โลกของเรยา (หมา) นะคะ
คุณจะได้พบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตี ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี