โรคลำไส้แปรปรวน หรือ Irritable bowel syndrome เป็นกลุ่มโรคการทำงานของทางเดินอาหารผิดปกติ ซึ่งพบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ โดยประมาณพบมากถึงร้อยละ 11.2 ในประชากรทั่วโลก พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โรคลำไส้แปรปรวนนั้น แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตและไม่พบว่าทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง แต่ก็เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ การทำงาน และสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่เรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุและกลไกของการเกิดโรคได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องและพยาธิกำเนิดค่อนข้างซับซ้อน โดยเชื่อว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสมองและลำไส้ (brain gut axis) และพบว่า ภาวะเครียด ความวิตกกังวล การดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้อาการของโรคลำไส้แปรปรวนแย่ลงได้ทั้งสิ้น
โรคลำไส้แปรปรวนนั้นแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ตามอาการเด่นของผู้ป่วย อันได้แก่ โรคลำไส้แปรปรวนชนิดท้องผูกเด่น โรคลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสียเด่น โรคลำไส้แปรปรวนชนิดผสมท้องผูกและท้องเสีย และโรคลำไส้แปรปรวนที่ไม่สามารถจัดประเภทได้ชัดเจน จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนมีอาการได้หลากหลายและไม่จำเพาะเจาะจง จึงได้มีการพัฒนาเกณฑ์การวินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวนตาม ROME IV กล่าวคือ จะต้องมีอาการปวดท้องเรื้อรังอย่างน้อย3 เดือน โดยมีอาการปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งอาการปวดท้องนั้นต้องสัมพันธ์กับ 2 ใน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1) การขับถ่าย 2) การเปลี่ยนแปลงของลักษณะอุจจาระ 3) การเปลี่ยนแปลงของความถี่ในการอุจจาระ โดยอาการดังกล่าวต้องเป็นมานานอย่างน้อย 6 เดือนก่อนได้รับการวินิจฉัย
การรักษาโรคลำไส้แปรปรวนนั้น สิ่งสำคัญ คือแพทย์จะต้องให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจในตัวโรคและธรรมชาติของโรค เพื่อให้ผู้ป่วยช่วยสังเกตและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นและไม่เกิดความวิตกกังวลมากจนเกินไป โดยการรักษาหลักแบ่งออกเป็น 1) การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น หลีกเลี่ยงภาวะและอาหารบางชนิดซึ่งอาจกระตุ้นอาการของโรค โดยอาหารชนิดที่มีการศึกษาชัดเจนว่าสัมพันธ์กับโรคลำไส้แปรปรวนคืออาหารประเภท FODMAP (Fermentable Oligosaccharides Disaccharides Monosaccharides and Polyols) ซึ่งทำให้เกิดการสร้างก๊าซในลำไส้ที่มากขึ้นจากคาร์โบไฮเดรตที่ไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้หมด ทำให้เกิดการกระตุ้นอาการของโรคลำไส้แปรปรวนตามมา ผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนส่วนหนึ่งสามารถตอบสนองต่อการรักษาโดยการหลีกเลี่ยงอาหารประเภท FODMAP ได้เป็นอย่างดีและไม่ต้องใช้ยาควบคู่เลย อย่างไรก็ดีการหลีกเลี่ยงอาหารประเภท FODMAP ทั้งหมดเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร จึงแนะนำให้ประเมินการตอบสนองเป็นระยะและปรับอาหารให้เหมาะสม 2) การรักษาโดยการใช้ยา โดยแพทย์จะเลือกจ่ายยาตามอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ เช่น หากมีอาการท้องผูกเด่นก็จะแนะนำให้ทานไฟเบอร์ และยาที่ช่วยในการขับถ่าย หากท้องเสียเด่นก็จะพิจารณาให้ยาหยุดถ่าย หากปวดบิดท้องเด่นก็จะพิจารณาให้ยาลดการบีบตัวของลำไส้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากอาการของโรคลำไส้แปรปรวนเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง ก่อนที่แพทย์จะให้การวินิจฉัยและรักษาโรคลำไส้แปรปรวน แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคอื่นซึ่งร้ายแรงกว่า เช่น โรคมะเร็ง โรคลำไส้อักเสบ โรคลำไส้ติดเชื้อออกไปก่อน ซึ่งแพทย์จะสามารถแยกโรคเหล่านี้โดยหาอาการเตือน เช่น อายุที่มากกว่า 50 ปี(มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้มากขึ้น)มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ในครอบครัว น้ำหนักลดมีการเปลี่ยนแปลงของขนาดลำอุจจาระ มีถ่ายเหลวสลับกับท้องผูก มีภาวะซีด มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น หากมีอาการเตือน แพทย์ก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารเพื่อสืบหาสาเหตุต่อไป ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเรื้อรังโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเตือน จึงควรที่จะพบแพทย์ และได้รับการตรวจอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะวินิจฉัยและรักษาโรคลำไส้แปรปรวนต่อไป
แพทย์หญิงณัฐธิดา ศรีบัวทอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี