ในเดือนของแม่ เดือนแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ แน่นอนว่า “ลูกๆ” ต่างมองหาสิ่งดีๆเพื่อแสดงความรักตอบแทนพระคุณผู้หญิงที่รักและคอยดูแลใส่ใจพวกเรามาแต่เกิด หนึ่งในสื่อรักแทนใจก็คือเรื่องของอาหารการกิน เพราะเมื่อคุณแม่สูงวัยขึ้น ร่างกายอาจไม่แข็งแรงกระฉับกระเฉงเหมือนก่อน ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ รวมถึงระบบย่อยอาหารก็มักจะเสื่อมถอยด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้มีโอกาสเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย และอาจเกิดภาวะขาดสารอาหารหลายๆ ชนิดได้ ลูกๆ จึงต้องดูแลเป็นพิเศษ
ข้อมูลจาก อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพ (สหรัฐอเมริกา) และ กรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพเปิดเผยว่า เพราะชีวิตช่วงสูงวัยนี้มีกิจกรรมต่างๆ ลดลง ร่างกายจึงใช้พลังงานน้อยลง จึงควรใส่ใจให้ท่านรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบหมวดหมู่ ย่อยง่าย และควรเพิ่มอาหารที่มีแคลเซียมสูง อาทิ ปลาเล็กปลาน้อยที่ทานได้ทั้งตัว กุ้งแห้ง นมพร่องไขมัน ส่วนอาหารโปรตีนควรเป็นชนิดที่มีไขมันน้อย หลีกเลี่ยง เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป เครื่องในสัตว์ของทอด น้ำตาลและเกลือในปริมาณมาก นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือผัก ผลไม้หลากหลายชนิดและสีสันต่างๆ ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ที่มีให้ประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงมีสารพฤกษเคมีซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซี อี เบต้าแคโรทีน ฯลฯ ที่มีส่วนช่วยยับยั้ง หรือชะลอความเสื่อมของร่างกาย อีกทั้งยังมีใยอาหารที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานปกติ ท้องไม่ผูก ที่สำคัญควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเพราะน้ำช่วยนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และช่วยควบคุมระบบการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ
เติมอาหารเสริมสร้างสุขภาพ
เมื่ออาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อร่างกาย เราจึงอยากชวนลูกๆ มาเสริมสร้างความสตรองให้กับสุขภาพของคุณแม่ ส่วนจะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย...
กินโปรตีนให้เพียงพอทุกวัน โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุซึ่งจะใช้ในการสร้างและคงสภาพของมวลกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ผิวหนัง กระดูกและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายล้วนประกอบไปด้วยโปรตีน สำหรับหน้าที่สำคัญของโปรตีนคือ ซ่อมแซมและรักษาเซลล์ สังเคราะห์เอนไซม์ ทั้งนี้โปรตีนประกอบไปด้วยกรดอะมิโน 20 ชนิด โดยร่างกายสามารถผลิตเองได้เพียงบางชนิด แต่มีเพียง 9 ชนิดที่จำเป็นต้องกินจากอาหาร หากเรากินโปรตีนไม่เพียงพอจะทำให้ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น เหี่ยวย่นง่าย แผลหายยาก ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เมื่อเจ็บป่วยจะใช้เวลาฟื้นตัวนานขึ้น
บูสต์พลังสมอง สมองของเราต้องการสารอาหารหลากหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น กรดไขมันดีจะถูกใช้ในการสร้างเซลล์ประสาทที่ช่วยในการรับรู้ กรดอะมิโนจากโปรตีนจะถูกใช้ในการสร้างสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์ กลูโคสจากอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตจะเป็นเชื้อเพลิงให้แก่สมองในการสร้างพลังงาน ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากผักและผลไม้ จะช่วยป้องกันเซลล์สมองจากการถูกทำลาย
ยืดอายุดวงตา วันๆ หนึ่งเราต้องใช้สายตาต่อเนื่องอย่างยาวนาน กว่าที่ดวงตาจะได้พักผ่อนก็เหนื่อยล้าเต็มที ดังนั้นจึงควรให้ดวงตาได้พักด้วยการหลับตา หรือมองออกไปไกลๆ ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง สลับกันไป โดยไม่ต้องจ้องมองสิ่งใดเป็นพิเศษ พร้อมกับรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงและถนอมดวงตา ซึ่งมีอยู่มากในผักและผลไม้ชนิดต่างๆ เพื่อให้ได้รับวิตามินเอ ซี อีเบต้าแคโรทีน ลูทีน ซีแซนทิน สังกะสี ซึ่งล้วนแต่เป็นสารอาหารที่ช่วยดูแลสุขภาพดวงตา นอกจากนี้การบริโภคผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ซึ่งมีสารแอนโธไซยานินสูง ช่วยปกป้องดวงตาจากอนุมูลอิสระต่างๆ รวมถึงรังสี UV และ แสงสีน้ำเงินจากหน้าจอมือถือและคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย
คืนความสวยสดใสให้ผิว นอกจากการเสื่อมของผิวตามธรรมชาติแล้ว ผิวยังถูกซ้ำเติมจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความเครียด แสงแดด มลภาวะ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ผิวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผิวพรรณเหี่ยวย่นและเสื่อมโทรมลง การดูแลท่านให้รับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ ช่วยให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ นอกจากนี้การเสริมคอลลาเจนที่สกัดจากปลาทะเลอย่างต่อเนื่องจะมีส่วนช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น ชุ่มชื้นและเรียบเนียนขึ้น
บำรุงกระดูกและข้อให้แข็งแรง เมื่ออายุเพิ่มขึ้น มวลกระดูกก็เริ่มบางลงและมีรูพรุนมากขึ้น จนอาจทำให้กระดูกเปราะและแตกได้ง่ายนอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาข้อเข่าเสื่อม คุณจึงควรให้คุณแม่รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมไขมันต่ำ ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว กุ้งแห้ง ฯลฯ ควบคู่กับการได้รับวิตามินดีจากแสงแดด หรือวิตามินดีจากอาหารซึ่งช่วยดูดซึมแคลเซียม เพื่อเสริมโครงสร้างกระดูกให้แข็งแรงควบคู่กับการรักษาน้ำหนักตัวให้พอดี หมั่นออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น การเดินช้าๆ การปั่นจักรยาน การออกกำลังกายในน้ำ ฯลฯ หลีกเลี่ยงท่านั่งที่จะทำให้ข้อต่อต้องออกแรงรับมากๆ เช่น นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆ
อาหารสร้างสมดุลลำไส้ กุญแจสำคัญในการดูแลระบบทางเดินอาหารไม่ได้อยู่ที่ปริมาณเส้นใยอาหารที่เรารับประทานเข้าไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังต้องควบคู่ไปกับการมีปริมาณจุลินทรีย์ที่สมดุลในทางเดินอาหารอย่างสมดุล วิธีที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและให้อาหารกับจุลินทรีย์ที่ดีที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ
ก็คือ การรับประทานอาหารประเภทกากใยบางชนิดหรือ พรีไบโอติก (Prebiotic) ซึ่งถือเป็นอาหารชั้นยอดของ โพรไบโอติก (Probiotic) หรือจุลินทรีย์ชนิดที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ซึ่งช่วยเรื่องการย่อยที่ดี การดูดซึมที่มีประสิทธิภาพและการขับถ่ายของเสียที่สมบูรณ์ ดังนั้น นอกจากจะให้คุณแม่รับประทานอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำทุกวันแล้ว จะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมและระบบต่างๆ ภายในร่างกายให้แข็งแรง
ไม่มีอะไรดีไปกว่าการดูแลสุขภาพของคนที่เรารักให้ดีที่สุด…ขอให้คุณแม่ทุกๆ ท่านมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง มีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข
ผศ.(พิเศษ) ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี