ช่วงฤดูฝนย่างเข้าสู่ฤดูหนาว “มือ เท้า ปาก” เป็นอีกหนึ่งโรคระบาดที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญใส่ใจในการดูแลบุตรหลานเป็นพิเศษ เนื่องจากโรคดังกล่าวสามารถติดต่อกันได้โดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อาจจะยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์
พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช นำชุดข้อมูลของโรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth disease) รวบรวมและอธิบายไว้อย่างเข้าใจง่ายเพื่อได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ไปดูแลคนใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย
โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มชื่อ Enterovirus
โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย คือ Coxsackievirus A16 และ Enterovirus 71 กลุ่มเสี่ยงที่พบติดเชื้อได้บ่อย คือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้
ได้บ้าง กรณีติดเชื้อชนิดรุนแรงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และสมองอักเสบได้ในเด็กเล็ก
การระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อกันโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง
จากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ ในเด็กมักพบว่าติดต่อกันจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อบนมือของผู้เลี้ยงดู
สถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และสนามเด็กเล่นโดยเฉพาะในร่ม
อาการและการแสดงของโรคที่สำคัญ คือ เริ่มจากอาการไข้ ซึ่งอาจจะไข้ต่ำหรือไข้สูงก็ได้ และมีแผลในปาก มีผื่นที่มือที่เท้า โดยแผลในปาก พบได้ตั้งแต่บริเวณของเพดานปาก กระพุ้งแก้มหรือที่ลิ้น เป็นเยอะก็จะลามออกมาที่ริมฝีปากรอบๆ ได้ ส่วนผื่นที่มือหรือเท้าจะเป็นตุ่มแดงๆ หรือปนตุ่มน้ำใสๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ในเด็กเล็กอาจมีที่รอบๆ ก้นได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาอาการทั่วๆ ไป ตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น ไข้สูง ให้ยาลดไข้ตามอาการ เฝ้าระวังภาวะชักจากไข้สูงในเด็กเล็ก เจ็บคอ เจ็บแผลในปากมาก รับประทานอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยที่ดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ให้พยายามป้อนน้ำ ให้สารน้ำอื่นๆ เช่น นมและอาหารอ่อน
ในเด็กที่มีอาการเพลียมาก จนมีภาวะขาดน้ำอาจจำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด อาการคัน ให้กินยาแก้แพ้ แก้คัน เพื่อบรรเทาอาการได้ หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องสังเกต และเฝ้าระวัง หากมีอาการต้องพาเด็กไปพบแพทย์ทันที เช่น มีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม หรืออาเจียนบ่นปวดศีรษะมาก พูดเพ้อไม่รู้เรื่อง ซึมลง ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อยๆ มีเสมหะมาก
โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ได้คงอยู่ตลอดไปและไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้
สิ่งที่จะป้องกันโรคติดต่อชนิดนี้ได้ดีที่สุดคือ การดูแลสุขอนามัย สอนเด็กโดยเฉพาะวัยเรียน ให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือว่าหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
โรงพยาบาลนวเวชมีวัคซีนเพื่อฉีดป้องกันและลดความรุนแรง โรคมือ เท้า จากเชื้อไวรัส Enterovirus 71 ออกมาให้บริการแล้ว สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โทร.02-4839999 /www.navavej.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี