ผลกระทบของมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกคาดว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะเกิดโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในอีก 28 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2593) และปัญหามลพิษทางอากาศของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานชัดเจนแสดงถึงความสัมพันธ์ของการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ทำให้กลุ่มผู้ป่วยภูมิแพ้ทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหืด จากข้อมูลล่าสุดพบว่าความชุกของโรคหืดในประเทศไทย ในช่วง 8 ปี ย้อนหลังระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึง พ.ศ.2562 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.32 (2,191,200 ราย) เป็นร้อยละ 3.59 (2,369,400 ราย) หรือคิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 หรือสูงถึง 178,200 ราย หรือปีละ
มากกว่า 20,000 รายผู้ป่วยโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ และโรคหืด เป็นโรคที่มีการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบนและทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง ซึ่งจะถูกกระตุ้นด้วยสารแพ้ต่างๆ เช่น ไรฝุ่น ละอองหญ้าขนสัตว์ และที่สำคัญมากคือพบว่ามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 ส่งผลให้โรคเหล่านี้กำเริบได้มากขึ้น พบข้อมูลการเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคหืด และในหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในมลพิษ PM2.5 มากกว่าเกณฑ์มีโอกาสคลอดบุตรที่เป็นโรคหืดสูงขึ้นถึง 30%
เพราะฉะนั้นเราควรร่วมมือช่วยกันป้องกันการเกิดและการสูดดมมลพิษทั้งในระดับบุคคล และระดับนโยบาย ในระดับบุคคลแนะนำให้ประชาชนหาข้อมูลทางอินเตอร์เนตหรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือการออกกำลังกาย เมื่อมีปริมาณมลพิษทางอากาศเกินปริมาณอันตรายตามตาราง อาจพิจารณาการออกกำลังกายภายในอาคารแทน หากจำเป็นต้องออกภายนอกอาคาร ควรใส่หน้ากากประเภทที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐาน และควรศึกษาวิธีสวมใส่หน้ากาก N95 อย่างถูกต้องร่วมด้วย
การหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศภายในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิทป้องกันการเล็ดลอดของฝุ่นเข้ามาในอาคาร มีข้อมูลว่ามลพิษทางอากาศชนิดฝุ่น PM2.5 สามารถทะลุผ่านจากนอกอาคารเข้ามาในอาคารได้มากถึงร้อยละ 75 หลังกลับเข้ามาภายในอาคารแนะนำเปลี่ยนเสื้ผ้า อาบน้ำ สระผมชำระล้างร่างกายที่อาจนำพาฝุ่นเข้ามาภายในอาคาร แนะนำให้ใช้เครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่ได้ (portable air filter) โดยมีแผ่นกรองอากาศชนิด High Efficiency Particulate Air (HEPA) filter ซึ่งสามารถกรองฝุ่นชนิดที่มีขนาดน้อยกว่า 0.3 ไมครอน ได้ถึงร้อยละ 99.97 ควรใช้เครื่องที่สามารถทำงานได้อย่างเพียงพอกับขนาดห้อง และ
ไม่แนะนำเครื่องฟอกอากาศชนิดที่ให้กำเนิดก๊าซโอโซนโดยเฉพาะระบบแบบ Ionized เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพดังที่กล่าวมาได้
ช่วยกันการลดการกำเนิดฝุ่น PM2.5 จากในอาคาร เช่น กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ การประกอบอาหารโดยการเผาไหม้ เช่น เตาถ่าน การหุงต้มที่กำเนิดควันและการเผาไหม้สิ่งต่างๆ จากบ้านเรือนนอกจากจะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 และยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย
นายแพทย์จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี
อาจารย์อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก
ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี