ซินดี้ สิรินยา-อาจารย์ช้าง ชวนเลิกซื้อ เลิกใส่เครื่องประดับจากงาช้าง ย้ำ ‘งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด’
องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาหรือยูเอสเอด (USAID) องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.)ร่วมกันเปิดตัวโครงการรณรงค์ล่าสุด‘งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด – Only elephants wear ivory best’เพื่อลดความต้องการซื้อและสวมใส่เครื่องประดับจากงาช้างในหมู่ผู้ใช้ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงพร้อมเผยแพร่โฆษณารณรงค์ 2 เรื่องที่มีซินดี้สิรินยาบิชอพนักแสดงนางแบบและอาจารย์ช้าง ทศพร ศรีตุลานักโหราศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ยชื่อดังเป็นทูตโครงการเพื่อร่วมตอกย้ำว่าไม่มีใครใส่งาช้างได้คู่ควรและสวยงามเท่ากับตัวของช้างเอง
โครงการ ‘งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด – Only elephants wear ivory best’ ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากโครงการรณรงค์ ‘สวยที่ใจไม่ใช่ที่งา – Beautiful without ivory’ ซึ่งถือเป็นโครงการแรกของ USAID ที่มีเป้าหมายสื่อสารถึงผู้นิยมสวมใส่และผู้มีความต้องการซื้อเครื่องประดับจากงาช้าง เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้ใช้ที่เชื่อว่างาช้างเป็นของสวยงาม
“ซินดี้ปฏิเสธการถ่ายแบบ และการทำงานที่ต้องสวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากงาช้างและชิ้นส่วนจากสัตว์ป่า หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์มาโดยตลอดเพราะซินดี้เชื่อว่าสิ่งที่มาจากสัตว์ป่าเช่นงาช้างจะสวยที่สุดและมีคุณค่าที่สุดเมื่ออยู่กับช้างเท่านั้นสำหรับโครงการนี้ ซินดี้หวังว่าจะมีส่วนช่วยสื่อสารเรื่องนี้ไปยังผู้ติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้สังคมในวงกว้างไม่ยอมรับการซื้อและการสวมใส่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้และหยุดความต้องการใหม่ๆในอนาคต” คุณซินดี้กล่าว
นอกจากนี้ โครงการรณรงค์ยังมีเป้าหมายเพื่อลดแรงจูงใจในการซื้อและสวมใส่เครื่องประดับจากงาช้างที่มาจากความเชื่อว่างาช้างจะช่วยเสริมดวง และนำมาความโชคดีมาสู่ผู้สวมใส่ โดยอาจารย์ช้างจะช่วยสื่อสารไปถึงผู้ติดตามและตั้งคำถามต่อความเชื่อดังกล่าว
“สิ่งที่จะช่วยเสริมดวงให้ดีขึ้นต้องมาจากจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเฉพาะการใช้เครื่องรางจากงาช้างที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเบียดเบียนช้างนั้นจะส่งผลให้ชีวิตของเราดีได้อย่างไร การที่เรามีจิตที่เป็นกุศลมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายถือเป็นความดีที่จะช่วยเสริมให้ชีวิตของเรามีแต่สิ่งดีๆเกิดอย่างแน่นอน ที่สำคัญที่สุดคืองาช้างจะสวยและมีคุณค่าที่สุดเมื่ออยู่กับช้างเท่านั้น” อาจารย์ช้าง ทศพร ศรีตุลา กล่าว
ผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 โดย USAID พบ คนไทยร้อยละ 2 มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และคนไทย ร้อยละ 3 มีความตั้งใจที่จะซื้องาช้างหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในอนาคตแม้ว่าสัดส่วนนี้จะต่ำแต่ผู้นิยมผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนผลักดันตลาดภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญการรณรงค์สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและพฤติกรรมจึงมีความสำคัญต่อการลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างและจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง
“ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่โครงการรณรงค์ ‘สวยที่ใจไม่ใช่ที่งา’สามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้นิยมใช้เครื่องประดับจากงาช้างได้อย่างเห็นผลแม้เพียงระยะเวลาอันสั้นเราหวังว่าโครงการ ‘งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด’จะช่วยลดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องรัฐบาลสหรัฐฯมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมืออันดีกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ผ่านโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าผิดกฎหมายต่อไป”ดร. ศุภสุขประดับศุขผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาโครงการสำนักงานสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคUSAID สำนักงานภาคพื้นเอเชียกล่าว
ผลการสำรวจหลังการดำเนินโครงการรณรงค์สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและพฤติกรรม ของ USAID ปี พ.ศ. 2563 พบว่า ผู้ที่เห็นสื่อโครงการ “สวยที่ใจไม่ใช่ที่งา” ที่ตอบว่ามีความตั้งใจจะซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างมีจำนวนลดน้อยลงถึงร้อยละ 50 และคนที่เห็นด้วยว่า การซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างไม่อาจเป็นที่ยอมรับในสังคมมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับผลการวิจัยผู้บริโภคของ USAID เมื่อปีพ.ศ. 2561
“กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ได้ทำงานร่วมกับ USAID และองค์กรไวล์ดเอด (WildAid) อย่างใกล้ชิดในการดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์จากงาช้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งการลดความต้องการของผู้บริโภค ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการยับยั้งการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) เราเชื่อว่าการเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า อย่างเช่น โครงการ “งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด” จะช่วยสร้างทัศนคติใหม่ในสังคม ที่จะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าและนำไปสู่การป้องกันการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายได้” นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว
“เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าคุณซินดี้ และอาจารย์ช้าง จะช่วยเราขับเคลื่อนโครงการและสื่อสารถึงผู้ที่นิยมใช้งาช้างได้องค์กรไวล์ดเอดดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 โดยได้รับความร่วมมือจากผู้มี่ชื่อเสียงจากหลากหลายภาคส่วนรวมถึงภาครัฐและพันธมิตรสื่อมวลชนเราหวังว่าสื่อรณรงค์ชุดใหม่จะยิ่งทำให้ทุกคนอยากร่วมปกป้องช้างมากขึ้นและวิธีง่ายๆก็คือการเลิกซื้อเลิกสวมใส่ผลิตภัณฑ์จากงาช้าง” มร.จอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
นอกจากนี้ USAID องค์กรไวล์ดเอด และกรม อส. ร่วมกันผลิตรายการพิเศษเพื่อเปิดตัวโครงการณรงค์ออกอากาศสดผ่านทางเฟซบุ้คของWildAid Thailand โดยมีคุณซินดี้อาจารย์ช้างตัวแทนจาก USAID และกรมอส. ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ล่าสุดของการค้างาช้างผิดกฎหมายและแบ่งปันมุมมองการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากงาช้างชมย้อนหลังได้ทางเฟซบุ้คWildAid Thailand และติดตามสื่อรณรงค์โครงการ “งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด” ผ่านช่องทางโซเชียล มีเดีย และสื่อโฆษณานอกบ้านเร็วๆ นี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี