ทุกวันที่ 29 กันยายน เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของหัวใจ จากสถิติปี 2564 พบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดสูงถึง 18,000-20,000 คน หรือชั่วโมงละ 2 คนแม้ว่าจะยังไม่มีอาการหรือสัญญาณใดๆ ที่จะบอกว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจก็ตาม ทีมอายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลนวเวช แนะนำให้มีการตรวจสุขภาพหัวใจ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉินด้านหัวใจในอนาคต
สาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ : พญ.ณหทัย ฉัตรสิงห์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ กล่าวว่า จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้พบผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบมากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มพบในผู้ป่วยอายุน้อยลงจากเดิม โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน นับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ คนไข้บางรายอาจจะมีอาการเด่นชัด เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่นอาการวูบ เป็นลม เจ็บหน้าอกแบบเป็นๆ หายๆ หรือแน่นหน้าอก ขณะที่คนไข้บางรายอาจจะไม่แสดงอาการใดๆ จึงควรหมั่นสังเกตตนเองเป็นประจำ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจ เพราะหากพบรอยโรคจากการตรวจสุขภาพหัวใจ ทีมแพทย์จะวางแผนการรักษาเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะฉุกเฉินโรคหัวใจได้
โรคหัวใจที่พบ : พญ.วริษฐา เล่าสกุลอายุรแพทย์โรคหัวใจ กล่าวว่า โรคหัวใจที่พบบ่อยในปัจจุบันคือเส้นเลือดหัวใจตีบ พบทั้งผู้ที่มีอาการแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน ในคนไข้ที่มีอาการเรื้อรัง ทีมแพทย์สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาได้ทันทีหากตรวจพบอาการผิดปกติ แต่สำหรับคนไข้ที่มีอาการแบบเฉียบพลัน จะมาโรงพยาบาลด้วยเคสฉุกเฉิน ไม่ว่าจะด้วยอาการหมดสติกะทันหันหรือหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดนี้จะต้องรีบดำเนินการภายใน24 ชั่วโมง ด้วยการสวนเส้นเลือดหัวใจหรือการผ่าตัด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยและความเสี่ยงของคนไข้แต่ละคน
เครื่องมือแพทย์เสริมการวินิจฉัย :พญ.วริษฐา เล่าสกุล กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลนวเวช นอกจากเครื่องตรวจคัดกรองตามมาตรฐาน เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องเดินสายพาน ฯลฯ แล้วยังมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทั้งเครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiovascular MRI : CMR) ซึ่งเป็นเครื่อง MRI 3 Tesla ที่สามารถเห็นรายละเอียดของภาพได้ชัดเจน สามารถวินิจฉัยความผิดปกติของโครงสร้างการทำงานของหัวใจ สามารถตรวจเนื้อเยื่อที่มีความซับซ้อน หรืออวัยวะที่มีขนาดเล็กของหัวใจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan(Computer Tomography Scan) เครื่องตรวจหลอดเลือดหัวใจว่ามีความตีบ-ตันมากน้อยเพียงใด สามารถเห็นระบบเส้นเลือดของหัวใจทั้งหมด เครื่องที่ทางโรงพยาบาลใช้งาน เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan Spectral CT 256 slicesที่มีข้อดีคือ คนไข้ได้รับปริมาณรังสีน้อยกว่าใช้เวลาในการตรวจน้อยกว่าเครื่องรุ่นเดิม และภาพคมชัด ทำให้ทีมแพทย์สามารถตรวจวิเคราะห์โรคหัวใจได้แม่นยำขึ้น เพื่อวางแผนการรักษาขั้นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสวนเส้นเลือดหัวใจ : นพ.ศรัณยู สุทธิพงศ์เกียรติ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ อนุสาขาหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า ในอดีตคนไข้ที่มีอาการฉุกเฉินด้วยเส้นเลือดหัวใจตีบ มักพบในกลุ่มคนที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบในกลุ่มคนอายุน้อยลงมามากขึ้น เพราะพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ในกรณีที่มีคนไข้ถูกส่งตัวมาในภาวะฉุกเฉิน และทีมแพทย์มีมติรักษาด้วยวิธีการสวนเส้นเลือดหัวใจ (บอลลูน) สามารถเปิดเส้นเลือดเพื่อเริ่มการรักษาให้ได้ภายใน 90 นาที ซึ่งศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวชมีเครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดชนิดสองระนาบ (BI-plane) ที่มีประสิทธิภาพช่วยให้แพทย์ตรวจดูเส้นหลอดเลือดหัวใจได้ง่ายขึ้น ด้วยภาพที่คมชัด ทำให้สามารถช่วยย่นระยะเวลาการทำหัตถการให้เสร็จลงได้ภายในเวลา 30 นาที-1 ชั่วโมง หลังทำบอลลูนคนไข้สามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใน 2-4 สัปดาห์
การทำบายพาส : นพ.บุลวัชร์หอมวิเศษ ศัลยแพทย์หัวใจ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีคนไข้จำนวนมากที่มีความกังวลและมักจะปฏิเสธการรักษาหากต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด แต่ข้อดีของการรักษาด้วยการผ่าตัดคือสามารถทำเส้นเลือดได้ทุกเส้นในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว และในระยะยาวยังให้ผลดีกับผู้ป่วยเพราะโอกาสกลับมาเป็นซ้ำมีน้อยกว่าการรักษาแบบอื่น จากสถิติในปี2564 พบว่า ประเทศไทยมีการรักษาคนไข้อาการเส้นเลือดหัวใจตีบด้วยวิธีการผ่าตัดประมาณ 5,800 ราย ที่โรงพยาบาลนวเวชมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ประกอบกับทีมแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจที่วางแผนการรักษาร่วมกัน ช่วยเสริมให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า การเสียชีวิตจากการผ่าตัดโรคหัวใจมีน้อยกว่า 5% คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน5-7 วัน และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใน 1-3 เดือน
โอกาสเป็นซ้ำมีได้หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : แม้ว่าการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะให้ผลดีกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น แต่คนไข้ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ในเวลาไม่นานหากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่ควบคุมอาหาร ไม่ควบคุมน้ำหนัก หรือการกลับไปสูบบุหรี่ ซึ่งคนไข้ที่กลับมาเป็นซ้ำ ทีมแพทย์จะต้องพิจารณาแนวทางการรักษาใหม่ เพราะการผ่าตัดซ้ำจะมีความเสี่ยงสูงเป็น 2 เท่า ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอกโรงพยาบาลนวเวช โทร.02-4839999 หรือคลิกที่ www.navavej.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี