หลายคนคงมีคำถามว่า สุนัขเป็นโรคลมชักได้ด้วยหรือ? แล้วหากสุนัขของเราจะเป็นโรคลมชัก เราจะรู้ได้อย่างไร? เรามาลองสังเกตง่ายๆ กันดูนะครับว่า...อาการที่สุนัขแสดงนั้น เรียกว่า "ชัก" หรือเปล่า เพราะอาการบางอย่างนั้น ก็คล้ายกับอาการชัก จนเจ้าของเข้าใจไปว่านั่นคืออาการชัก แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่การชัก แต่เป็น อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาการเป็นลม (faint) ซึ่งพบในสุนัขที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ เป็นต้น
โรคลมชักมีอาการอย่างไร?
โรคลมชัก มักจะแสดงอาการชักทั้งตัว คือล้มลงนอนไม่มีสติ มีอาการเกร็งกระตุกทั่วทั้งตัว งับปาก ขาตะกายเหมือนปั่นจักรยาน อาจมีอาการน้ำลายไหลมาก อุจจาระราดแบบไม่รู้ตัว หรือปัสสาวะราดร่วมด้วย โดยแต่ละครั้งอาจแสดงอาการนานหนึ่งนาทีจนถึงหลายนาทีก็ได้ และมักมีอาการแสดงหรือพฤติกรรมแปลกๆในระยะเวลาก่อนและหลังการชักด้วย เช่น กระวนกระวาย น้ำลายไหล เดินวนหรือวิ่ง อาจหลบในที่มืด ร้องครางหรือเห่าเรียกเจ้าของ เป็นต้น
ระยะเวลาก่อนการชักอาจนานเพียงแค่ไม่กี่วินาทีหรืออาจนานเป็นวันเลยก็ได้ ซึ่งเจ้าของอาจไม่ทัน สังเกตเห็นการแสดงก่อนการชักได้
ส่วนอาการหลังชักนั้นสุนัขมักแสดงอาการมึนงง เดินเซ ไร้จุดหมาย หรือนอนหลับนานกว่าปกติ อาจมีอาการตาบอดชั่วคราวได้ ระยะเวลาการฟื้นตัวหลังชักอาจนานเพียงไม่กี่นาทีหรืออาจนานเป็นสัปดาห์เลยก็ได้
แล้วการชักเกิดจากสาเหตุอะไรล่ะ?
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าเกิดจากพันธุกรรม อาการชักครั้งแรกจะพบได้บ่อย ในสุนัขช่วงอายุ 1-4 ปี สายพันธุ์สุนัขที่พบความผิดปรกตินี้ได้บ่อย ได้แก่ บีเกิล พุดเดิ้ล โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ลาบาดอร์รีทรีฟเวอร์ เยอรมันเชฟเฟิร์ด และเซนต์เบอร์นาร์ด เป็นต้น
ทั้งนี้ หากสุนัขของท่านมีอาการชัก หรือสงสัยว่าชัก ควรนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ว่าเป็นโรคลมชัก หรือเป็นการชักที่มาจากจากสาเหตุอื่น เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคตับ โรคไต สารพิษ เนื้องอกในสมอง การอักเสบ และการติดเชื้อ เช่น พยาธิเม็ดเลือด และโรคไข้หัดสุนัข เป็นต้น
นอกจากนี้ควรจดบันทึกการชัก ทั้งความถี่ ระยะเวลาการชัก และระยะห่างของการชักในแต่ละรอบ และถ้าหากสามารถถ่ายวิดีโอขณะชักได้ด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคเป็นอย่างมากครับ เพราะ การชักในโรคลมชักมักเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีระยะห่างระหว่างช่วงการชักแต่ละครั้งที่นานใกล้เคียงกัน โดยการชักมักเกิดในช่วงที่ไม่ได้ทำกิจกรรมหรือช่วงที่นอนหลับมากกว่าช่วงที่มีกิจกรรม เราจึงมักพบว่าสุนัขจะแสดงการชักในช่วงเช้ามืดหรือกลางดึกมากกว่า
การตรวจระบบประสาทสุนัขที่เป็นโรคลมชักในช่วงพัก (คือพ้นจากการชักมาแล้ว) นั้นสัตวแพทย์อาจตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ รวมถึงการถ่ายภาพรังสี CT scan หรือ MRI ของสมอง ก็มักไม่พบรอยโรคหรือความผิดปกติภายในสมอง ซึ่งจะแตกต่างจากการชักจากสาเหตุชนิดอื่น
โรคลมชัก สามารถรักษาได้หรือไม่?
การรักษาสุนัขที่เป็นโรคลมชัก เป็นการรักษาเพื่อควบคุมอาการชักให้ได้ เนื่องจากการชักแต่ละครั้ง จะมีผลเสียต่อเนื้อเยื่อสมอง ยิ่งเกิดการชักเป็นเวลานาน จะทำให้สมองขาดเลือด และเกิดสมองตายได้ ดังนั้นการกินยาเพื่อคุมอาการชักจึงสำคัญมาก จะช่วยลดระยะเวลาการชักในแต่ละครั้งให้สั้นลง หรือเพิ่มระยะเวลาการเกิดการชักในรอบถัดไปให้ห่างขึ้น จะทำให้จำนวนครั้งในการชักลดลง ซึ่งเป็นการลดความรุนแรงของการชักลง
หากควบคุมอาการชักไม่ได้ สุนัขจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติและอาจถึงแก่ชีวิตได้ครับ การชักติดต่อกันมากกว่า 2 ครั้งในหนึ่งวัน หรือชักครั้งหนึ่งนานมากกว่า 15 นาที ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องนำสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อพบสัตวแพทย์โดยด่วนครับ
ข้อสำคัญของการรักษาโรคลมชัก ซึ่งถือเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้สัตว์ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ทรมาน ดังนั้นการได้รับยาต่อเนื่อง และตรงเวลา จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ การได้รับยาไม่สม่ำเสมอหรือหยุดให้ยาเองโดยพละการ อาจทำให้สุนัขชักรุนแรงขึ้นจนถึงเสียชีวิตได้ครับ
นอกจากนี้ ควรมีการตรวจเลือดและตรวจสุขภาพเป็นระยะ เนื่องจากต้องมีการปรับขนาดยาหรือชนิดยา ให้เหมาะสมกับการชัก และจำเป็นต้องตรวจติดตามผลข้างเคียงจากยา ซึ่งต้องอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์
ในระหว่างเกิดอาการชัก ควรเฝ้าระวังไม่ให้ศีรษะของสุนัขกระแทกกับพื้นหรือสิ่งของในบริเวณนั้น เพราะสุนัขจะไม่มีสติ ท่านอาจใช้เบาะหรือผ้าหนาๆ รองบริเวณหัวและตัวของสุนัข และนำสิ่งกีดขวางที่อาจเป็นอันตรายออกห่างจากสุนัข และที่สำคัญอย่าเอามือเข้าไปใกล้ปากสุนัขเด็ดขาด เพราะสุนัขที่กำลังชักอยู่นั้นจะไม่รู้สึกตัว เจ้าของอาจถูกกัดได้ และที่สำคัญที่สุดต่อการรักษา คือต้องไม่ลืมที่จะจดบันทึกวัน เวลาและระยะเวลาของการชัก ลงในปฏิทินการชักด้วย เพื่อท่านจะได้มีการบ้านไปส่งคุณหมอเวลาไปพบสัตวแพทย์ จะได้เป็นข้อมูลสำหรับการรักษาที่เหมาะสมมากขึ้นด้วยครับ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี