ไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากทั้งในประชากรไทยและประชากรทั่วโลก ภาวะนี้เป็นภัยเงียบเนื่องจากเป็นโรคที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ไม่มีอาการผิดปกติใดๆให้สังเกต แต่หากไม่ทำการรักษาเพื่อให้ระดับไขมันลดลงสู่ระดับที่ควรจะเป็น ผลเสียที่จะเกิดขึ้นคือภาวะเส้นเลือดอุดตันซึ่งมักถูกเรียกรวมๆ กันว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วมักจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก และอาจมีความรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โรคดังกล่าวนี้ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง (หรือที่รู้จักกันในชื่อของอัมพฤกษ์ อัมพาต) โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และโรคเส้นเลือดที่ขาตีบตัน
ข้อมูลจาก ภญ.วิภารักษ์ บุญมาก ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ไขมันที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดของเรานั้นแท้จริงแล้วถูกสร้างขึ้นเองภายในร่างกายมากถึง 75% ส่วนที่เหลืออีก 25% นั้นเป็นไขมันที่ได้รับจากอาหาร 1 ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า มีปัจจัยหลายชนิดที่ส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ทั้งความผิดปกติทางพันธุกรรมที่แต่ละคนจะมีอัตราการสร้างไขมันที่มากน้อยแตกต่างกันไป รวมถึงปริมาณไขมันส่วนเกินจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน ดังนั้น การรักษาภาวะนี้จึงต้องอาศัยทั้งการใช้ยาเพื่อลดการสร้างไขมันในร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการเผาผลาญสารอาหารต่างๆโดยเฉพาะสารอาหารจำพวกไขมันได้ดีมากยิ่งขึ้น และการควบคุมปริมาณอาหารไขมันนั้นถือเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ทำให้เกิดการควบคุมปริมาณไขมันในเลือดที่มีประสิทธิภาพ
อาหารไขมันสูง มีโทษหรือไม่?
ไขมันในอาหารมีความหลากหลายทั้งในแง่ของชนิดและปริมาณ มีทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์ เช่น กรดไขมันไม่อิ่มตัว(unsaturated fatty acids) ชนิดต่างๆ ที่หลายท่านอาจคุ้นเคยในชื่อของ โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 และไขมันชนิดที่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น ไขมันอิ่มตัว และไขมันชนิดทรานส์ ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป ถึงแม้หลายท่านจะมองว่า ไขมัน คือผู้ร้ายตัวฉกาจที่ก่อให้เกิดทั้งโรคหลอดเลือดอุดตันและยังสะสมอยู่ตามบริเวณต่างๆในร่างกาย แท้จริงแล้วไขมันก็มีข้อดีอยู่หลายประการ ไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกาย เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนชนิดต่างๆ รวมถึงไขมันสะสมที่หลายๆ ท่านอยากหนีให้ไกลก็ยังให้ประโยชน์ในการเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายและเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่สำคัญ 1 ดังนั้น การเลือกชนิดของอาหารที่ประกอบด้วยไขมันที่เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันชนิดอันตราย เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากไขมันมากที่สุดและได้รับโทษจากไขมันน้อยที่สุด
การเลือกชนิดของอาหาร
ก่อนจะกล่าวถึงชนิดของอาหาร อาจต้องกล่าวถึงปริมาณอาหารที่รับประทานก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากไขมันเป็นแหล่งพลังงานสะสมที่ดีที่สุด ให้พลังงานสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสารอาหารชนิดอื่น เมื่อเราได้รับสารอาหารชนิดใดก็ตามเกินความต้องการของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรตในรูปของแป้งและน้ำตาล หรือโปรตีนในรูปของเนื้อสัตว์ สารอาหารเหล่านี้สามารถเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของไขมันได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารแต่พอดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ และปฏิบัติตามได้ไม่ยากนัก
แนวคิดสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปริมาณไขมันที่รับประทานต่อวันอาจไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของชนิดไขมันในเลือดรวมถึงอาจไม่สัมพันธ์โดยตรงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่สิ่งที่ดูจะส่งผลชัดเจน คือ ชนิดของกรดไขมันที่รับประทาน ดังนั้น การเลือกชนิดของไขมันในอาหารที่รับประทานในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง และควรหลีกเลี่ยงไขมันชนิดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อาหารที่มีไขมันอันตรายดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
อาหารที่ประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acids) เช่น ไขมันสัตว์ น้ำมันจากสัตว์ ไข่แดง นม น้ำมันจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม เป็นต้น จากการศึกษาพบว่า อาหารที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หากแทนที่อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวด้วยอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acids) ในปริมาณที่ให้พลังงานเท่ากันจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงอีกด้วยจึงมีคำแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานที่ประกอบด้วยไขมันอิ่มตัวมากกว่า 10% ของพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน
อาหารที่ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดทรานส์(tans-fatty acids) ไขมันชนิดนี้เกิดจากการผ่านกรรมวิธีทางเคมีให้มีความคงตัวดีขึ้น ไม่เป็นไข ไม่มีกลิ่นหืน และทนความร้อนสูงได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสะดวกในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ไขมันแปรรูปดังกล่าว ได้แก่ เนยเทียม มาการีน เนยขาว (shortening) จึงพบไขมันชนิดนี้ได้มากในอาหารจำพวกเบเกอรี่ ขนมอบ คุกกี้ โดนัท ครีมเทียม อาหารจานด่วนหรือ fast food จากการศึกษาพบว่า ไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นอย่างมากจนได้ชื่อว่าเป็นที่สุดของไขมันอันตราย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ หรือไม่ควรเกิน 1% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน
ส่วน อาหารที่ควรเลือกรับประทาน คืออาหารที่ประกอบด้วยไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acids) ซึ่งพบมากในน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก และน้ำมันจากปลาชนิดต่างๆ ไขมันชนิดนี้ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าไขมันอิ่มตัวดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้ ยังมีอาหารชนิดอื่นๆ ที่ถึงแม้จะไม่มีผลต่อระดับไขมันในเลือด แต่มีผลดีในแง่ของการลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาหารที่มีเส้นใยสูงหรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ผักและผลไม้รวมถึงถั่วต่างๆ จำกัดปริมาณเกลือที่รับประทานต่อวัน(ไม่ควรมากกว่า 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชา) และควรลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานเนื่องจากเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินจนนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
โดยสรุป ไขมันสูงเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ทั้งการรับประทานยาลดไขมัน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม การควบคุมปริมาณและชนิดของไขมันในอาหารเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการควบคุมระดับไขมันในเลือดรวมถึงป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ปริมาณโดยรวมของพลังงานที่ได้รับต่อวันยังเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง สรุปง่ายๆคือ ควรรับประทานอาหารโดยตั้งอยู่บนความสมดุลเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากอาหารและได้รับโทษให้น้อยที่สุด เพราะคำกล่าวที่ว่า รับประทานอะไรก็เป็นเช่นนั้น (You are what you eat) ยังคงเป็นจริงเสมอ สำหรับผู้สนใจข้อมูลสุขภาพและการใช้ยาของคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล สามารถติดตามได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge.ph
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี