เจ้าสาวคนงาม
ด้วยพิธีแต่งงานที่สืบสานมามากกว่า ๑๐๐ ปีนั้นจึงทำให้การแต่งงานแบบบาบ๋า หรือ วิวาห์บาบ๋าของชาวภูเก็ตนั้นได้สร้างชื่อเสียงให้รู้จักกันทั่วโลก วิวาห์ชาวบาบ๋าเป็นประเพณีแต่งงานของชาวภูเก็ตลูกครึ่งเชื้อสายจีนกับคนพื้นเมืองที่ผสมผสานวัฒนธรรมชาวจีนกับชาวภูเก็ตไว้ด้วยกันพิธีแต่งงานนี้มีลำดับขั้นตอนตั้งแต่การสู่ขอหมั้นหมาย ไปจนถึง “พิธีผ่างเต๋” คือพิธียกน้ำชาแบบจีนและพิธีส่งตัวบ่าวสาวเข้าห้องหอ โดยมีแม่สื่อ“อึ่มหลาง” เป็นผู้ทำพิธีให้ ในอดีตนั้นการจัดงานแต่งงานใช้วิธีอาศัยความร่วมมือร่วมแรงของคนในชุมชนมาช่วยกันจัดสถานที่ ทำขนม เตรียมกับข้าว จัดชุดเจ้าสาว เป็นต้น โดยจัดงานแบบ ๗ วัน ๗ คืน ด้วยยังไม่มีร้านอาหาร โรงแรมอย่างเดี๋ยวนี้
วันงานขบวนเจ้าบ่าวนั้นจะจุดประทัดเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังบ้านเจ้าสาว นำโดยรถ “โพถ้อง”ของชาวภูเก็ต ซึ่งภายในมีนักดนตรี “ตี๊ต่อตี๊เช้ง”บรรเลงประสานเสียงจากเครื่องดนตรีหลายสัญชาติทั้งไทย จีน และฝรั่ง ไปตลอดทางจนถึงบ้านเจ้าสาวเจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวนั่ง “หล่างเชี้ย” หรือ รถลากโบราณ ไปที่บ้านเจ้าบ่าว หรือเจ้าบ่าวจะนั่งรถ “ปาเก้”รถหรูให้สมกับฐานะก็ได้ เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว ประทัดก็จะจุดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบ้านฝ่ายหญิงจะจัดเด็กชาย-หญิงไว้ต้อนรับฝ่ายเจ้าบ่าว พร้อมกับมอบบุหรี่ใส่พานให้ ส่วนเจ้าบ่าวนั้นจะให้อั่งเปาเป็นการตอบแทนจากนั้นเจ้าบ่าวจะเข้ามาพร้อมกับขบวนขันหมากซึ่งประกอบด้วยฮวดหนา (ตะกร้าจีนเล็ก) ใส่เงินทองของหมั้น และเสี่ยหนา (ตะกร้าจีนขนาดใหญ่) ภายในมีอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ชุดน้ำชา ธูปเทียน เครื่องหอมเซ่นไหว้ โดยมีแม่สื่อเป็นผู้มอบให้ จากนั้นแม่สื่อจะพาบ่าวสาวออกมาไหว้เทวดาฟ้าดินที่หน้าบ้านแล้วทำ “พิธีผ่างเต๋” หรือการคารวะผู้ใหญ่ด้วยน้ำชามงคล และรับไหว้ด้วยซองแดง ต่อด้วยพิธีไหว้พระที่ศาลเจ้า ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวบาบ๋าเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมักนิยมไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าใกล้บ้าน การไหว้เจ้าแม่กวนอิมจึงเหมาะกับการขอบุตร หรือหลวงพ่อแช่มที่วัดฉลอง ซึ่งเป็นพระเถระที่ชาวภูเก็ตเคารพนับถือ
ขบวนขันหมาก
จุดเด่นของงาน คือ ชุดแต่งกายบาบ๋า ของบ่าวสาวนั้นยังเป็นแบบโบราณที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนและมาเลเซียไว้ด้วยกัน เจ้าสาวจัดทรงผมด้วยการหวีผมด้านหน้าให้เรียบตึงแล้วเกล้าขึ้นสูง โดยรวบผมเป็นมวยไว้ที่ด้านบน ผมด้านข้างตีโป่งออกมาเรียกว่า “อีโบย” หรือ “แก้มปลาช่อน”แล้วสวมมงกุฎทองดอกไม้ไหวครอบมวยผมไว้ส่วนเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีอ่อนแขนยาวคอตั้งแบบจีนนุ่ง คู่กับผ้าถุงปาเต๊ะสีเดียวกัน สวมทับด้วยเสื้อครุยผ้าป่านรูเปีย หรือผ้ามัสลินปักลวดลายแล้วติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ “โกสัง” ซึ่งเป็นเข็มกลัด ๓ ชิ้น ที่เสื้อด้านนอก ประดับสร้อย กำไลข้อมือข้อเท้า แหวน และรองเท้าปักดิ้น แสดงถึงฐานะ ส่วนชุดเจ้าบ่าวแต่งชุดสูทสากลติดดอกไม้ที่หน้าอก หรือเข็มกลัดประดับพู่สีชมพู เสน่ห์และสีสันของเจ้าสาวอยู่ที่ “มงกุฎทองดอกไม้ไหว” ของเจ้าสาวนี่แหละ ซึ่งมีหงส์ประดับอยู่ด้านบนตามความเชื่อของคนจีน เชื่อว่าหงส์เป็นสัตว์ปีกที่มีความยิ่งใหญ่และมักปรากฏตัวในที่ร่มเย็นพร้อมเสียงร้องอันกังวาน นัยว่าเจ้าสาวมีวาจาที่อ่อนหวาน ดูแลครอบครัวด้วยความร่มเย็น และหากสามีเป็นอะไรไปต้องลุกขึ้นมาเป็นใหญ่แทนสามีได้ ส่วนผีเสื้อกับดอกไม้ที่ติดอยู่จะแทนความยั่งยืนของชีวิตแต่งงาน ซึ่งดอกไม้ที่ประดับบนมงกุฎนั้นเป็นสื่อความเคลื่อนไหวที่ให้เห็นถึงความตื่นเต้นของเจ้าสาวที่ได้พบกับเจ้าบ่าวในวันแต่งงานนี้ด้วย ปัจจุบันชาวเมืองภูเก็ตยังคงสืบสานวัฒนธรรมนี้เอาไว้ด้วยการจัดงาน “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” จากงาน๗ วัน ให้เหลือเพียงวันเดียว และเป็นวันสำคัญที่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ไปร่วมเป็นผู้ใหญ่ให้หนุ่มสาวได้ “ผ่างเต๋” ในพิธีวิวาห์บ่าบ๋าหนึ่งเดียวของประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี