การแข่งขัน U2T for BCG National Hackathon 2022 ระดับประเทศ จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ได้แชมป์จำนวน 4 ทีม ได้แก่ “ทีมแซ่บอีรี่”ต.ทัพเสด็จ จ.สระแก้ว แชมป์ด้านเกษตรและอาหาร “ทีมแฟรี่แลนด์จรเข้ใหญ่” ต.จรเข้ใหญ่ จ.สุพรรณบุรีแชมป์ด้านสุขภาพและการแพทย์ “ทีมเชียงคานสตอรี่”ของ ต.เชียงคาน จ.เลย แชมป์ ด้านพลังงานและวัสดุ และ “ทีมการท่องเที่ยวสีเขียวเชิงสร้างสรรค์คลองปากปิด” ต.พงศ์ประศาสน์ จ.ประจวบคีรีขันธ์แชมป์ด้านท่องเที่ยวและบริการ ทั้ง 4 แชมป์ได้สร้างสรรค์ผลงานต่อยอดหลังจากคว้าแชมป์ได้อย่างน่าสนใจ
“เส้นบะหมี่อบแห้งผสมโปรตีนจากดักแด้ไหมอีรี่” ทีมแซ่บอีรี่ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ดร.จารุนันท์ ไชนาม เปิดเผยว่า ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นบะหมี่อบแห้งฯ โดยนำใบมันสำปะหลังมาใช้เลี้ยงไหมอีรี่ เพื่อเป็นการลดปริมาณใบมันสำปะหลังที่ถือเป็นขยะในชุมชน พร้อมทั้งต่อยอดด้วยการนำดักแด้ของไหมอีรี่ ที่เป็นผลพลอยได้จากรังไหม ซึ่งมีมากถึงปีละ677 ตัน มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า ในรูปแบบของเส้นบะหมี่อบแห้งผสมโปรตีนจากดักแด้ไหมอีรี่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนใน ต.ทัพเสด็จโดยเส้นบะหมี่อบแห้งผสมโปรตีนจากดักแด้ไหมอีรี่มีโปรตีนสูงกมากว่าร้อยละ 47 มีวิตามิน บี 2มากถึงร้อยละ 70 และไม่ใส่ผงชูรส มีเกลือน้อยกว่าร้อยละ 1 ขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรแล้ว ทั้งยังขอมาตรฐานโภชนาการอาหาร ส่วนเงินรางวัลที่ได้รับจะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปให้กับชุมชน
“ผงโปรตีนปรุงรสจากชิ้นส่วนของปลาผสมกาบา” ทีมแฟรี่แลนด์จรเข้ใหญ่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นิธิภัทร กมลสุข ตัวแทนทีม เล่าว่า ได้ทำผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนปรุงรสฯ เพื่อลดขยะที่เกิดจากเศษซากปลาที่เหลือในชุมชน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยการนำส่วนประกอบของปลาที่เหลือมาสกัดสารออกมาโดยเฉพาะโปรตีนผสมกับกาบาที่มีอยู่ในข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในชุมชน สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผงปรุงรสที่มีคุณค่าทางสารอาหาร โดยผงโปรตีนปรุงรสจากชิ้นส่วนของปลาผสมกาบา เป็นนวัต กรรมเพื่อสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย NCD ที่ต้องควบคุมในเรื่องการรับโซเดียมเข้าไปในร่างกาย และกลุ่มผู้รักสุขภาพ
“เปลือกและกะลามะพร้าวมาแปรรูปเป็นปุ๋ย” ทีมเชียงคานสตอรี่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดย ผศ.ณัชชา สมจันทร์ ตัวแทนทีมกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มะพร้าวแก้วของ อ.เชียงยืน เป็นสินค้าชุมชนที่ขึ้นชื่อมีใช้มะพร้าวน้ำหอมมาเป็นวัตถุดิบในแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 10,000 ลูก ปัญหาที่ตามมาคือ ขยะของชุมชนจากเปลือกมะพร้าวทิ้ง โดยผลกระทบที่พบคือ ทำให้ปลาในธรรมชาติตาย และดินเป็นกรด จากกรดแทนนิกที่มีอยู่ในเปลือกมะพร้าว ทีมฯ เข้าไปร่วมแก้ปัญหาด้วยการวิจัยพัฒนาเปลี่ยนขยะให้เป็นเงินด้วยการนำเปลือกมะพร้าวมาผลิตเป็นวัสดุในการปลูกพืชหรือที่เรียกว่า Coco Peat ที่ปลอดทั้งเชื้อโรคและศัตรูพืช เก็บกักความชื้นได้ดี มีคุณสมบัติทางเคมีเหมาะสมกับพืชใช้งานง่าย สะดวกต่อการเก็บรักษา ถือเป็นช่วยทั้งการเพิ่มมูลค่าของเปลือกมะพร้าว ทำให้ลดขยะในชุมชนจากเปลือกมะพร้าวได้ถึง 3,000 กิโลกรัมต่อเดือน ขณะเดียวกันช่วยทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายให้กับลูกค้าเป้าหมาย เช่น กลุ่มผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ไม่ต่ำกว่า เดือนละ 100,000 บาท
“การท่องเที่ยวสีเขียวเชิงสร้างสรรค์คลองปากปิด” ทีมการท่องเที่ยวสีเขียวฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ โดย อังศณา มะหะหมัด ตัวแทนทีม กล่าวว่า การท่องเที่ยวสีเขียวฯเป็นรูปแบบที่ใช้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมาช่วยแก้ปัญหาของชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว เช่น ร่วมทำกิจกรรมเก็บขยะและปลูกป่าร่วมกับคนในชุมชน พร้อมได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน ที่เกิดจากคนสองวัฒนธรรมไทยพุทธและไทยมุสลิม ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนและยังเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลกและสร้างความสุขให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ จะนำเงินรางวัลที่ได้รับไปต่อยอดการท่องเที่ยวของชุมชนจัดเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้การนำทรัพยากรที่อยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี