หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อโรคพุ่มพวง ซึ่งเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ที่อดีตศิลปินนักร้องชื่อดังของไทยได้ป่วยและเสียชีวิตลงด้วยโรคนี้ จึงเป็นที่รู้จักและถูกเรียกต่อๆ กันมา
ข้อมูลจาก พญ.สาธิมา วรรณเชษฐ์ อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม รพ.เวชธานี เปิดเผยว่า โรคเอสแอลอี (systemic lupus erythematosus) เป็นหนึ่งในโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (autoimmune disease) ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง พบได้บ่อยในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ คือ อายุประมาณ 15-45 ปี และเชื้อชาติที่พบได้บ่อย ได้แก่ อเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ฮิสแปนิก และเอเชีย
สาเหตุของการเกิดโรค
เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกกระตุ้นซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานส่งผลให้เกิดการผลิตสาร
ภูมิต้านทาน (antibody) ส่งผลให้เกิดการอักเสบและทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อเกิดขึ้น โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคนี้ ได้แก่
1.สิ่งแวดล้อม ได้แก่ บุหรี่ การติดเชื้อไวรัสบางชนิดรังสีอัลตราไวโอเลต การสัมผัสสารซิลิกา เป็นต้น
2.พันธุกรรม ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันหลายๆ ยีน โดยพบว่าหากมีญาติสายตรงมีประวัติเป็นโรคเอสแอลอี จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค 4-8% เมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป
3.เพศ โดยในเพศหญิงจะพบโรคเอสแอลอีได้บ่อยกว่าผู้ชายถึง10-15 เท่า
อาการและการวินิจฉัย
โรคเอสแอลอี มีอาการแสดงออกได้ในหลายๆ ระบบของร่างกายและมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนั้น ใน
ผู้ป่วยแต่ละรายอาจจะมีอาการ และอาการแสดงที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงมีความรุนแรงของโรคที่ไม่เท่ากัน โดยกลุ่มอาการที่เจอได้บ่อยได้แก่
l อาการเบื่ออาหารน้ำหนักลด
l ผื่นและภาวะไวต่อแสง
l แผลในปาก
l ปวดข้อ
l การอักเสบของผนังด้านนอกของเยื่อบุ ซึ่งได้แก่ เยื่อบุช่องปอดและเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
l สำหรับอาการที่เกี่ยวข้องกับไตเป็นอาการที่ก่อให้เกิดความรุนแรงที่เจอได้บ่อยที่สุด
แต่ระบบอื่นๆ ในร่างกายนอกจากที่กล่าวมาก็สามารถเป็นหนึ่งในอาการและอาการแสดงสำหรับโรคเอสแอลอีได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่า
สำหรับการวินิจฉัยในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจทางห้องปฎิบัติการที่สามารถวินิจฉัยโรคเอสแอลอีได้ทันทีอย่างแม่นยำ ดังนั้น การวินิจฉัยจึงต้องอาศัยการสังเกตอาการและอาการแสดงที่ทำให้สงสัยโรคเอสแอลอีร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดีที่เข้าได้ประกอบกัน หรือหากได้รับการตรวจชิ้นเนื้อที่ไตในผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการที่สงสัย และผลชิ้นเนื้อเข้าได้กับโรคเอสแอลอีก็สามารถที่จะวินิจฉัยโรคได้เช่นเดียวกัน
การรักษา
ในปัจจุบันไม่มีวิธีการรักษาโรคเอสแอลอีให้หายขาด ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาคือ การทำให้โรคเอสแอลอี สงบลง
หรือหากโรคไม่สงบอย่างน้อยอาการที่เป็นจะต้องไม่รุนแรง รวมถึงไม่มีภาวะโรคกำเริบในระหว่างทำการรักษา
การใช้ยากดภูมิคุ้มกันเป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยเอสแอลอีทุกราย โดยยากดภูมิคุ้มกันมีทั้งที่กดภูมิคุ้มกันน้อยไปจนถึงมาก มีทั้งที่เป็นแบบยากินและยาฉีดเข้าเส้นเลือด ซึ่งการเลือกชนิดของยากดภูมิขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเอสแอลอีในผู้ป่วยแต่ละราย โดยหากอาการที่แสดงออกของผู้ป่วยรุนแรงมาก เช่น มีภาวะไตวาย ก็จำเป็นที่ต้องได้ยาที่กดภูมิคุ้มกันมากรวมถึงอาจจะจำเป็นที่จะต้องได้เป็นรูปแบบของยาฉีด หรืออาจจะต้องมีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันหลายชนิดร่วมกัน แต่หากผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยเช่น ผื่น ปวดข้อ ยาที่ได้รับอาจเป็นเพียงยากดภูมิคุ้มกันที่ไม่มาก และอาจจะใช้เพียงแค่ชนิดเดียวก็เพียงพอ ในผู้ป่วยทุกรายในช่วงแรกที่โรคเอสแอลอีกำเริบอาจจะมียาที่ได้รับหลายขนาน แต่หากโรคสงบเป็นระยะเวลาหนึ่งก็สามารถที่จะลดปริมาณของยาลงได้ แต่จะสามารถลดยาได้มากน้อยขนาดไหน หรือหยุดยาได้หรือไม่ก็ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย
การดูแลตัวเองหากเป็นโรคเอสแอลอี
1.หลีกเลี่ยงแสงแดด โดยควรจะทาครีมกันแดดที่ปกป้องทั้ง UV-A และ UV-B รวมถึงครีมกันแดดควรจะมีค่า SPF อย่างน้อย 30 นอกจากนั้นอาจจะหลีกเลี่ยงออกข้างนอกในช่วงที่อากาศร้อนของวัน ได้แก่ช่วง 10.00-16.00 น. ถ้าเกิดสามารถทำได้ รวมถึงใส่เสื้อที่สามารถปกป้องแสงแดดได้
2.ลดโอกาสการติดเชื้อ โดยการดูแลสุขภาพฟันให้ถูกสุขอนามัย กินอาหารที่ปรุงสุกสะอาดควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบอาหารประเภทส้มตำ หรือยำ หลีกเลี่ยงบุคคลที่มีอาการเจ็บป่วย
3.ในผู้หญิงที่ต้องการคุมกำเนิด ควรหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาคุมชนิดกินที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจนในขนาดสูง และผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์หากอยู่ในระยะโรคกำเริบไม่ควรจะตั้งครรภ์ รวมถึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการคุมอาการของโรคเอสแอลอี คือ การรับประทานยาและเข้ารับการตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากอย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นอาการและอาการแสดงรวมถึงความรุนแรงของตัวโรคมีความหลากหลายในแต่ละบุคคล และในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่หายขาด การเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในขณะนั้นจึงสำคัญที่สุด
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี