พระธาตุหริภุญชัยในอดีต
ด้วยแคว้นหริภุญชัย เป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของไทย คือ จังหวัดลำพูน ในตำนานจามเทวีวงศ์ได้บันทึกไว้ว่า ฤๅษีวาสุเทพ เป็นผู้สร้างเมืองหริภุญชัยขึ้นในปี พ.ศ.๑๓๑๐ จากนั้นได้ทูลเชิญพระนางจามเทวี ธิดาแห่งเมืองละโว้ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย การเดินทางคราวนั้นพระนางฯได้นำพระภิกษุ นักปราชญ์ และช่างต่างๆ จากเมืองละโว้ไปด้วยจำนวนมาก พระนางฯได้ทำนุบำรุงและก่อสร้างศิลปกรรมจนเมืองหริภุญชัยเป็นแคว้นใหญ่ที่อุดมด้วยศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ต่อมาพระนางฯได้สร้างเขลางค์นคร คือเมืองลำปาง ขึ้นอีกเมืองหนึ่งเชื่อว่าสมัยนั้นได้มีการใช้ภาษามอญโบราณด้วยปรากฏมีจารึก ๗ หลัก ในหริภุญชัย หนังสือหมานซูของจีนสมัยราชวงศ์ถังนั้นได้กล่าวถึงนครหริภุญชัยไว้ว่าเป็น “อาณาจักรของพระราชินี (女王國หนี่ว์ หวัง กว๋อ) ซึ่งมีราชวงศ์สืบต่อครองเมืองมาจน พ.ศ.๑๘๒๔ พญามังรายมหาราช ผู้ครองแคว้นล้านนาได้ยกกำลังเข้าเอาเมืองหริภุญชัยจากพญายีบาได้แคว้นหริภุญชัยจึงสิ้นสุดลงหลังจากได้เจริญรุ่งเรืองมาได้ ๖๑๙ ปีมีเจ้าผู้ครองเมือง ๔๙ องค์ สำหรับสิ่งที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวหริภุญชัยในปัจจุบันนี้คือพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.๑๖๕๑ โดยเจ้าอทิตยราช ผู้ครองหริภุญชัย องค์ที่ ๓๓ ได้อุทิศวังให้สร้างเป็นวัดขึ้น โดยรื้อกำแพงชั้นนอกออกแล้วปั้นสิงห์ขนาดใหญ่คู่หนึ่งอยู่ที่ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก ส่วนรอบบริเวณวัดชั้นในได้ก่อกำแพงเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุหริภุญชัยเป็นกำแพงชั้นในอีกชั้นหนึ่ง ตรงกลางสร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ เป็นเจดีย์ฐานปัทม์ ฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ฐานเขียงกลมสามชั้นตั้งรับองค์ระฆังกลม มีฐานบัลลังก์ย่อเหลี่ยม ขนาดสูง ๒๕ วา ๒ ศอกฐานกว้าง ๑๒ วา ๒ ศอก ๑ คืบ มีสัตติบัญชร คือรั้วเหล็กและรั้วทองเหลืองล้อมองค์พระธาตุสองชั้น มีสำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอก ทิศเหนือและทิศใต้มีซุ้มกุมภัณฑ์ มีฉัตรประจำสี่มุม และหอคอย ๔ หอประจำทุกด้าน โดยอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานนั่งทุกหอ ด้านหน้าองค์พระธาตุมีวิหารหลวงหลังใหญ่มีระเบียงรอบด้านและมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่าซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖
เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในร.๕
ด้วยเป็นพระธาตุสำคัญและมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้สำหรับสักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ซึ่งในอดีตนั้น เจ้าผู้ครองนครทุกพระองค์ได้ทำการถวายประทีปโคมไฟบูชาองค์พระธาตุสำคัญแห่งนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.๑๖๕๒สืบต่อกันมาในราชวงศ์ผู้ครองนคร และหลังสุด พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาเยี่ยมพระญาติเจ้านายเมืองลำพูน ได้ถวายผ้าไตรและประทีปพันดวงบูชาพระธาตุ ต่อมากว่า ๑๐๐ ปีวัดจึงได้เริ่มฟื้นฟูการถวายประทีปโคมไฟบูชาองค์พระธาตุขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๕ ในโอกาสที่มีการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี และสืบต่อประเพณีอันดีงามแต่กาลก่อนจนเป็นงานสำคัญของคนทั้งเมือง โดยวัดพระธาตุหริภุญชัยและเทศบาลนครฯได้ร่วมกันจัดโคมให้ชาวพุทธและนักท่องเที่ยวกว่า ๒๒๐,๐๐๐ ดวง เป็นการสร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ ร่วมกันทำโคม ทำสวยดอก คือกรวยดอกไม้ ส่งให้วัดเพื่อให้พุทธศาสนิกชนนำไปบูชา โดยมีศิลปินพื้นบ้าน ทุกแขนงมาแสดงถวายเป็นพุทธบูชา จนเป็นงานที่สร้างบุญที่สร้างสีสันจากโคมไฟหลากสีนับแสนดวงซึ่งทำให้วัดต่างๆ และชุมชนทั้งเมืองได้ร่วมกันเตรียมพร้อมกับมาตรการการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (“NewNormal) จนถึงวันยี่เป็ง ในคืนวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้เป็นประธานพิธีถวายโคมแสนดวง “เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน” ณ บริเวณลานวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร และวันเดียวกันบริเวณอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี เทศบาลเมืองลำพูน ได้จัดงานเช่นเดียวกันตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๒๒.๐๐ น. ทำให้รอบเมืองเก่านั้นมีสีสันของโคมแสนดวงงดงามไปพร้อมกับการแสดงทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาและการสืบทอดประเพณีที่ดีงามของเป็นเมืองสร้างสรรค์และการสร้างรายได้โดยชุมชนร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจรายได้จากต้นทุนทางวัฒนธรรมโคมไปแสนดวงหนึ่งเดียวไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าและการบริการ ที่หวังว่าในประเพณีเดือนยี่เป็งนี้จะเป็นวัฒนธรรมร่วมในอาเซียนที่ให้ชาวโลกรู้จักและมาเที่ยวกันมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี