อาการปวดแสบในท้องเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย สาเหตุมักเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร เช่น อาหารรสจัดเกินไป รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ส่วนสาเหตุอื่นที่พบได้บ่อย เช่น ความเครียดรับประทานเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีผลกระตุ้นการหลั่งกรดมากเกินไป รับประทานยาที่มีผลระคายเคืองกระเพาะอาหารแล้วไม่รับประทานหลังอาหารทันทีตามที่ระบุไว้บนฉลากยา เป็นต้น และมีข้อเตือนใจสำหรับผู้ที่มีอาการปวดแสบท้องบ่อยๆ เป็นๆ หายๆ อาจจะต้องคิดถึงเรื่องแผลในกระเพาะอาหารด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการปวดแสบท้อง การรักษาขั้นต้นคือใช้ยาลดกรด ซึ่งยาจะทำหน้าที่ตรงไปตรงมาตามชื่อคือ ลดกรดที่มากเกินไปในกระเพาะอาหารที่น่าจะเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดแสบท้อง ตัวยาสำคัญของยาลดกรดคือสารที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง ตัวที่ได้รับความนิยมในการใช้งาน เช่น aluminum hydroxide เป็นสูตรยาผสมกับ magnesium hydroxide, magnesium carbonate ส่วนยาลดกรดที่อาจจะเป็นสารเดี่ยวๆเช่น calcium carbonate, sodium bicarbonate เป็นต้น
นอกจากสารออกฤทธิ์สำคัญในการลดกรดแล้ว ยาลดกรดที่เป็นสูตรผสมทั้งหลายก็จะเติมตัวยาช่วยขับลมบ้าง สารที่ทำให้เกิดเจลคลุมอาหารที่ถูกย่อยแล้วในกระเพาะอาหารเพื่อลดการระคายเคืองบ้าง ซึ่งสารเหล่านี้โดยตัวมันเองอาจไม่ได้ช่วยลดกรด แต่ช่วยบรรเทาอาการที่มักเกิดร่วมกับอาการปวดแสบท้องจากภาวะกรดเกิน ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของยาเพิ่มขึ้น และเพิ่มความพึงพอใจของผู้ใช้ยา
ในท้องตลาดมียาลดกรดหลายรูปแบบ เช่น ยาผงที่ต้องละลายน้ำก่อนใช้ ยาน้ำแขวนตะกอน ยาเม็ดเคี้ยวก่อนกลืน หรือยาเม็ดที่ไม่ต้องเคี้ยวก่อนกลืน ด้วยความที่ยาลดกรดบางอย่างจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ผู้ป่วยเลือกซื้อใช้เองได้ ดังนั้น ผู้เลือกยาอาจจะพิจารณาจากความสะดวกในการใช้งานเป็นหลัก เช่น ยาน้ำแม้ว่าจะออกฤทธิ์เร็ว เพราะไม่ต้องรอเวลาแตกตัวเหมือนยาเม็ด แต่มีขนาดของขวดใหญ่ทำให้พกพาไม่สะดวก และอาจหกเลอะเทอะได้ ส่วนยาเม็ด แม้ว่าต้องเคี้ยวเพื่อช่วยให้แตกตัวเร็วขึ้น แถมยังพกพาสะดวกกว่า หยิบใช้ได้ง่าย แต่ก็ไม่ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วเท่ายาน้ำ ยาผงก็พกพาง่าย แต่เมื่อจะใช้ก็ต้องหาแก้วหาน้ำมาเพื่อผสมยา ขณะเดียวกันในปัจจุบันมีผู้ผลิตยาจัดทำยาน้ำบรรจุแบบซองสำหรับใช้ครั้งเดียวออกมาจำหน่ายแล้ว ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อเทียบราคาแล้ว ราคาแพงกว่าซื้อแบบขวดใหญ่ ดังนั้นการเลือกยาลดกรดที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายก็อาจจะมีหลายปัจจัยให้คำนึงถึง
ยาลดกรดอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผู้ใช้ยาถามซื้อบ่อยที่ร้านขายยา คือยาลดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร กลุ่มที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ proton pump inhibitor หรือ PPI ชื่อตัวยาสำคัญที่หลายท่านอาจจะมีประสบการณ์เคยใช้ เช่น omeprazole, lanzoprazole เป็นต้น
ยากลุ่มนี้นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ที่สำคัญคือ ต้องกินก่อนอาหารประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง และมักใช้ต่อเนื่องเป็นเดือน เพื่อให้แผลในกระเพาะอาหารหายสนิท หรืออีกกรณีหนึ่งที่พบบ่อยคือ ใช้ยานี้เพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยากลุ่มที่มีผลข้างเคียงระคายเคืองกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ต้องผ่านการซักประวัติและวินิจฉัยหรือพิจารณาความจำเป็นและเหมาะสมก่อนการใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และคุ้มค่า
โดยสรุป ยาลดกรดจัดเป็นยาบรรเทาอาการ โดยทั่วไปเป็นยาที่ใช้ได้อย่างค่อนข้างปลอดภัย ถ้าผู้ใช้ยาไม่ได้มีโรคประจำตัวที่ต้องระวังหรือห้ามใช้ยาลดกรดบางชนิด
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดแสบท้องเนื่องจากกรดเกินเป็นบ่อยเกินไป หรือเป็นๆ หายๆ จนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันติดต่อกันเกิน 1 เดือน แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเล็กๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่หรือร้ายแรงในอนาคต
รศ. ภญ. ดร. ณัฏฐดา อารีเปี่ยม
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี