เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเภสัชกรต้องย้ำว่า ยานี้กินก่อนหรือหลังอาหาร และยังย้ำอีกว่ายาชนิดนี้ต้องกินก่อนหรือหลังอาหารเป็นเวลานานกี่นาที หรือกี่ชั่วโมง หรือทำไมยานี้ต้องกินหลังอาหารทั้งที
ยาส่วนใหญ่นั้น กินได้โดยไม่จำเป็นต้องสนใจว่าก่อนหรือหลังอาหาร หลังจากเรากินยาเข้าไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือยาจะแตกตัวในกระเพาะอาหารแล้วดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยทั่วไปกระบวนการที่เกิดขึ้นจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แล้วยาจะออกฤทธิ์ตามกลไกของตัวเอง ส่วนยาแต่ละตัวต้องกินวันละกี่ครั้ง ก็ขึ้นกับระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ ถ้ายาออกฤทธิ์ได้ 24 ชั่วโมง ก็กินแค่วันละครั้งเท่านั้น ถ้าออกฤทธิ์สั้นกว่านั้น เช่น 6 ชั่วโมง ก็อาจจะต้องกินถี่ขึ้น เช่น วันละ 4 ครั้ง เป็นต้น
แต่ด้วยแนวทางการใช้ชีวิตของคนปกติที่กินอาหารวันละ 3 มื้อ ดังนั้นเมื่อสั่งยาให้กิน ก็จึงนิยมให้กินสอดคล้องกับมื้ออาหาร เพื่อจะได้ไม่ลืมกินยา เช่น ยาลดความดันโลหิต ระยะเวลาการออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมง ก็ให้กินวันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้าข้อดีคือผู้ใช้ยาก็จะไม่ลืมกิน และเวลาที่กินยาก็จะสม่ำเสมอเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน แต่บางคนที่ไม่ได้กินอาหารเช้าก็อาจจะกังวลใจว่าจะกินยาได้หรือไม่ สุดท้ายเลยต้องวุ่นวายปรับพฤติกรรมตัวเองให้ต้องกินอาหารเช้า ทั้งที่ไม่จำเป็น เพราะถ้าอาหารไม่ได้มีผลอะไรกับการดูดซึมหรือออกฤทธิ์ของยา ผู้ป่วยตื่นมาแล้วกินยาเลยก็ได้ แค่ขอให้เป็นเวลาช่วงเดิมทุกวัน เพื่อให้ระดับยาในเลือดคงที่ ส่วนยาที่ต้องกินวันละมากกว่า 1 มื้อ ก็ดูว่าต้องกินวันละกี่ครั้ง เช่น ถ้าต้องกินวันละ 2 ครั้ง โดยส่วนใหญ่กินห่างกันประมาณ 10-12 ชั่งโมง ถ้ากินมื้อเช้า 8 โมงเช้า มื้อเย็นก็ควรเป็นประมาณ 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม เป็นต้น
แต่ยาบางชนิดเป็นยาที่ต้องเข้มงวดกับการกินก่อนหรือหลังอาหาร อันแรกคือการกินยาก่อนอาหาร ส่วนใหญ่ยาที่ระบุให้กินก่อนอาหาร จะมีเหตุผลเกี่ยวกับการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย ยาบางชนิดอาหารมีผลรบกวนการดูดซึมยา จึงควรกินยาก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยมักจะลืมทานยาก่อนอาหารบ่อยกว่าการกินยาหลังอาหาร ถ้าต้องกินยาก่อนอาหารมื้อเช้ามื้อเดียวยังพอไหว เพราะตื่นมาก็กินยาได้เลย แต่ต้องกิน 3 มื้อผู้ป่วยต้องคอยตั้งเวลาเตือนตัวเองให้ดี แต่ถ้าเผลอตัวกินข้าวไปก่อนกินยา ยาแต่ละชนิดก็แก้ไม่เหมือนกัน ยาบางชนิดหากลืมกิน อาจต้องรอท้องว่างรอบต่อไป เช่น ลืมกินยาก่อนอาหารเช้า ก็อาจจะต้องเลื่อนไปกินก่อนอาหารกลางวัน เป็นต้น
อีกเหตุผลที่พบบ่อยของการกินยาก่อนอาหารคือต้องการให้ยาออกฤทธิ์ได้ทันหลังจากกินอาหารลงแล้ว เช่น ยาเบาหวาน ให้กินก่อนอาหาร 15-30 นาที เพื่อให้แตกตัวและดูดซึมไปก่อน เมื่อผู้ป่วยกินอาหารแล้ว ยาจะได้ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ทันเวลา เป็นต้น
ยาอีกประเภทหนึ่งที่พบบ่อยคือ ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะ ที่ต้องกินตอนท้องว่าง ก่อนมื้ออาหาร
ส่วนการกินยาหลังอาหารมักจะเป็นยาที่ไม่มีปัญหาเรื่องการดูดซึม การกินยาประเภทนี้มักไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่ในกรณีที่ฉลากระบุให้รับประทานหลังอาหารทันที ยาเหล่านี้มักจะมีปัญหาทำให้มีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร กลุ่มยาที่มีเงื่อนไขแบบนี้มักเป็นยาลดการอักเสบบรรเทาปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือที่เรียกว่า ยากลุ่ม NSAIDs ซึ่งใช้บ่อยเมื่อมีการบาดเจ็บ ปวด หรืออักเสบของข้อและกล้ามเนื้อ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่พบได้ไม่บ่อยนักเวลาที่ฉลากระบุให้รับประทานยาหลังอาหารทันที เพราะว่าอาหารช่วยทำให้การดูดซึมยาเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันที โดยพบในยาต้านเชื้อราบางชนิด
แนวทางแก้ปัญหาลืมกินยาหลังอาหารทันที ไม่ค่อยยากเท่าลืมกินยาก่อนอาหาร นั่นคือ การกินอะไรรองท้องสักเล็กน้อยก่อนกินยา ส่วนยาที่ไม่ได้ระบุว่าต้องกินหลังอาหารทันที ส่วนใหญ่ก็คือกินก่อนหรือหลังอาหารนานเท่าไรก็ได้ท้องว่างหรือไม่ว่างก็ไม่มีผลอะไรกับการดูดซึมหรือออกฤทธิ์ของยาทั้งสิ้น ถ้าต้องกินยาหลังอาหาร แล้วทำให้ชีวิตลำบากก็กินยาตามเวลาให้ได้ เช่น ยาเช้า กินเวลา 8 นาฬิกา ยาเช้า-เย็นก็กิน 6 โมงเย็น กับ 2 ทุ่ม เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการกินยาก่อนหรือหลังอาหาร มีเหตุผลสำคัญ และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ยา และลดอาการไม่พึงประสงค์ของการใช้ยา
อย่างไรก็ตาม ถ้าวิธีการกินยาทำให้ผู้ใช้ยาดำเนินชีวิตประจำวันได้ยากขึ้น หรือไม่สามารถปฏิบัติตามได้ การทราบเหตุผลก็อาจจะทำให้ปรับการดำเนินชีวิตประจำวันกับการใช้ยาให้เข้ากันมากยิ่งขึ้นได้ และหากรู้สึกว่าการใช้ยาทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยากเกินไป ผู้ใช้ยาสามารถปรึกษาได้ทั้งเภสัชกรและแพทย์เพื่อเลือกยาที่เข้ากับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยา
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม
และ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี