วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีองค์การอนามัยโลกกำหนดเป็น“วันเอดส์โลก” (World AIDS Day)โดยปี 2565 นี้ UNAIDS ชูประเด็นรณรงค์คือ “Equalize: ทำให้เท่าเทียม”เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา UNAIDS ชูประเด็นรณรงค์คือ “Equalize: ทำให้เท่าเทียม”เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ การยอมรับ และเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก โดยใช้โบแดงเป็นสัญลักษณ์สากล ที่แสดงถึงการตระหนักรู้ การสนับสนุนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งยังเป็นการย้ำเตือนว่า เอชไอวี/เอดส์ยังคงอยู่
ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ. 2560-2573มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ไม่ติดไม่ตาย ไม่ตีตรา โดยมีเป้าหมายลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่ให้เกิน 1,000 คนต่อปี ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ไม่เกิน 4,000 รายต่อปี และลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลง เหลือไม่เกินร้อยละ 10 จากการคาดประมาณสถานการณ์เอชไอวี/เอดส์
ประเทศไทยในปี 2564 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ประมาณ 6,500 คน/ปี (เฉลี่ย 18 คน/วัน) ผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 9,300 ราย/ปี (เฉลี่ย 26 ราย/วัน) และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ ประมาณ 520,000 คน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ ร้อยละ 97 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน นอกจากนี้จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (Multiple Indicator Cluster Survey: MICS) ในปี 2562 พบว่า คนไทยมีทัศนคติการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 26.7 ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ.2573 ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ ทั้งด้านการป้องกันและการดูแลรักษา
ด้าน นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนสังคมไทยภายใต้แนวคิด “Equalize : ทำให้เท่าเทียม”ได้มุ่งเน้นการจัดบริการเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการป้องกัน การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และบริการรักษาด้วยยาต้านไวรัส จนสามารถกดไวรัสได้สำเร็จ โดยการสร้างความตระหนักและความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “เอดส์เป็นเรื่องปกติ” ดังนั้น ทุกบริการที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวี/เอดส์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงและการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกัน การกล้าที่จะตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี รวมไปถึงการเข้ารับบริการดูแลรักษาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างเท่าเทียม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
ทั้งนี้ การทำให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งผู้รับบริการ ผู้จัดบริการ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมไปถึงความร่วมมือจากองค์กรทุกระดับ ชุมชน สังคม และนโยบายระดับประเทศ อันจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และได้รับบริการที่ทั่วถึง เท่าเทียม ครอบคลุม และเหมาะสม นำไปสู่ความเท่าเทียมเพื่อมุ่งสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ภายในปี 2573 ต่อไป สำหรับประชาชนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดข้อมูลและสื่อต้นแบบได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรคddc.moph.go.th/das/ พร้อมบริการปรึกษาปัญหาได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค1422
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี