พิพิธภัณฑ์แห่งชาติบ้านเชียง
ด้วยชื่อเสียงของ “บ้านเชียง” จากเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปแบบและลวดลายงดงามเฉพาะ คือเป็น ภาชนะดินเผาที่มีรูปทรงของการปั้นหลายแบบและมีการเขียนลายเป็นเส้นโค้ง ลายเชือกทาบ ลายก้านขดก้นหอย ลายรูปเรขาคณิต ซึ่งเป็นลายเขียนแบบแรกได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกและได้ขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” Geographical Indication (GI)โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น ทำให้เกิดความสนใจชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ขึ้น ด้วยเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์พวน ที่อพยพจากเมืองเชียงขวาง ของประเทศลาวมาตั้งถิ่นฐานเมื่อครั้ง พ.ศ.๒๓๒๒-๒๓๓๕ สมัยหลังปรากฏชื่อผู้นำครอบครัว ๔ คน คือ ท้าวเชียงใหญ่ (เฒ่าดอนบุญมา) ท้าวเชียงบุญมา (ท้าวศรีสุวรรณช่างคำ) ท้าวเชียงคะ และ ท้าวเชียงพิณ นำผู้คนมาตั้งบ้านเรือนที่ดงตาว จึงเป็นเหตุให้ถูกเรียกว่าบ้านเชียง (ทั้งสี่) และทำให้ชาติพันธุ์พวนรุ่นหลังต่างพากันมาอยู่มากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ช่วง พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๑ การสร้างบ้านแปงเมืองครั้งแรกได้มีการถากถางดงตาลและป่าละเมาะจัดเป็นคุ้มต่างๆ ๑๐ คุ้มได้แก่ คุ้มดอนดู่ คุ้มส้างโพธิ์ คุ้มเดิ่นตาเสือ คุ้มนาดำ คุ้มโนนสองสลึง คุ้มป่าติ้ว คุ้มนอก คุ้มโนนสุดซา(คุ้มศรีเชียงใหม่) คุ้มบึง (คุ้มหัวบึง)และคุ้มใต้ปัจจุบันได้เป็นหมู่บ้าน ๑๐ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑, ๒, ๔, ๖,๘, ๙, ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๑๕ โดยเฉพาะมีศูนย์กลางบริหารจัดการของชุมชนอยู่ที่หมู่ ๙ บ้านศรีเชียงใหม่เป็นเทศบาลตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ได้มีการค้นพบภาชนะดินเผาลายบ้านเชียงขึ้นที่วัดโพธิ์ศรี ซึ่งต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยองค์การยูเนสโก
พิธีเปิดชุมชนต้นแบบยลวิถี
ดังนั้น การมีชื่อเสียงของบ้านเชียง จึงทำให้ทุกคนในชุมชนได้ร่วมกันสร้างกิจกรรมนำ “บวร”มารักษาวัฒนธรรมประเพณีของตน โดยจัดงานพิธีทางศาสนาใส่บาตรยามเช้า ถนนสายบุญ ทุกวันอาทิตย์ที่ ๑ และที่ ๓ ของเดือน ณ ลานวัฒนธรรม มีการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ความช่วยเหลือต่อกันจนสามารถสร้างรายได้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง จากการเริ่มต้นปั้นหม้อดินเผาเขียนลายบ้านเชียง ซึ่งมีงานเฉลิมฉลองมรดกโลกบ้านเชียงทุกปีแล้ว ยังฟื้นฟูอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากวิถีไทพวนบ้านเชียงให้เกิดขึ้น คือภาษาใช้ไทพวนการแต่งกายแบบโบราณด้วยผ้าฝ้ายย้อมและทอขึ้นเอง ซึ่งนิยมใช้สีครามหรือสีดำ เป็นเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม ผ่าหน้า ผูกเชือก แขนสามส่วน นุ่งกางเกงครึ่งแข้ง(เรียกว่า “โซ่ง”) ยาวปิดเข่าเล็กน้อย มีผ้าขาวม้าพาดบ่าและคาดเอว ส่วนผู้หญิง สวมใส่ผ้าถุงและเสื้อแขนยาวผ้าฝ้ายย้อมครามเช่นเดียวกัน ต่อมาได้มีการพัฒนาลวดลายโดยใช้ลายจากภาชนะบ้านเชียง และมีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี กลุ่มโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม กลุ่มฟ้อนรำ กลุ่มอาหารแปรรูปกลุ่มทอผ้าย้อมคราม กลุ่มจักสาน กลุ่มมัคคุเทศก์กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มทำเกษตรผสมผสานไปพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกลุ่มต่างๆ โดยนำองค์ความรู้จากทุนทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเป็นวิถีลาวพวนมาสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน เช่น รำฟ้อนไทพวนแต่งกายด้วยชุดผ้าฝ้ายย้อมครามเสื้อแขนกระบอก ผ้าถุงยาวห่มสไบสีแดงและกลองยาวไทพวนชื่อวงสิบสามแสนที่สร้างความสนุกสนานแบบอีสานนอกจากนี้ยังมี “บ้านไทพวน” ดั้งเดิม และการจัดเมนูอาหาร “ข้าวผัดข่าแจ่วหอมหวานบ้านเชียง”ให้เป็นอาหารพื้นบ้านและการทอผ้าที่พัฒนาแบบลายสู่สายตาโลก เป็นต้น นับว่าเป็นชุมชนที่มีการจัดเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่น่าสนใจ ทำให้ชุมชนบ้านเชียงนั้นได้รับการคัดเลือกเป็นชุมชนต้นแบบของกระทรวงวัฒนธรรม โดย นางยุพาทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและคณะได้ไปทำพิธีเปิดชุมชนแห่งนี้ และสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อส่งเสริมแหล่งมรดกโลกที่มี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จัดแสดงวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ พร้อมนิทรรศการทางประวัติศาสตร์หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในที่เป็น พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกของไทย ด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี