สมเด็จพระเจ้าปราสาททองคือพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ 24 เสด็จขึ้นทรงราชย์พ.ศ.2172-2199 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทพระนครหลวงขึ้นบนพระราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ณ ริมแม่น้ำป่าสัก เมื่อ พ.ศ. 2174 โดยทรงโปรดให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทนครธมมาจากกรุงกัมพุช(ดินแดนแว่นแคว้นของเขมร) เนื่องจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยามีชัยเหนือกรุงกัมพุช โดยทรงตั้งพระราชหฤทัยให้ปราสาทพระนครหลวงเป็นที่ประทับในยามเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท เมืองสระบุรี
นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าการที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงให้ถอดแบบปราสาทนครธมมาสร้างเป็นปราสาทพระนครหลวง หรือปราสาทนครหลวง ด้วยเหตุที่ทรงเลื่อมใสในลัทธิเทวราชาแบบขอม ที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือเทพเจ้าชั้นสูงที่จุติลงมาบนโลกมนุษย์
นอกจากนี้ ตามหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏยังพบว่า ในรัชสมัยของพระองค์นั้น ทรงมีพระราชนิยมสถาปัตยกรรมแบบขอมหลายแห่ง เช่น วัดไชยวัฒนาราม (สร้างก่อนปราสาทพระนครหลวง) พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ พระที่นั่งองค์นี้ทรงให้ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2175 โดยครั้งแรกเมื่อสร้าง ได้พระราชทานชื่อว่า ปราสาทคิริยโรธรมพาพิมาน
ย้อนกลับไปกล่าวเรื่องปราสาทพระนครหลวงหรือปราสาทนครหลวงเมื่อยุคสิ้นแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงศรีฯ แก่กองทัพของพม่า ในรัชสมัยพระเจ้ามังระ เมื่อ พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาก็กลายเป็นพระนครร้าง ขณะเดียวกันปราสาทพระนครหลวงที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงก็ถูกปล่อยร้าง จนกระทั่ง พ.ศ. 2352 ก็ได้ถูกแปรสภาพเป็นวัด มีการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง4 รอยไว้ ณ ชั้นบนของปราสาท แล้วสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชดำริให้บูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทแห่งนี้ แต่ทว่าเมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าบนยอดปราสาทมีรอยพระพุทธบาทอยู่แล้ว จึงไม่ทรงให้รื้อออก เพราะเป็นเรื่องไม่บังควร ดังนั้นแผนการบูรณปฏิสังขรณ์จึงหยุดลง แต่ทรงให้ก่อสร้างส่วนบนของปราสาทเป็นระเบียงคดสถาปัตยกรรมแบบทรงโค้ง (arch) และมีหลักฐานเพิ่มเติมว่ามณฑปจตุรมุขสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังมีข้อความปรากฏที่หน้าบันพระมณฑปว่า มณฑปพระนครหลวง ปฏิสังขรณ์ขึ้นเมื่อปีรัตนโกสินทร์ศก 122 ซึ่งเป็นปีที่ตรงกับรัชสมัย รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ปราสาทนครหลวงที่ยังปรากฏในปัจจุบันมีทั้งหมดสามชั้น ซึ่งเป็นไปตามคติการสร้างปราสาทหินแบบเขมรหรือขอม สิ่งที่ยังหลงเหลือปรากฏอีกอย่างก็คือปรางค์ทิศปรางค์ราย (ปรางค์มุม) ยังคงมีปรางค์องค์หนึ่งหลงเหลืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ในขณะที่ปรางค์ส่วนใหญ่หลงเหลือเพียงเศษแค่ส่วนผนังเท่านั้น แต่ส่วนยอดปรางค์พังทลายไปแล้ว
สิ่งสำคัญอีกอย่างบนบริเวณยอดปราสาทคือ หน้าพระมณฑปมีรูปปั่้นพระพิฆเณศประทับบนฐานหัวกะโหลกมนุษย์ ซึ่งพระพิฆเณศองค์นี้มีลักษณะเช่นเดียวกับพระพิฆเณศศิลปะแบบชวาตะวันออก ซึ่งจันทิสิงหาส่าหรี สร้างขึ้นในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 ซึ่งพระพิฆเณศองค์ที่หน้าพระมณฑปนั้นเป็นองค์จำลอง ส่วนองค์จริงเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยพระพิฆเณศองค์จริงนั้นผู้สำเร็จราชการชาวดัทช์ที่ดูแลชวาได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อพ.ศ. 2539
ส่วนรอยพุทธบาทจำลองบนยอดปราสาททำเป็นรอยพระพุทธบาทสี่รอยซ้อนกัน โดยมีรอยใหญ่สุดแล้วซ้อนด้วยรอยเล็กๆ ไว้บนรอยเดียวกัน
อ่านเรื่องราวโดยสังเขปเกี่ยวกับปราสาทพระนครหลวงจบแล้ว หากคุณๆ ต้องการไปเที่ยวชมและกราบนมัสการโบราณสถานแห่งนี้และต้องการไปเป็นหมู่คณะ (เล็กๆ) นำทัวร์โดยMr. Flower หนังสือพิมพ์แนวหน้า โปรดติดต่อที่หมายเลข 091-7233615
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี