เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการมาถึงสยามของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” นี้ สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน นำเสนอนิทรรศการ “100 ปี ศิลป์ สู่สยาม ภาพถ่าย ผลงาน ชีวิต แนวคิด คำสอน” นำเสนอเรื่องราวชีวิตและผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผ่านภาพถ่ายและเอกสารทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าและหาชมได้ยากยิ่งภายในนิทรรศการนำเสนอภาพถ่ายหลายยุคหลายสมัยของศาสตราจารย์ศิลป์ รวมไปถึงภาพถ่ายพอร์ตเทรตและภาพถ่ายกับลูกศิษย์ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงต้นแบบการสร้างประติมากรรม ต้นฉบับเอกสารต่างๆ ทั้งเอกสารสัญญารับราชการและร่างการสอน อีกทั้งยังนำเสนอมุมมองวิถีชีวิตส่วนตัวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีอีกมากมาย ทั้งวิถีชีวิตในงานราชการ การเป็นอาจารย์ และคำสอนที่ยังคงกึกก้องอยู่ในหัวใจของลูกศิษย์และชนรุ่นหลัง
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือโปรเฟสเซอร์คอร์ราโด เฟโรชิ (Professor Corrado Feroci) เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งในขณะนั้นสยามมีนโยบายขอให้รัฐบาลประเทศอิตาลีคัดเลือกประติมากรผู้มีฝีมือมารับราชการปฏิบัติงานหล่อเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ชาวสยามให้มีความรู้ทางด้านศิลปะทัดเทียมกับชาวตะวันตก รัฐบาลอิตาลีจึงได้เสนอโปรเฟสเซอร์คอร์ราโด เฟโรชิ ผู้มีความรอบรู้ด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมมารับราชการที่สยาม
14 มกราคม พ.ศ. 2466 โปรเฟสเซอร์คอร์ราโด เฟโรชิ ได้เดินทางมาถึงสยามเพื่อรับราชการที่กรมศิลปากร กระทรวงวัง ในตำแหน่งช่างปั้น และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านก็ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมด้านการศึกษา การอนุรักษ์ และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมของสยามอย่างต่อเนื่อง โดยบทบาทสำคัญคือการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ตลอดระยะเวลาในการทำงานนั้น โปรเฟสเซอร์คอร์ราโด เฟโรชิ ซึ่งเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นที่รักของลูกศิษย์เสมอมา เพราะท่านไม่เพียงสอนวิชาศิลปะทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู แต่ยังถ่ายทอดการใช้ชีวิตให้กับลูกศิษย์อีกด้วย ทำให้ลูกศิษย์หลายต่อหลายคนของท่านพัฒนาจนกลายเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมที่สร้างคุณประโยชน์แก่วงการศิลปะไทยมากมาย อาทิ ช่วง มูลพินิจ, ลาวัณย์ อุปอินทร์, ชวลิต เสริมปรุงสุข จึงเป็นที่มาของการที่ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย” ในเวลาต่อมา
นิทรรศการ “100 ปี ศิลป์ สู่สยาม ภาพถ่าย ผลงาน ชีวิต แนวคิด คำสอน” จะนำพาผู้ชมให้ได้รู้จักศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในแง่มุมที่หลายคนอาจไม่เคยได้รู้จักและสร้างเสริมแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมโดยเฉพาะศิลปินไทยเพื่อให้ได้สืบสานเจตนารมณ์ในการทำงานศิลปะต่อไป ดังคำของศาสตราจาร์ศิลป์ ที่ว่า...“ถ้าฉันตายนายคิดถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องทำอะไรนายทำงาน”
นิทรรศการเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ RCB Photographers Gallery 1 ชั้น 2 ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี