ด้วยพระบารมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และความเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของลวดลาย “แพรวากาฬสินธุ์” ผ้าไหมทอมรดกทางหัตถกรรมดั้งเดิมของชาวภูไท อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ จึงได้ถูกขนาดนามไห้เป็น “ราชินีแห่งผ้าไหม” มายาวนานไม่ต่ำกว่า 40 ปี
นายวิทยา วัฒนวิเชียร สหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า นับเป็นเวลาร่วม 40 ปี ที่แพรวา
กาฬสินธุ์ มรดกหัตถกรรมดั้งเดิมแต่ครั้งบรรพบุรุษของชาวภูไทที่มีการถ่ายทอดสืบสานวัฒนธรรมมายาวนานกว่า 300 ปีและปัจจุบันได้ถูกขนานนามให้เป็น “ราชินีแห่งผ้าไหม” สืบเนื่องจากพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทอดพระเนตรเห็นความงาม และคุณค่าแห่งศิลปะของลวดลายผ้าไหม ที่ชาวภูไท บ้านโพนอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แต่งกายด้วยการห่มผ้าเบี่ยง หรือผ้าทอแบบสไบเฉียง มารอรับเสด็จเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอคำม่วง ในปี พ.ศ.2520 และได้ทรงโปรดให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งจากการที่ทรงมีพระราชดำริ ให้นำผ้าทอไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์อย่างงดงาม วิจิตรบรรจง ส่งผลให้ผ้าแพรวาจึงเป็นที่ประจักษ์สู่สายตาสาธารณชน และนำชื่อเสียงที่เลื่องลือถึงความงดงามของผ้าแพรวา มาสู่เมืองกาฬสินธุ์
“แพรวา” หมายถึง ผืนผ้าจากการทอเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้แปรสภาพ มีความยาว 1 วา หรือหนึ่งช่วงแขนของ
คนทอ ชนภูไทมักนิยมใช้เป็นผ้าสไบเฉียงคลุมไหล่ซ้ายทับชุดประจำถิ่นโดดเด่นด้วยโทนสีสดดำ-แดง ใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ และด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าแพรวา ที่มีความงดงามและความประณีตในการทอ มีลักษณะเด่นด้านลวดลาย สีสัน ความมีระเบียบ ความเรียบและความเงางามของผืนผ้า ซึ่งผ้าแพรวาจะทอจากเส้นใยไหม ที่มีลักษณะลวดลายผสมกันระหว่างลายขิดและจกบนผืนผ้า ในผ้าแพรวาผืนหนึ่งจะมีอยู่ประมาณ 11 หรือ 12 ลาย ใช้เส้นไหมในการทอตั้งแต่ 2-9 สี สอดสลับในแต่ละลายแต่ละแถว ลวดลายที่ปรากฏจะประณีตเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งผืนผ้า พร้อมบรรจุลวดลายดั้งเดิมตามความเชื่อทางวัฒนธรรม ประเพณี หรือสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งต้นไม้ ใบไม้ พฤติกรรมคน สัตว์ สิ่งของเครื่องใช้แล้วเกิดแรงบันดาลใจนำมาสร้างสรรค์ลวดลายการทอผ้าไหมเพื่อสะท้อนถึงวิถีชีวิตผู้คนภูไท ได้มากกว่า 100 ลวดลายนั่นจึงทำให้การทอผ้าแพรวาเป็นภูมิปัญญาชั้นสูงจนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชินีแห่งไหม”
“ปัจจุบันผ้าแพรวาของชาวภูไทถักทอขึ้นเพื่อใช้เป็นผ้าสไบหรือผ้าคลุมไหล่ทับชุดพื้นเมือง มีการประยุกต์เพื่อให้เหมาะกับสภาพการของเศรษฐกิจและความต้องการของตลาด ด้านลวดลายที่ถูกถักทอด้วยมือบนผืนผ้าไหม จะมาจากวิถีชีวิตของชนภูไท มีวิถีการผลิตที่สามารถค้นคว้าได้ในทางภูมิศาสตร์จนได้รับมาตรฐาน “จีไอ” (GI) คือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาเป็นเครื่องรับประกันความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจแก่ผู้บริโภคในมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไหม”
นายวิทยากล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนกาฬสินธุ์ จำกัด ซึ่งยังอยู่ใน “โครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” มีสมาชิกกว่า 753 คน ครอบคลุมใน4 อำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้ดูแลรวบรวมและจัดจำหน่ายผ้าไหมแพรวา ตามวัตถุประสงค์หลักของสหกรณ์ ที่ต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามวิถีแห่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของคนภูไท การสาธิตการผลิตผ้าไหมแพรวา และเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และศูนย์จำหน่ายสินค้าโดยเฉพาะผ้าไหมแพรวา ให้สมกับที่ผ้าไหมแพรวา ได้เป็น “ราชินีแห่งผ้าไหม”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี