ยามเช้าบนยอดเขารังเกียบ
อาทิตย์นี้ตามรอยชุมชนต้นแบบไปที่บ้านทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบของกระทรวงวัฒนธรรมที่นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและคณะได้ไปทำพิธีเปิดและแสดงความยินดีในการเป็นชุมชนหนึ่งในจำนวน ๑๐ แห่งทั่วประเทศของปี พ.ศ. ๒๕๖๕ เดิมชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา เรียกว่า “บ้านที่พลู” เนื่องจากเป็นสวนพลูที่ผู้คนจากไทรบุรีกลุ่มแรกได้ปลูกพลูไว้กินกับหมาก ต่อมาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของบริเวณวัดทรายขาวจึงเรียก “บ้านทรายขาวออก” ตามชื่อทิศอยู่ระยะหนึ่ง จากสภาพที่เป็นป่าและทุ่งหญ้านั้นได้กลายเป็นสวนยางพารา สวนผลไม้ และนาข้าวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ติดกับเชิงเขาสันกาลาคีรีทำให้เกิดวิถีชุมชนของสองวัฒนธรรมระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิมร่วมกันมาแต่บรรพบุรุษจนมีภาษาพื้นถิ่นเป็นสำเนียงชาวบ้านทรายขาวโดยเฉพาะสร้างกติกาการดำรงอยู่ร่วมกันด้วยความไว้วางใจ ให้ความเคารพนับถือและให้เกียรติซึ่งกันและกันโดยสลับการขึ้นเป็นผู้นำชุมชนระหว่าง ไทยพุทธและไทยมุสลิม นับเป็นพหุวัฒนธรรมที่มีความเด่นชัดในด้านการบริหารและสืบสานประเพณีที่มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีที่ทุกฝ่ายมาร่วมกันใน ประเพณีลากพระขึ้นเขา สรงน้ำระลึกถึงพระครูศรีรัตนากร (พ่อทวดศรีแก้ว) อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว ผู้พบและทำทางเข้าน้ำตกทรายขาว วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ ทุกปีประเพณีพระผิงไฟ ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ประเพณีวันว่าง ประเพณีตักบาตรเขารังเกียบ ประเพณีรับเทวดา ประเพณีทำบุญทางใหญ่ ประเพณีแห่ผ้าพระมหามุนินทโลกนาถในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่ โดยมีวัดทรายขาว เป็นศูนย์กลางของชุมชน ด้วยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิหารสามทวด คือ หลวงปู่ทวด หลวงพ่อทวดศรีแก้ว พระครูธรรมกิจโกศล หรือพ่อท่านนอง อดีตเจ้าอาวาส วัดทรายขาว และมีมัสยิดนัจมุดดีน หรือ มัสยิดควนลังงา ซึ่งเป็นมัสยิดโบราณสมัยอยุธยา ที่มีอายุมากกว่า ๓๐๐ ปี นับเป็นมัสยิดหนึ่งเดียวที่นำสถาปัตยกรรมไทย-มุสลิมมาประยุกต์สร้างเป็นศาลาการเปรียญที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเมืองปัตตานี อีกทั้ง ยังสามารถท่องเที่ยวไปยังสถานที่สำคัญของปัตตานี เช่น มัสยิดกลางปัตตานี, ศาลเจ้าเล่งจูเกียง สถานที่ประดิษฐานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ย่านเมืองเก่าปัตตานี บริเวณถนนอาเนาะรู และถนนปัตตานีภิรมย์ ตลาดเก่า “กือดาจีนอ” ย่านการค้าชาวจีนโบราณมัสยิดกรือเซะ และ วัดช้างให้ หรือ วัดราษฎร์-บูรณะ เป็นวัดเก่าของหลวงปู่ทวดริมหาดทรายขาวที่สร้างมากว่า ๓๐๐ ปี ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านทรายขาวประมาณ ๕ กิโลเมตร
น้ำตกทรายขาว
บ้านทรายขาว ปัจจุบันได้ร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้มากมายจากการรวมกลุ่มสตรีทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม ที่นำวัตถุดิบผลิตผลทางการเกษตรของชุมชนมาแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มส้มแขกแปรรูป, กลุ่มกล้วยเส้นปรุงรส, กลุ่มผ้าทอมัดหมี่ลายจวนตานี, กลุ่มจานกาบหมาก กลุ่มลองกองแปลงใหญ่, กลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพเป็นต้น ล้วนเป็นสินค้าที่นำรายได้สู่ครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะ ทุเรียนหมอนทองทรายขาว นั้นมีรสชาติหวานมันแตกต่างจากที่อื่น มีความอร่อย หวานมัน เป็นรู้จักไปทั่วประเทศ จากความร่วมมือของผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่ร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งเดินป่า นั่งรถจิ๊ปสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชมสวนผลไม้ตามฤดูกาล ทำให้มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการเชิงคุณภาพได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว Tourism Award 2007 นับเป็นชุมชนที่รักษาเอกลักษณ์ของสองวัฒนธรรมไทยพุทธ-ไทยมุสลิมไว้ด้วยกัน และสร้างการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอุทยานแห่งชาติบ้านทรายขาวและผาน้ำตกสูง ๔๐ เมตร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นประตูเชื่อมสัมพันธ์สองวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนานตามรอยหลวงปู่ทวดจนถึงปัจจุบัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี