“Tragedy upon tragedy” : 44 hours. 3 mass shootings. 19 dead - เกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ทวีตข้อความว่า “โศกนาฏกรรม บนโศกนาฏกรรม” เมื่อเกิดเหตุกราดยิงหมู่ 3 เหตุการณ์ในเวลาเพียง 44 ชั่วโมง และทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 19 ศพ... และ “มีเพียงอเมริกา ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้” .. “นี่คือค่าตอบแทนของ “เสรีภาพ” อย่างนั้นหรือ?”
3 เหตุการณ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย ลำดับเหตุการณ์ดังนี้
1.เสาร์ 21 มกราคม - ที่สตูดิโอเต้นรำใน มอนเทอเรย์ ปาร์ค ชานนครลอสแองเจลิส ที่มีเหยื่อถูกยิงเสียชีวิตรวม 11 ศพ ก่อนคนร้ายซึ่งเป็นชายสูงวัยเชื้อสายเอเชีย จะหลบหนีไป และยิงตัวเองเสียชีวิตในรถ
2.จันทร์ 23 มกราคม - ก่อนที่ตำรวจจะเปิดเผยรายชื่อของเหยื่อทั้ง 11 ศพ จากเหตุการณ์แรก ก็เกิดเหตุกราดยิงอีกครั้ง ในย่านชนบท ฮาล์ฟ มูน เบย์ ทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย เสียชีวิต 7 ศพ ทั้งหมดเป็นแรงงานอพยพในฟาร์มเห็ด -ผู้ต้องสงสัยเป็นชายเชื้อสายเอเชียเช่นกัน
3.อังคาร 24 มกราคม - เกิดเหตุกราดยิงครั้งที่ 3 ในเวลา 3 วัน เกิดขึ้นในเมืองโอ๊คแลนด์ มี 8 คนถูกยิง และเสียชีวิต 1 ศพ
นั่นทำให้ ในเวลาไม่ถึง 1 เดือนของปี 2023 สหรัฐฯ เกิดเหตุกราดยิงหมู่แล้ว 40 ครั้ง สูงที่สุดของสถิติที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม สะท้อนแล้วว่า ไม่ว่าจะชุมชนเล็ก ชุมชนใหญ่ทั่วสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับเหตุกราดยิงหมู่ที่มีขึ้นรายวัน ทั้งในสถานที่ทำงาน, สถานศึกษา หรือแม้แต่สถานประกอบพิธีทางศาสนา
จากข้อมูลพบว่า ทุกรูปแบบของความรุนแรงจากปืน ทั้งการฆาตกรรม-ฆ่าตัวตาย ไปจนถึงกราดยิงหมู่ เพิ่มขึ้นทั้งหมด ปี 2019 มีตัวเลขของการเสียชีวิตจากอาวุธปืน
ที่ 33,599 ศพ ปี 2022-44,290 ศพเพิ่มขึ้น 31% ส่วนใหญ่ของตัวเลขนี้เป็นการฆ่าตัวตายด้วยปืน ตามมาด้วยเหตุฆาตกรรม ส่วนกราดยิงหมู่ ปี 2020 พบว่ามีตัวเลขที่ 1.1% ของเหตุเสียชีวิตจากอาวุธปืนทั้งหมด
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยังเป็นการยากที่จะระบุชัดเจนว่าสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขสูงขึ้นนั้นเป็นเพราะอะไร? เพราะเหตุกราดยิงหมู่ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้ อย่างไรก็ดีปัจจุบันพบว่า ชาวอเมริกันมีการครอบครองอาวุธปืนมากกว่าที่เคยมียอดจำหน่ายอาวุธปืนแตะ 23 ล้านกระบอก ในปี 2020 สูงกว่าปี 2019 ถึง 65%
สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางหรือ FBI ได้ดำเนินการตรวจสอบปูมหลังของผู้ครอบครองปืนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์โควิด ตามมาด้วยเหตุสังหาร จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ และเหตุจลาจลรัฐสภา ที่ทำให้ชาวอเมริกันต้องการมีปืนไว้ป้องกันตัวมากขึ้น
จอช โฮโรวิตซ์ ผู้อำนวยการศูนย์แก้ปัญหาความรุนแรงจากปืน มหาวิทยาลัย Johns Hopkins บอกว่า มีปืนเพื่อให้พวกเราปลอดภัยโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่ปลอดภัย และเมื่อผู้คนรู้สึกหวาดกลัว พวกเขาก็ต้องการขจัดความกลัว ด้วยการซื้อปืน
ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า ความกดดันของชีวิต, สภาพสังคมที่ไม่เป็นมิตร รวมถึงความเครียดจากโรคระบาด ที่ทำให้เกิดผลพวงด้านการเงิน, การงาน, ครอบครัว หรือความสัมพันธ์เสื่อมถอย ก็ทำให้เกิดความเครียดได้ จนอาจทำให้บางคนเลือกที่จะตอบสนองความเครียดเหล่านั้นด้วยความรุนแรง ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร พบว่า เกือบ 93% ของผู้ก่อเหตุ มีปัญหาส่วนตัวก่อนก่อเหตุ ทั้งเรื่องการหย่าร้าง, ปัญหาสุขภาพ หรือประเด็นขัดแย้งกับที่โรงเรียน-ที่ทำงาน และอีกราว 10% ของผู้ก่อเหตุกราดยิงหมู่ จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีอยู่ 1 เทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงอย่างมาก คือ ShotSpotter ซึ่งทางการตั้งความหวังว่าจะมาช่วยลดอาชญากรรมจากปืนได้ ShotSpotter เป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งจะคอยตรวจจับเสียงปืน ก่อนที่จะส่งตำรวจลงพื้นที่จุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีระบบนี้ติดตั้งอยู่ในมากกว่า 130 เมือง ซึ่งรวมถึงในเมืองโอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เพิ่งเกิดเหตุกราดยิงไปเมื่อ 24 ม.ค.เกิดขึ้นกลางปั๊มน้ำมัน แต่กลับไม่มีใครโทรแจ้งตำรวจ แต่ไม่เป็นไร เพราะด้วยระบบแจ้งเตือนผ่านเทคโนโลยี ShotSpotter ก็ทำให้ตำรวจทราบเหตุและสามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุได้ แม้ว่าเมื่อไปถึง จะเจอเพียงปลอกกระสุนตกอยู่ เพราะผู้บาดเจ็บถูกส่งไปโรงพยาบาลแล้วก็ตาม
ข้อมูลจากรายงานของทางการท้องถิ่นในเมืองโอคแลนด์ ชี้ว่าเมื่อปี 2020 ทั้งปี ระบบ ShotSpotterแจ้งเตือนตำรวจเกี่ยวกับเหตุจากการใช้ปืนมากถึง 6,053 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 5 ,500 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 91 ของการแจ้งเตือนทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่คนในพื้นที่ไม่ได้โทรแจ้งตำรวจ และตำรวจจะไม่มีทางทราบเลยว่าเกิดเรื่องขึ้น ถ้าไม่ได้มีการใช้งานเทคโนโลยีแจ้งเตือนที่ว่านี้
งานวิจัยหลายชิ้น ชี้ว่าจริงๆ แล้ว ความรุนแรงจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นมากกว่าที่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 80 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีการโทรแจ้งตำรวจ ดังนั้น ทางการท้องถิ่นในหลายเมืองจึงหันไปหาตัวช่วยอย่าง ShotSpotter
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาระบบนี้ต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านจากชาวอเมริกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า ระบบ ShotSpotter เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพของประชาชน เพราะเซ็นเซอร์ตรวจจับเสียงจะไปติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจถูกใช้ในการดักฟังได้
ขณะที่จุดที่จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ก็กลายเป็นอีกประเด็นร้อน เพราะเมื่อทางการท้องถิ่นจะใช้งานระบบนี้ ก็มักจะนำอุปกรณ์ไปติดตั้งในย่านที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูง ที่ตามปกติแล้วจะเป็นย่านชุมชนคนผิวดำ ผิวน้ำตาลและชาวอเมริกัน เชื้อสายละติน ยิ่งเป็นการเพิ่มความตึงเครียดและนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและสีผิว ท่ามกลางการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจต่อชาวอเมริกันกลุ่มนี้เป็นทุนเดิม
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี