เครื่องประดับทอง
จากเหตุการณ์การลักลอบขุดกรุใน พระปรางค์วัดราชบูรณะ กรุงเก่าที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ นั้น นับเป็นข่าวใหญ่ที่หนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับต่างรายงานข่าวถึงการที่มีคนกลุ่มหนึ่งลอบขุดกรุแล้วขนสมบัติล้ำค่าออกไปจากพระปรางค์ เดิมมีคน ๓ คน เข้าไปขุดหาพระเครื่อง เมื่อเวลา ๒๐.๐๐ น. วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๙๙ แล้วเกิดฝนตกหนัก จนทำให้ผู้ลักลอบขึ้นไปชั้นบนพระปรางค์แล้วใช้ชะแลงงัดเข้าไปในห้องใต้พระปรางค์ เมื่อยกแผ่นหินออกก็พบว่ามีห้องภายในเต็มไปด้วยสิ่งของทำด้วยทองคำจำนวนมาก ผู้ลักลอบสองคนจึงลงไปขนสิ่งของเหล่านั้นโดยมีคนหนึ่งชักรอกขึ้นมากรุแล้วแอบนำไปเก็บไว้ที่บ้าน ในคืนที่ ๓ผู้ลักลอบ ๒ คน ในกรุเกิดสงสัย จึงตามไปที่บ้านคนชักรอกที่นำสิ่งของไปเก็บที่บ้าน จึงทำให้มีคนรู้ความลับมาร่วมขอแบ่งสิ่งของด้วยราว ๓๐ คน โดยใส่ผ้าขาวม้าห่อไปคนละห่อสองห่อ จนความแตกจึงนำไปสู่การติดตามจับกุมขบวนการลักลอบขุดกรุได้ผู้ต้องหา ๒๐ คน พร้อมสิ่งของ ซึ่งเป็นเครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ ถึงกระนั้นก็ยังมีเครื่องทองที่ร้านทองรับซื้อไว้ถูกนำไปหลอมทั้งวันทั้งคืนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่รู้ปริมาณและเป็นอะไร จากบันทึกคำให้การของแก๊งขุดทำให้ทราบว่า ภายในกรุชั้นล่างนั้น มีโต๊ะสำริด ๓ ตัว ตั้งอยู่ทิศตะวันออก ทิศใต้และทิศเหนือ ตรงกลางของกรุ ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างราว ๑ วาเศษ บนแท่นศิลากลางกรุ มีถาดทองคำ๓ ใบ บนถาดมีกระโถนทองคำ ๔ ใบ มีไข่มุกอยู่เต็มกระโถน และพบแหวนประมาณ ๒,๐๐๐ วง บนแท่นยังพบพระแสงทองคำปักไว้ข้างขอบ บนโต๊ะมีเสื้อทองคำ ๘ ตัว มหามงกุฎกว้าง ๑ ศอก สูง ๒ ศอกเศษมีจอกทองคำประดับด้วยทับทิม และมงกุฎราชินี๓ อัน ตลับทอง ๑๒ ใบ ประมาณว่าเครื่องทองราชูปโภคจากกรุวัดราชบูรณะมีน้ำหนักราว ๑๐๐ กิโลกรัมแต่ตามกลับคืนมาได้ราว ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเครื่องทองที่ติดตามกลับมานี้ได้รวมกับที่กรมศิลปากรได้ขุดกันภายหลัง ได้นำจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ระยะหนึ่ง
ข่าวการลักลอบขุดกรุพบเครื่องทอง
หลังจากที่กรมศิลปากรมีนโยบายปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่สำหรับจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องทองอยุธยาที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้อยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจทันสมัยและได้มาตรฐานตามหลักพิพิธภัณฑสถานสากลเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางมรดกศิลปวัฒนธรรมแก่สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา รวมทั้งเป็นการสร้างภาพจำและความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว
ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของไทย อาคารเครื่องทองอยุธยาแห่งนี้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยสร้างเป็นอาคารไทยประยุกต์ ๒ ชั้นมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๓,๒๗๕ตารางเมตร แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ ๑จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องสูง เครื่องราชูปโภคและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ส่วนที่ ๒ จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องพุทธบูชาเครื่องอุทิศ และพระบรมสารีริกธาตุรวมถึงกรุจำลองวัดราชบูรณะส่วนที่ ๓ จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระบรมสารีริกธาตุที่พบในโบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ พระปรางค์วัดพระรามพระปรางค์วัดมหาธาตุ เจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ และเจดีย์ศรีสุริโยทัย จำนวนโบราณวัตถุที่จัดแสดงภายในอาคารเครื่องทองมีจำนวนทั้งสิ้น ๒,๒๔๔ รายการ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญนั้น ได้แก่ พระแสงขรรค์ชัยศรีพระคชาธารจำลอง จุลมงกุฎ พระสุวรรณมาลาบัดนี้อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ได้สร้างเสร็จแล้ว และจัดแสดงให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕เป็นต้นไป นับเป็นแหล่งเครื่องทองอยุธยาที่ทันสมัย สามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเครื่องทองอยุธยาได้อย่างใกล้ชิด จากความวิจิตรพิสดารของศิลปกรรมอันมีค่ายิ่งนี้ ได้ทำให้ทุกคนพากันภาคภูมิใจและตระหนักถึงการอนุรักษ์มรดกของชาติร่วมกันตลอดไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี