พระนางจามเทวีโดยลาวัณย์ อุปอินทร์
หากย้อนเวลากลับจากงานสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช ที่เมืองลพบุรี ไปถึงเมืองลวะปุระ สมัยขอมมีอำนาจในแผ่นดินดังกล่าวแล้ว พบว่ามีเรื่องราวของบุคคลสำคัญที่รู้จักกันอย่างดีมานานคือ พระนางจามเทวีผู้เป็นสตรีที่ปรากฏพระนามในเอกสารต่างๆ ซึ่งระบุว่าพระนางนั้นทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย เมืองโบราณในภาคเหนือของไทย แม้ว่าตำนานต่างๆ จะได้กล่าวถึงพระนางและระบุศักราชไว้ไม่ตรงกัน เช่น ใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่าทรงครองราชย์เมื่อ พ.ศ.๑๒๐๕ทรงอยู่ในราชสมบัติ ๗ ปี ข้อมูลจาก อาจารย์มานิตวัลลิโภดม ที่สอบค้นแล้วพบว่าพระนางประสูติเมื่อพ.ศ.๑๑๖๖ ครองราชย์ พ.ศ.๑๒๐๕ ครองราชย์อยู่ ๑๗ ปี เสด็จสวรรคต พ.ศ.๑๒๕๘ รวมพระชนมพรรษาได้ ๙๒ พรรษา และจาก ตำนานพระนางจามเทวีฉบับแปล และเรียบเรียงโดย นายสุทธวารีสุวรรณภาชน์ ได้ระบุว่าประสูติเมื่อ พ.ศ.๑๑๗๖ ครองราชย์ พ.ศ.๑๒๐๒ สละราชสมบัติ พ.ศ.๑๒๓๑และเสด็จสวรรคต พ.ศ.๑๒๗๔ ก็ตาม ก็ยังมีเรื่องที่สืบค้นศึกษากันมากถึงเรื่องชาติกำเนิดของพระนางที่ปรากฏในตำนานจามเทวีวงศ์และตำนานมูลศาสนา กล่าวว่า เป็นพระราชธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงละโว้ ซึ่งต่างกับตำนานมุขปาฐะพื้นบ้านที่ว่า พระนางเป็นธิดาของคหบดีชาวหริภุญชัยเชื้อสายชาวเมง ตำนานเรียกว่า เมงคบุตร ปัจจุบันคือหมู่บ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นเรื่องที่ยังไม่เป็นที่สรุปได้ชัดเจนระหว่างหลักฐานและความเชื่อนับถือ
ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ
ส่วนประเด็นใหม่ที่น่าสนใจกว่าชาติกำเนิดของพระนางจามเทวีนั้น ก็คือ การตามรอยเส้นทางของพระนางจามเทวีจากเมืองละโว้ไปสู่เมืองหริภุญชัย โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักวิชาการคนสำคัญที่ได้นำคณะวิจัยภาคสนามลงสำรวจพื้นที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า ๒๐ จังหวัด เพื่อเปิดมติใหม่จากข้อมูลเก่า-ใหม่ โดยใช้เส้นทางตามตำนานนั้นมาตรวจสอบหาร่องรอยประวัติศาสตร์ จนได้ความน่าจะเป็นตามสถานที่และเส้นทางน้ำให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยความเมตตาจากรศ.พญ.คุณหญิงอัมพร สุคนธมาน สนับสนุนการศึกษาและสืบค้นเรื่องราวภาคสนาม และความร่วมมือจาก นายอำนวย จั่นเงิน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรีและคณะ ที่ได้จัดพิมพ์ผลงานสำคัญนี้ให้เป็นหนังสือเรื่อง “พระนางจามเทวี : ราชนารีสองนคร จากลวปุระสู่หริปุญชยะ”เพื่อเผยแพร่ให้เป็นเกียรติภูมิของประวัติศาสตร์ของเมืองละโว้ และเมืองหริภุญชัย จากเรื่องราวการเดินทางของพระนางจามเทวีในอดีต คือประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๒ นั้น สุกทันตฤๅษี ผู้เป็นสหายของสุเทวฤๅษี ได้พร้อมกับ นายควิยะ ผู้เป็นทูตของสุเทวฤๅษี ได้มาเดินทางยังกรุงละโว้ เพื่อทูลขอพระนางจามเทวีจากพระเจ้ากรุงละโว้ ไปเป็นกษัตริย์ครองเมืองที่สุกทันตฤๅษีกับสุเทวฤๅษีได้สร้างขึ้น คือ เมืองหริภุญชัยหรือเมืองลำพูนปัจจุบันนี้ พระนางจามเทวีได้ปรึกษาพระราชบิดากับพระสวามีแล้วก็ได้ทรงอนุญาต พระนางจึงได้เดินทางออกจากเมืองละโว้ตามคำทูลเชิญของพระฤๅษีนั้น
ซึ่งในตำนานจามเทวีวงศ์ยังระบุอีกว่าเวลานั้นเจ้าชายรามราชได้ออกบวชเสียแล้วพระนางจึงทรงอยู่ในฐานะไร้พระสวามี ฤๅษีสุเทวฤๅษี จึงได้ส่งสาส์นมาทูลขอดังกล่าว และตำนานพื้นบ้านว่าเจ้าหญิงจามเทวีทรงรับที่จะครองเมืองลำพูนด้วยเหตุเมืองหริภุญชัยที่สร้างใหม่ซึ่งเวลานั้นราษฎรเดือดร้อนด้วยขาดผู้นำ และพระนางได้ระลึกถึงพระคุณสุเทวฤๅษีที่เคยชุบเลี้ยงมาแต่กาลก่อนด้วย
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี-ลำพูน
สำหรับการเดินทางจากลวปุระ-เมืองละโว้ไปสู่เมืองหริภุญชัยในวาระนั้น พระนางได้นำพระเถระ หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล บัณฑิต หมู่ช่างแกะสลัก ช่างแก้วแหวน พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง หมู่หมอโหรา หมอยา ช่างเงิน ช่างทองช่างเหล็ก ช่างเขียน หมู่ช่างต่างๆ และช่างโยธาโดยระบุว่ากลุ่มละ ๕๐๐ คน ถ้าเข้าใจกันว่า ๕๐๐ นั้นหมายถึงมีจำนวนมากแล้วก็คงไม่ใช่จำนวนมากมายจนเป็นภาระการเดินทาง เพราะจำนวนมากในอดีตก็คง ๑๐-๒๐ คน ที่นำขึ้นไปจัดระเบียบ และการสร้างบ้านแปงเมืองแห่งใหม่ คณะทั้งหมดเดินทางด้วยการล่องเรือขึ้นไปจากเมืองลวะปุระไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำปิง เป็นเวลานาน ๗ เดือน พร้อมกันพระนางได้เชิญพระพุทธรูปสำคัญมาด้วย ๒ องค์คือ พระแก้วขาว และพระรอดหลวง เมื่อพระนางเดินทางมาถึงเมืองหริภุญชัยแล้ว สุเทวฤๅษีและสุกทันตฤๅษีจึงมีพิธีราชาภิเษกพระนางขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญชัย มีพระนามว่า “พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ปิ่นธานีหริภุญชัย” พระนางได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองและทำให้ประชาราษฎรมีความร่มเย็นเป็นสุข และพระพุทธศาสนานั้นได้รับการทำนุบำรุงอย่างดียิ่ง ตามตำนานว่า พสกนิกรต่างมีใจศรัทธาสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง ๒,๐๐๐ แห่ง จึงทำให้ศิลปะลวปุระนั้นอุบัติขึ้นในหริภุญชัยให้ได้เรียนรู้กันมาจนทุกวันนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี