เคยสงสัยไหมว่า ทำไมในวัดต่างๆ จึงมีรูปปั้นยักษ์หลายคนอาจกลัวยักษ์ เพราะรู้จักยักษ์ในนามของความโหดร้ายกินเนื้อคน และเป็นสิ่งที่น่ากลัว แล้วทำไม ยักษ์จึงเข้าไปอยู่ในวัดได้
ขอเฉลยให้ฟังพอสังเขปว่าเหตุที่ยักษ์เข้าไปอยู่ในวัดได้ก็เพราะว่ายักษ์ถือเป็นทวารบาล ผู้ปกปักรักษาสถานที่ และต้องบอกว่าตามคตินั้น ยักษ์มีทั้งชนิดดีและไม่ดี ยักษ์ดีที่ผู้ศึกษาเรื่องยักษ์ให้การรับรองคือท้าวกุเวร ผู้เป็นจตุโลกบาล รักษาทิศทั้งสี่
มีผู้ถามต่อว่า แล้วทำไมยักษ์จึงอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามได้ เรื่องนี้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเพราะอิทธิพลของเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในบทพระราชนิพนธ์นั้นทรงกล่าวถึงยักษ์มากมายหลายตน
เราจะพบว่ายักษ์ที่ถูกปั้นขึ้นเพื่อเป็นทวารบาลของวัดพระแก้วนั้น ถูกคัดเลือกมาเพียง 12 ตนเท่านั้น และขอบอกว่ายักษ์ทั้ง 12 ตนนั้นเป็นยักษ์ชั้นกษัตริย์ เป็นปรปักษ์กับพระรามแห่งกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น ยักษ์เหล่านั้นมีชื่อเสียงเรียงนามใดกันบ้าง เราจะไปดูพร้อมๆ กันครับ อ้อ! ขอเรียนให้ทราบว่า ยักษ์ทวารบาลทั้ง 12 ตนนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เฝ้าวัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ในครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยมีความสูงประมาณ 6 เมตร
ยักษ์ทวารบาลทั้ง 12 ตน มีชื่อเสียงเรียงนาม ดังนี้
ทศกัณฐ์ (กายสีเขียว) ปกครองกรุงลงกา เฝ้าประตูด้านใต้พระศรีรัตนเจดีย์
สหัสเดชะ (กายสีขาว) ปกครองเมืองปางตาล เฝ้าประตูด้านใต้พระศรีรัตนเจดีย์
ไมยราพณ์ (กายสีม่วงอ่อน) ปกครองเมืองบาดาลเฝ้าประตูด้านเหนือพระศรีรัตนเจดีย์
วิรุฬจำบัง (กายสีขาวเจือดำ หรือมอหมึก) หลานทศกัณฐ์ปกครองเมืองจารึก เฝ้าประตูด้านเหนือพระศรีรัตนเจดีย์
สุริยาภพ (กายสีแดง) น้องของมังกรกัณฐ์ เฝ้าด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร
อินทรชิต (กายสีเขียว) ลูกทศกัณฐ์กับนางมณโฑ เฝ้าด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร
มังกรกัณฐ์ (กายสีเขียวอ่อน) ปกครองเมืองโรมคัล เฝ้าด้านหน้าพระอุโบสถ
วิรุฬหก (กายสีขาบ หรือน้ำเงินเข้ม) ปกครองเมืองมหาอันธการนคร เฝ้าด้านหน้าพระอุโบสถ
ทศคีรีธร (กายสีน้ำตาล) ยักษ์ฝาแฝด ลูกของทศกัณฐ์กับนางช้าง ยักษ์ตนนี้มีปลายจมูกเป็นงวงช้าง เฝ้าประตูศรีศาสดา
ทศคีรีวัน (กายสีเขียวแก่) ยักษ์ฝาแฝด ลูกของทศกัณฐ์กับนางช้าง ยักษ์ตนนี้มีปลายจมูกเป็นงวงช้าง เฝ้าประตูศรีศาสดา
จักรวรรดิ (กายสีขาว) ปกครองกรุงมลิวัน เฝ้าประตูด้านหลังพระอุโบสถ
อัศกรรณมารา (กายสีม่วงเข้ม) ปกครองเมืองดุรัม เฝ้าประตูด้านหลังพระอุโบสถ
อันที่จริงนอกจากยักษ์ทวารบาลของวัดพระแก้วแล้ว ยังมียักษ์อีกมากมายในวัดพระแก้ว โดยจะพบยักษ์ที่ฐานพระเจดีย์ต่างๆ แล้วอีกที่หนึ่งที่เราจะพบยักษ์ได้มากมายทุกตนที่มีชื่อในรามเกียรติ์คือในภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระระเบียงคดรอบพระอุโบสถ์วัดพระแก้ว
นอกจากยักษ์ในวัดพระแก้วแล้ว เรายังพบว่ามียักษ์ในวัดอรุณราชวรารามฯ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯด้วย แต่วันนี้ขออนุญาตเล่าให้ฟังเฉพาะแค่ยักษ์ในวัดพระแก้วเท่านั้น วันหน้าจะพาคุณๆ ไปรู้จักกับยักษ์ในวัดอรุณฯ และวัดพระเชตุพนฯ
เห็นไหมครับว่า การที่เราได้ไปกราบนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และได้เที่ยวชมความวิจิตรอลังการของวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว เรายังได้รู้จักกับยักษ์สำคัญๆ ที่ทำหน้าที่เป็นทวารบาลของวัดสำคัญแห่งนี้ด้วย
หากคุณๆ สนใจท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมแบบเจาะลึก ได้ความรู้โดยไม่ทำให้เครียด โปรดติดต่อMr.Flower ที่ 091-7233615 ครับ เราไปท่องเที่ยวด้วยกันด้วยรอยยิ้มและมิตรไมตรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี