ปัจจุบันเรื่องของการแพทย์แบบผสมผสาน (Complementary Medicines) โดยเฉพาะสารอาหารต่างๆ ได้รับความสนใจมากขึ้นและการรักษาโรคไม่ได้จำกัดแค่การใช้ยาเท่านั้น สามารถใช้การแพทย์แบบผสมผสานในเชิงป้องกัน หรือเสริมการรักษาจะช่วยลดผลข้างเคียงและเพิ่มประสิทธิภาพของยาได้อีกทางหนึ่งด้วยซึ่งเภสัชกรเปรียบเสมือนด่านหน้าที่ผู้บริโภคจะมาปรึกษา ทั้งเรื่องของโรค ยา อาการเจ็บป่วย ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น
สถาบันแบลคมอร์ส ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชมรมเภสัชกรเชียงใหม่ และ เครือข่าย 5 สถาบันจัดการประชุมวิชาการ “การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์สำหรับเภสัชกร” (Complementary Medicines Research Update and Application) เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ และการแพทย์แบบผสมผสานที่สามารถนำความรู้ใปใช้ในการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในด้านสุขภาพ การใช้ยา รวมถึงการใช้โภชนเภสัชภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ดร.ภญ.อโนมา เจริญทรัพย์
ดร.ภญ.อโนมา เจริญทรัพย์ ผู้จัดการด้านการศึกษา สถาบันแบลคมอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า สุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing)
เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากสุขภาวะทางจิตไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาวะความเครียดเรื้อรัง จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและส่งผลเสียต่อร่างกายอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ความไม่สมดุลของฮอร์โมนจำนวนมากผลกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาล การสร้างกระดูกลดลงเป็นต้น การตอบสนองต่อความเครียด แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยสองระยะแรกจะเกิดขึ้นระหว่างที่เผชิญกับความเครียดแบบเฉียบพลันและความเครียดในชีวิตประจำวัน และระยะที่ 3 นำไปสู่ความเครียดเรื้อรัง หรือเรียกว่าภาวะต่อมหมวกไตล้า ซึ่งส่งผลให้สภาพจิตใจย่ำแย่ และเกิดปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว
วิธีการจัดการกับความเครียดที่ทุกคนสามารถทำเองได้ มีหลายวิธี เช่น การออกกำลังกายการทำสมาธิ การใช้ดนตรีบำบัด เป็นต้น ยังพบว่าสารอาหารเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากร่างกายได้รับสารอาหารที่เหมาะสม จะไปช่วยกระตุ้นการปรับสมดุลสุขภาวะจิต อย่างไรก็ตาม ความต้องการสารอาหารแต่ละคนไม่เท่ากัน คนที่มีความเครียดสูงร่างกายต้องการในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อการฟื้นฟูสุขภาวะจิตให้กลับมาสมดุลและรับมือกับความเครียดได้ ร่างกายจึงควรได้รับสารอาหารที่จำเป็น เช่น วิตามินบีหลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละช่วงสถานการณ์ซึ่งจะช่วยบำบัดและจัดการกับสภาวะความเครียดต่างๆ ได้ นอกจากนี้ สารอาหารจำพวกแมกนีเซียม เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นช่วยในการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายมากกว่า 300 ชนิด ช่วยจัดการความเครียด การทำงานของกล้ามเนื้อระบบประสาท ควบคุมความดันโลหิตโพรไบโอติกส์ ช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายและยังช่วยในการจัดการความเครียดรวมทั้งโคเอนไซม์คิวเทน ยังช่วยเสริมการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะช่วงที่มีอาการเหนื่อยล้า
ด้านรศ.ดร.ภก.ไชยวัฒน์ ไชยสุต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงโพรไบโอติกส์ กับสุขภาพทางกายและจิตใจว่า ระบบทางเดินอาหารมีจุลินทรีย์จำนวนมากกว่าแสนล้านเซลล์ มีทั้งเชื้อที่ดี ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย และเชื้อไม่ดีซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย และก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ดังนั้น การรักษาสมดุลระหว่างจุลินทรีย์ที่ดีและไม่ดีจึงมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก โดยพบว่าชนิดและจำนวนของจุลินทรีย์ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารบางชนิด เช่นเนื้อแดง น้ำตาลสูง ไขมันสูง แอลกอฮอล์ การได้รับยาปฏิชีวนะ การไม่ออกกำลังกาย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายอย่างปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลทำลายจุลินทรีย์ที่ดีในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะการเสียสมดุลของจุลินทรีย์หรือเรียกว่า Gut dysbiosis และอาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหารและโรคทางเมตาบอลิกอื่นๆรวมถึงการทำงานของสมอง จากงานวิจัยพบว่าการใช้โพรไบโอติกส์มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญ ลดระดับสารบ่งชี้การอักเสบ ควบคุมการหลั่งของสารสื่อประสาทบางชนิดผ่านกระบวนการ Gut-Brain axis ปัจจุบันการแพทย์แบบผสมผสานจึงมีการใช้โพรไบโอติกส์ เพื่อเสริมกับการรักษาแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับสมดุลจุลินทรีย์ เพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจในระยะยาว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี