ในฤดูร้อนของทุกปี เราจะได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากความร้อนเสมอๆ การเจ็บป่วยที่จากความร้อนนี้มีทั้งที่ไม่รุนแรงและรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ภาวะเจ็บป่วยจากความร้อนที่พบได้บ่อย และสำคัญที่เราควรจะทราบ ได้แก่ ผด (heat rash) ตะคริว จากความร้อน (heat cramp) ภาวะอ่อนเพลียจากความร้อนหรือเพลียแดด (heat exhaust) และโรคลมร้อนหรือลมแดด (heat stroke) เนื่องจากเป็นโรคที่เราสามารถป้องกันได้ หากมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติถูกต้อง ในบทความนี้จะกล่าวถึงภาวะเจ็บป่วยจากความร้อนที่อันตรายคือ ภาวะอ่อนเพลียจากความร้อนและโรคลมแดด ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
ร่างกายเรามีการควบคุมอุณหภูมิกายอย่างไร?
เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการระบายความร้อนของร่างกายกันก่อนร่างกายของเราโดยทั่วไปจะควบคุมอุณหภูมิกายให้คงที่อยู่ระหว่าง 36.5-37.5 องศาเซลเซียสในผู้ใหญ่ เมื่อมีความร้อนสูงขึ้น ร่างกายจะระบายความร้อนออกด้วยกลไกต่างๆ ที่สำคัญและได้ผลดีคือการขับเหงื่อออกมาตามผิวหนัง เมื่อเหงื่อระเหยกลายเป็นไอ จะนำความร้อนออกไปด้วย การกลายเป็นไอนอกจากขึ้นกับความร้อนแล้ว ยังขึ้นกับความชื้นของอากาศรอบๆ ตัวด้วย หากมีความชื้นสูง ก็จะทำให้เหงื่อระเหยกลายเป็นไอได้ลดลง การระบายความร้อนก็จะลดลงตามไปด้วย ในปัจจุบันจึงใช้ค่า “ดัชนีความร้อน (heat index)” ซึ่งเป็นการวัดความร้อนที่แท้จริงที่ร่างกายเรารู้สึก สืบเนื่องมาจากผลของความชื้น ในภาวะความร้อนสูงความชื้นในอากาศสูง ร่างกายของเราจะรู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิที่วัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์อย่างเดียว ค่าดัชนีความร้อนนี้สามารถคำนวณได้จากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา (www.4.tmd.go.th) ได้ ยกตัวอย่างเช่น อุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส แต่ความชื้นสัมผัส 60% หรือ 65% ค่าดัชนีความร้อนเท่ากับ 39.5 หรือ 41.1 องศาเซลเซียสตามลำดับ (สูงกว่าอุณหภูมิที่จัดได้ 6.5 หรือ 8.1 องศาเซลเซียส)
การเจ็บป่วยจากความร้อนเกิดได้อย่างไร?
ภาวะอ่อนเพลียจากความร้อนและโรคลมแดด เป็นความเจ็บป่วยที่ต่อเนื่องกัน กล่าวคือเมื่อเราอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนสูงร่างกายจะต้องมีการขับเหงื่อออกมาจำนวนมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มาก หากไม่สามารถดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนได้มากพอ ก็จะเกิดการขาดน้ำและเกลือแร่ ทำให้มีอาการหิวน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อย คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวหรืออ่อนแรง ชีพจรเต้นเร็ว แต่มักยังไม่มีไข้ ภาวะนี้หากได้รับการแก้ไขได้ทัน ก็จะหายได้อย่างรวดเร็ว แต่หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและแก้ไขได้ทันท่วงที ความผิดปกติจะพัฒนาต่อเนื่องจนทำให้ระบบการควบคุมอุณหูมิของร่างกายทำงานผิดปกติ และไม่มีเหงื่อออก ซึ่งจะซ้ำเติมให้อุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย (core temperature) สูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมักสูงกว่า 40.5 องศาเซลเซียส ด้วยระดับอุณภูมิที่สูงนี้ เซลล์ในระบบต่างๆ ก็จะได้รับบาดเจ็บและทำให้ระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติและทำงานล้มเหลวได้ ผู้ป่วยในภาวะนี้จะมีไข้สูง ระบบประสาทส่วนกลางจะทำงานผิดปกติ อาทิ กระวนกระวาย สับสน ชักหมดสติระบบอื่นที่สำคัญ คือ เกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย (rhabdomyolysis) ไตวายเฉียบพลัน และภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema)
สถานการณ์ใดที่เสี่ยงในการเกิดการเจ็บป่วยจากความร้อนทั้งสองชนิดนี้?
การอยู่ในสถานที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อมีดัชนีความร้อนมากกว่า 39.5 องศาเซลเซียส ทำงานหรือออกกำลังกายในสถานที่ดังกล่าวก็จะเร่งให้เกิดความเจ็บป่วยนี้ได้มากขึ้น
คนกลุ่มใดที่เสี่ยงในการเกิดการเจ็บป่วยจากความร้อนทั้งสองชนิดนี้?
1.ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี หรือเด็กเล็ก
2.ผู้ป่วยที่กินยาบางชนิด ที่มีผลให้การขับเหงื่อของร่างกายลดลง เช่น ยาจิตเวชยาแก้แพ้กลุ่มต้านฮีสตามีน (antihistamine) ยารักษาโรคพาร์กินสัน รวมทั้งสารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3.ผู้ป่วยอ้วน หรือมีภาวะขาดน้ำอยู่เดิม
4.ผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกาย ในสถานที่มีดัชนีความร้อนสูง โดยเฉพาะผู้ไม่คุ้นเคยกับสถานที่ที่มีดัชนีความร้อนสูงมาก่อน เนื่องจากโดยทั่วไป ผู้ที่อยู่ในที่ที่มีดัชนีความร้อนสูงอย่างต่อเนื่อง จะมีความสามารถในการปรับตัวให้ทนกับภาวะนี้ได้ดีขึ้น (heat acclimatization)
การป้องกันไม่เกิดการเจ็บป่วยจากความร้อนได้อย่างไร?
1.หลีกเลี่ยงการทำงานหรือออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง (ดัชนีความร้อนสูง)
2.หากมีความจำเป็นต้องทำงานหรือออกกำลังกายในที่มีอากาศร้อน
2.1 ควรดื่มน้ำทุก 15 นาที แม้ว่ายังไม่รู้สึกกระหายน้ำ
2.2 ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมง 2-4 แก้ว (ประมาณ ½ ถึง 1 ลิตร) หากสถานที่นั้นมีดัชนีความร้อนสูงกว่า 39.5 องศาเซลเซียส
2.3 ควรเข้าพักในที่ร่ม หรือที่มีอากาศเย็นเป็นระยะๆ
2.4 ควรสวมหมวก เสื้อผ้าสีอ่อน โปร่งสบาย บางและระบายความร้อนได้ดี
2.5 งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟ
2.6 กรณีที่มีเหงื่อมาก การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ จะทดแทนน้ำและเกลือแร่ในร่างกายที่สูญเสียไป
หากพบผู้ที่อยู่ในสถานที่ร้อนจัด และรู้สึกไม่สบายโดยมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรนำผู้นั้นมาอยู่ในที่ร่มในทันที ให้การปฐมพยาบาลโดยการลดความร้อนด้วยการเช็ดตัวด้วยผ้าเย็น หรือพ่นตัวด้วยละอองน้ำและเป่าพัดลม ให้จิบน้ำทีละน้อยๆ บ่อยๆ หากยังรู้ตัวดี และรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ด้วยแนวทางดังกล่าวนี้ ก็จะสามารถป้องกัน และช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยจากภาวะเพลียจากความร้อนและโรคลมแดดได้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วินัย วนานุกูล
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี