งานสมโภชพระนคร
สืบจากเหตุวันพิธียกเสาหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ นั้นเป็นวันที่ทุกคนได้ระลึกน้อมถึงการอยู่ใต้ร่มพระบารมีมายาวนานถึง ๒๔๑ ปี โดยนับวันนี้ให้เป็นวันแรกที่องค์พระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีคือ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต้น (รัชกาลที่ ๑) ทรงสถาปนาตั้งพระนคร คือ กรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นจากพิธียกเสาหลักเมืองก็ตาม ซึ่งนับเป็นการสถาปนาพระนครไปด้วยคงไม่ถูกต้อง ด้วยขณะนั้นมีแต่เสาหลักเมืองปรากฏขึ้นก่อนแห่งเดียว แม้ว่าจะมีการให้ พระยาธรรมาธิกรณ์ กับ พระยาวิจิตรนาวี ออกเป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกำหนดที่ทางสำหรับการสร้างพระนครแห่งใหม่ทางฝั่งบางกอกตะวันออกแล้วก็ตาม กล่าวคือ พิธียกเสาหลักเมืองนั้นทำเมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาที คำนวณวันก็ตรงกันวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ซึ่งจะเป็นเสาหลักเมืองในที่เดิมหรือไม่ไม่มีหลักฐาน รู้แต่ว่าเป็นพื้นที่สวนของพระยาราชาเศรษฐี กับพวกชาวจีน ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนแล้วแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยขอให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกชาวจีน นั้นอพยพไปตั้งบ้านเรือนและทำสวนในที่แห่งใหม่ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มยาวไปจนถึงคลองวัดสำเพ็งแทน
พรปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี
ดังนั้น พื้นที่สวนของชาวจีนจึงต้องขนรื้อย้ายออกไปจนเป็นที่ว่างสำหรับการสร้างพระนคร จึงยังไม่มีการก่อสร้างขึ้น นอกจากพระองค์ได้สร้างพระราชนิเวศน์ขึ้นเป็นที่ประทับชั่วคราวแล้วล้อมรอบด้วยระเนียดไม้ให้เป็นปราการป้องกันไปก่อนพอเป็นที่ประทับอยู่ควรแก่เวลา สรุปว่า พระนครกรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่ได้สร้างใน พ.ศ.๒๓๒๕ มีแต่พระราชนิเวศน์ชั่วคราวสำหรับเป็นราชมณเฑียรในการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระปฐมกษัตริย์โดยสังเขป ดังความปรากฏว่า “ครั้น ณ วันจันทร์ เดือนแปด บุรพาษาฒ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีขาล จัตวาศกจุลศักราช ๑๑๔๔ ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขปนิมนต์พระราชาคณะสวดพระปริตรพุทธมนต์ครบ ๓ วันแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือนแปด บุรพาษาฒ ขึ้นสี่ค่ำ เวลารุ่งแล้ว ๔ บาท ได้มหามงคลฤกษ์ พระบาทสมเด็จบรมนารถบพิตร พระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาด ประดับด้วยเรือจำนำท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง แห่โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลังพรั่งพร้อม เสด็จข้ามน้ำริมคงคามา ณ ฝั่งตะวันออก เสด็จขึ้นฉนวนหน้าพระราชวังใหม่ ทรงพระราชยานตำรวจแห่หน้าหลัง เสด็จขึ้นไปยังพระราชมณเฑียรสถาน ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษก..หลังจากนั้นจึงโปรดให้ตั้งกองสักเลก ไพร่หลวง สมกำลังและเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้างไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าลงมาบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลในปีนั้น โปรดให้รื้อป้อมวิชาเยนทร์และกำแพงเมืองธนบุรีข้างฝั่งตะวันออกเสีย ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ เข้ามาขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่บางลำพูตลอดมาออกแม่น้ำข้างใต้เหนือวัดสามปบื้ม ยาว ๘๕ เส้น ๑๓ วา กว้าง๑๐ วา ลึก ๕ ศอก พระราชทานชื่อว่า คลองรอบกรุง”ส่วนการก่อสร้างพระนครนั้น หลังจากที่มีการตระเตรียมอิฐปูน ไม้ครบแล้ว ได้ให้เกณฑ์ลาวเมืองเวียงจันทน์ ๕,๐๐๐ คน และมีตราให้หาผู้ว่าราชการหัวเมืองตลอดจนหัวเมืองลาวริแม่น้ำโขงฟากตะวันตกเข้ามาพร้อมกันในกรุง แล้วให้ปักปันหน้าที่ทั้งข้าราชการในกรุงและหัวเมืองให้ช่วยกันขุดรากก่อกำแพงรอบพระนครและสร้างป้อมเป็นระยะห่างกัน ๑๐ เส้นบ้าง ไม่ถึง ๑๐ เส้นบ้าง ไว้รอบพระนคร ส่วนพระมหาปราสาทที่สร้างถาวรนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายขนาดมาสร้างอย่างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทในกรุงเก่า มีพระปรัศว์ซ้ายขวา และเรือนจันทน์เป็นบริเวณ สร้างเสร็จแล้วได้พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท”ทำพิธียกยอดปราสาทขึ้น เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๒๗ สรุปว่าต้องใช้เวลา ๓ ปี จึงสร้างเป็นกรุงรัตนโกสินทร์แล้วเสร็จ ดังนั้น ในปีมะเส็ง จุลศักราช๑๑๔๗ พ.ศ.๒๓๒๘ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพิธีพระบรมราชาภิเษกตามราชประเพณีอย่างสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.๒๓๒๘พร้อมกับการฉลองสมโภชพระนคร และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มาประดิษฐานเป็นหลักชัยคู่พระนครแห่งใหม่ ซึ่งเป็น เวลาที่ผ่านมา ๒๓๘ ปี ของกรุงรัตนโกสินทร์ต่างหาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี