โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกแบบ Bell เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ในภาวะปกติเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จะมาเลี้ยงกล้ามเนื้อของใบหน้าทั้งด้านบนและด้านล่าง ดังนั้นเมื่อเวลามีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองนี้ จะทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงก่อให้เกิดอาการ หลับตาไม่สนิท แสบตายักคิ้วไม่ได้ มุมปากตก เวลาดื่มน้ำแล้วน้ำไหลออกจากมุมปาก โดยมักเป็นข้างเดียว หรือคนไข้อาจจะได้ยินเสียงดังกว่าปกติจากหูข้างนั้น เนื่องจากเส้นประสาทนี้ยังไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ช่วยลดความดังของเสียงที่จะเข้ามาในหูข้างนั้นด้วย
ความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เกิดได้จากหลายสาเหตุ คือไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อาจจะเป็นจากอุบัติเหตุหรือจากเนื้องอกหรือจากสาเหตุอื่นๆ สิ่งที่ตรวจพบคือมีการอักเสบของตัวเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7โดยมีการบวมของเส้นประสาท สมมุติฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบันคือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยไวรัสที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องคือไวรัสเริม ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก ไวรัสที่ทำให้เกิดคางทูม หรือหัด หรือแม้กระทั่งไวรัสไข้หวัดใหญ่
ปัจจัยอะไรที่ทำให้กลายเป็นโรค
สำหรับปัจจัยเสี่ยง มักพบในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะอายุครรภ์ในไตรมาสที่ 3 หรือ 1 สัปดาห์ในช่วงคลอดกลุ่มที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง หรือมีน้ำหนักตัวมาก
หน้าเบี้ยวครึ่งซีกเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือไม่?
เมื่อมีอาการสิ่งที่ผู้ป่วยหรือญาติมักกังวลคืออาการหน้าเบี้ยวนั้นจะเป็นจากโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือไม่ ซึ่งโรค Bell’s palsy มีความผิดปกติอยู่ที่เส้นประสาทสมองจึงมักมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งซีก ทั้งด้านบนและด้านล่าง ในขณะที่โรคหลอดเลือดสมองซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่เนื้อสมองด้านบนมักทำให้เกิดอาการอ่อนแรงของใบหน้าครึ่งล่าง ดังนั้นผู้ป่วยจะสามารถหลับตาได้สนิทยักคิ้วได้อย่างไรก็ตาม หากมีรอยโรคของหลอดเลือดสมองที่ก้านสมองอาจมีอาการอ่อนแรกของใบหน้าครึ่งซีกได้เช่นเดียวกัน แต่มักพบความผิดปกติอื่นร่วม เช่น อ่อนแรงแขนขา ชาแขนขาหรือใบหน้า หรือมีอาการเวียนศีรษะ ดังนั้นแพทย์ มักทำการตรวจผู้ป่วยเพื่อยืนยันว่ามีอาการผิดปกติจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เท่านั้น หรือมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย
การรักษา
โดยมากโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกมักหายเองได้ ถึง 90% ใน 6 เดือนมีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีอาการอ่อนแรงของใบหน้า การรักษาปัจจุบันพบว่าการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (steroid)ติดต่อกัน 7-10 วัน สามารถลดการบวมและอักเสบของเส้นประสาททำให้หายเร็วขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วยในบางราย
สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือ มีอาการอ่อนแรงหลงเหลือ หรือมีการเจริญของเส้นประสาทที่ผิดปกติทำให้เกิดการเคลื่อนไหวร่วมกันของกล้ามเนื้อหลายมัดในใบหน้าเมื่อถูกกระตุ้น (Synkinesis) เช่น หากผู้ป่วยยิ้มอาจทำให้มีการหยีตาของข้างนั้นร่วมด้วยนอกจากนี้ปัญหาจาการหลับตาได้ไม่สนิทอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อกระจกตาเช่น อาการแสบตา กระจกตาเป็นแผล และอาจส่งผลต่อการมองเห็นของตาข้างนั้นดังนั้นในระหว่างการรักษา แพทย์อาจพิจารณาสั่งน้ำตาเทียมหรือแนะนำให้ใช้ที่ปกปิดดวงตาเพื่อป้องการภาวะแทรกซ้อน
Credit ภาพ : Blumenfeld H.Neuroanatomy Through Clinical Cases. Wiley-Blackwell ; 2010
บทความโดย พ.ท.นพ.ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สูง
แผนกประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี