ดร.ปรีดี พนมยงค์ นักคิดนักเขียนประชาธิปไตย
วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ นี้ ขอเชิญชวน ทุกคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยทั่วกัน เพื่อสร้างรากฐานของประชาธิปไตย ซึ่งทำให้ระลึกนึกถึงวันบุคคลสำคัญของแผ่นดินและเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่รู้จักกันดีคือ วันปรีดี พนมยงค์ ด้วยเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นวันชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๓ ด้วยท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ประชาธิปไตยอยู่มากมาย เช่น เป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้นำการปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย, ผู้นำขบวนการเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง และรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย จึงมีการจัดงานที่ระลึกโดยองค์กรต่างๆ เช่น งานที่ระลึก ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ(อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งพิธีสักการะรูปหล่ออนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงคุณูปการทางวิชาการ ที่มีตำรับตำราหลายเล่มจากผู้ประศาสน์การและศิษย์คนสำคัญของท่าน และกิจกรรม “ปาฐกถาวันปรีดี พนมยงค์” จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเชิญนักคิดนักวิชาการคนสำคัญมาเป็นองค์ปาฐก “ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์”ทุกปีจึงเป็นองค์ความรู้จากครูบาอาจารย์นักวิชาการคนสำคัญที่สืบต่อกันมาจนวันนี้นายปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นนักกฎหมาย อาจารย์นักกิจกรรม นักการเมือง และนักการทูตชาวไทยผู้ได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างสูง เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๗ และรัฐมนตรีหลายกระทรวงเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ประศาสน์การ(ผู้ก่อตั้ง) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองและเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย คือ เริ่มต้นจากสามัญชนผู้เกิดในครอบครัวชาวนาของเมืองกรุงเก่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการส่งเสียให้ได้รับการศึกษาที่ดี จนสำเร็จการศึกษาจากเนติบัณฑิตยสภา และสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เป็นนักเรียนทุนศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษาขั้นดุษฎีบัณฑิตณ มหาวิทยาลัยปารีส ใน พ.ศ.๒๔๖๙
กิจกรรมมธ.วันปรีดี พนมยงค์
ท่านได้เป็นหนึ่งของสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎรในประเทศฝรั่งเศสในปีเดียวกัน จากนั้นเดินทางกลับประเทศเพื่อประกอบอาชีพเป็นผู้พิพากษา ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย และอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายปกครอง ณ โรงเรียนกฎหมาย หลังจากการปฏิวัติสยามในปี ๒๔๗๕ ท่านมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับแรกของประเทศ และวางแผนเศรษฐกิจหลังเดินทางออกนอกประเทศช่วงสั้นๆ เนื่องจากปฏิกิริยาต่อแผนเศรษฐกิจของเขา เขาเดินทางกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลพระยาพหลพลพยหุเสนา และ แปลก พิบูลสงครามมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย การวางรากฐานการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะราชการส่วนท้องถิ่น การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศ ตลอดจนการปฏิรูปภาษี ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘ และเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ซึ่งมีความเห็นต่างต่อการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ถือโทษให้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม หลังสงครามยุติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ รัฐบุรุษอาวุโส จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ท่านถูกใส่ร้ายจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตทำให้ท่านลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสองครั้ง จนเกิดรัฐประหารปี ๒๔๙๐ ทำให้ท่านต้องลี้ภัยการเมืองนอกประเทศอยู่ในประเทศจีนและฝรั่งเศส โดยไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีก แต่ตลอดเวลานั้นท่านยังแสดงความเห็นทางการเมืองในประเทศไทยและโลกอยู่เสมอจนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ท่านเป็นนักต่อสู้ความชอบธรรมมาตลอด ดังนั้น คดีหมิ่นประมาทที่ท่านเป็นโจทก์ฟ้องนั้นศาลยุติธรรมให้ท่านชนะทุกคดีนับเป็นบุคคลผู้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านเผด็จการทหาร เสรีนิยม และใน พ.ศ.๒๕๔๒ ยูเนสโกได้ยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก และในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล ซึ่งท่านได้รับการยกย่องยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นเสาหลักของประชาธิปไตยโดยแท้จริง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี