การเป็นนักร้องสมัยพี่นั้นมีขนบมีธรรมเนียม มีความเคารพครู และรุ่นพี่ๆ ต้องอดทน ต้องอุตสาหะ เราต้องตั้งใจฝึกฝนตามครูบอก และต้องมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน เพราะมันคือสิ่งทำให้เราเจริญก้าวหน้า และมีระเบียบวินัย
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณไปสนทนาเรื่องขนบธรรมเนียมของนักร้องในยุค 50 ปีที่แล้ว กับ คุณโฉมฉาย อรุณฉาน (คุณนิตยา
อรุณวงศ์) เลขาธิการสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย เจ้าของเพลงสมมุติว่าเขารัก
เรียนถามว่า เข้าสู่วงการนักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์ได้อย่างไรครับ
คุณโฉมฉาย : เริ่มจากในบ้านก่อนเลยค่ะคุณพ่อคุณแม่ฟังเพลงสุนทราภรณ์มาโดยตลอด และในบ้านก็จะจัดประกวดร้องเพลงโดยคุณพ่อเป็นกรรมการ แล้วให้ลูกๆ ประกวดกันมีรางวัลให้ด้วยนะคะ แล้วบางวันคุณพ่อก็เล่านิทานเรื่องที่สอนให้เกิดความสามัคคีในบ้าน นี่คือสิ่งที่ปลูกฝังตัวพี่มาตั้งแต่เด็กพี่จึงซึมซับเพลงสุนทราภรณ์มาตลอด เมื่อพี่โตขึ้นเป็นนักเรียนคุณตาก็พาไปสมัครเป็นนักเรียนร้องเพลงของกรมประชาสัมพันธ์โดยครูเพลงก็บอกว่า ให้ลองมาฝึกดู ร้องได้ก็ร้อง ร้องไม่ได้ก็ไม่ได้ร้อง มาลองดูก่อน
ช่วงนั้นคุณพี่อายุเท่าไรครับ ฝึกนานไหมครับ
คุณโฉมฉาย : ประมาณ 16-17 ปีค่ะ แล้วก็ไปเรียนร้องเพลงที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีด้วย ที่นั่นฝึกให้พี่ฟังโน้ตอย่างจริงจัง ตามวิธี ear training ต้องฟังได้ว่าครูท่านกดคีย์ตัวไหน แล้วต้องบอกให้ตรงตามคีย์ เราได้รับการฝึกทั้งฟังโน้ตเพลง และการร้องออกเสียง เมื่อเราคุ้นชินกับโน้ตแล้ว เราจะร้องเพลงไม่เพี้ยน การฝึกร้องเป็นไปตามวิธีการของกรมประชาสัมพันธ์ ควบคุมโดยคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน และคุณครูเพลงอื่นๆ อีกหลายท่าน เช่น คุณครูตอง มะลิวัลย์คุณครูเจษฎา เดชอุดม และคุณครูยรรยง เสลานนท์ เป็นต้น แล้วยังมีนักร้องรุ่นพี่ๆ ให้ความช่วยเหลือด้วย ท่านเน้นการเรียนรู้อยู่แบบธรรมชาติ คือฝึกออกเสียงออกจากช่องท้อง คุณครูท่านให้ร้องเพลงมาร์ช ไทยรวมกำลัง เพลงปลุกใจทั้งหลาย เพื่อออกเสียงให้ถูกต้องถูกวิธี ท่านเน้นเรื่องโสตประสาทมาก ต้องเรียนเปียโนเพื่อฝึกโสตประสาท ต้องท่องโน้ตเพลงให้คล่อง ฝึกทุกวันเพื่อให้มันซึมเข้าไปในโสตประสาทของเรา เราต้องกดคีย์เปียโนแล้วร้องไปด้วยพร้อมๆ กัน เพื่อให้เสียงกับคีย์ไปด้วยกันได้ดีที่สุด ได้รับการวางรากฐานการร้องเพลงอย่างดี จึงใช้เสียงถูกวิธี และการฟังโน้ตได้ถูกต้องทุกโน้ต จนประสาทหูเราแม่นยำกับโน้ตทุกตัว ต้องแยกโสตประสาทได้ สมัยนั้น คุณครูเพลง และนักร้องรุ่นพี่ๆ ช่วยดูแลเอาใจใส่กับเรามาก โดยเฉพาะคุณครูเอื้อท่านเก่งมากในเรื่องการฟัง ท่านจับได้ทันทีว่าเราร้องเสียงเพี้ยนจากโน้ตหรือไม่ ต้องตั้งใจฝึกซ้อมมาก ใช้เวลาฝึกนานมากกว่าจะได้ขึ้นร้องเพลง ต้องไปคอยดูว่าจะมีงานที่ไหน แล้วก็ต้องซ้อม ซ้อม และซ้อมตลอด โดยไม่รู้หรอกว่าจะได้ขึ้นร้องเพลงวันไหน หรืองานไหน การซ้อมก็ใช้แบบร้องเพลงหมู่ เราก็อดทนซ้อมไป ไม่เคยถามว่าจะให้หนูร้องวันไหน เราทำได้คืออดทนและฝึกซ้อม หลายครั้งที่เราไปงานแล้วไม่ได้ร้องเพลงเดี่ยวได้แต่ร้องเพลงหมู่ ครูท่านมีเหตุผลของท่าน ท่านต้องการฝึกให้เราอดทน ต้องเพียรพยายาม เราต้องแสดงให้ท่านเห็นว่าเราตั้งใจจริง และอดทนอย่างแท้จริง แล้ววันหนึ่งเมื่อนักร้องขาดพี่ก็ได้ขึ้นร้องเพลง นักร้องรุ่นพี่ๆ เช่น คุณศรีสุดา รัชตะวรรณ คุณวรนุช อารีย์ ถามพี่ว่าร้องเพลงคืนนั้นได้ไหม พี่บอกว่าได้ค่ะ ร้องได้ ก็จึงได้ขึ้นไปร้อง เมื่อเราได้ร้องเพลงใดเพลงหนึ่งแล้วก็ต้องร้องเพลงนั้นไปเรื่อยๆ ในงานอื่นๆ ด้วย ห้ามเปลี่ยนเพลง ต้องร้องเพลงนั้นได้ในทุกจังหวะเพลง ตอนหลังจึงรู้ว่านี่คือการฝึกความอดทน และฝึกให้เราคุ้นเคยกับเวที โดยเฉพาะการร้องเพลงหมู่นั้น เป็นการฝึกให้คุ้นกับเวทีได้อย่างดีมาก เพราะการขึ้นร้องเพลงเดี่ยวนั้น บางคนตื่นเวที ประหม่าจนคุมอาการไม่ได้ เมื่อเราร้องเพลงหมู่จนชำนาญทั้งเสียงร้องและการขึ้นเวทีแล้ว ก็ทำให้เรามั่นใจเวลาขึ้นร้องเดี่ยว
เวลาไปงานร้องเพลงในสมัยก่อนนั้น นักร้องใหม่ต้องทำอะไรบ้างครับ
คุณโฉมฉาย : เราต้องรอและเฝ้าข้างเวทีตลอดเวลา ไปไหนไม่ได้เลย ห้ามทิ้งไปไหนไกล ต้องเตรียมตัวตลอดเวลา เมื่อ intro เพลงขึ้น แล้วเรารู้ว่านี่คือเพลงของเรา ก็ต้องออกไปร้องทันที ไม่มีการประกาศเรียกนักร้อง ทุกคนต้องคอยฟังและคอยดู ต้องรู้คิวเพลงของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเพลงหมู่ หรือเพลงเดี่ยว ทุกอย่างเป็นไปตามที่ครูท่านกำหนดไว้ เราไม่มีสิทธิ์เลือกตามอำเภอใจ เพราะครูท่านวางเพลงไว้เรียบร้อยแล้ว เราแค่เตรียมตัวให้ดีที่สุด พร้อมที่สุดกับการร้องเพลงของเราเท่านั้น
แสดงว่านอกจากต้องฝึกฝนจนชำนาญแล้ว ยังต้องมีความอดทนอย่างสูงด้วย
คุณโฉมฉาย : ใช่ค่ะ ความอดทนสำคัญที่สุดค่ะ เราต้องอดทน จนวันหนึ่งเรามีโอกาสได้ขึ้นร้องเพลงเดี่ยว การเป็นนักร้องสมัยก่อนนั้น หากพลาดโอกาสก็หมายความว่าต้องรอไปอีก ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีโอกาสใหม่อีกเมื่อไร การทำแผ่นเสียงให้กับนักร้องสมัยก่อนนั้น ครูจะคัดเลือกจากนักร้องที่เสียงดี และมีความอดทน มีความเพียร ทั้งคุณครู และรุ่นพี่ๆ จะเฝ้าสังเกตว่าเรามีความเพียรมากน้อยแค่ไหน ขยันฝึกซ้อมหรือไม่รับผิดชอบในงานที่มอบหมายให้หรือไม่ สำหรับพี่นั้น พี่ซ้อมตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน คุณครูท่านมอบหมายอะไรให้ก็ตั้งใจและเต็มใจทำทุกอย่าง ไม่เกี่ยงงอน ไม่ต่อรอง คุณครูท่านจะสังเกตตลอดเวลาว่านักร้องคนไหนมีความเด่นตรงไหนแต่ที่สำคัญคือท่านให้นักร้อง ร้องเพลงตามธรรมชาติของแต่ละคน ดูว่าใครเหมาะกับเพลงแบบไหน ก็จะให้ร้องเพลงนั้นๆ
เพลงสมมุติว่าเขารัก เป็นเพลงแรกที่พี่ได้รับคัดเลือกให้บันทึกแผ่นเสียง พี่ช่วยกรุณาเล่าให้ฟังด้วยครับ ทำไมจึงได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลงนี้
คุณโฉมฉาย : จริงๆ แล้วพี่ไม่ใช่คนที่ถูกคุณครูคัดเลือกเพียงคนเดียวในยุคนั้น ยังมีนักร้องดาวรุ่งสุนทราภรณ์อีกหลายคน แต่ละคนก็ได้รับเพลงต่างๆ กันไป เช่น คุณนพดฬชาวไร่เงิน คุณสุวณีย์ เนื่องนิยม คุณรัตนสุดา วสุวัตคุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส คุณอรณี กานต์โกศล คุณโสม อุษาคุณอาภา สวนขวัญ และอีกมากมายกล่าวไม่หมดในที่นี่แต่สำหรับเพลงสมมุติว่าเขารัก ที่พี่ได้ขับร้องนั้น เนื่องจากคุณครูท่านเห็นว่าเรายังเด็กเป็นสาวแรกรุ่น ก็น่าจะให้ร้องเพลงเพ้อๆ ฝันๆ ไป ก็จึงได้เพลงนี้เพลงที่ร้องนั้นเป็นเรื่องสมมุติ เป็นความฝัน อ้าว เราฝันไปหรือนี่ (หัวเราะ) เพลงนี้คุณครูเอื้อแต่งกับคุณครูธาตรี พี่ภูมิใจมากที่ได้รับเลือกให้ร้องเพลงนี้ แล้วก็บอกกับตัวเองว่า นี่คือผลของความอดทน เพียรพยายามของเรา เราจึงมีวันนี้ พี่ย้ำเลยว่านอกจากเคารพคุณครูแล้ว ต้องเคารพรุ่นพี่ๆ ด้วย เรามีธรรมเนียมรุ่นพี่รุ่นน้อง น้องเคารพพี่ พี่ดูแลน้อง ปกครองกันเป็นรุ่นๆ ต่อๆ กันมา รุ่นพี่เมตตาสอนเรา นี่คือวัฒนธรรมของเรา เราสืบทอดกันมาเช่นนี้ แล้ววันหนึ่งพี่สอบบรรจุเข้ากรมประชาสัมพันธ์ได้ ก็บอกกับตัวเองว่า เราต้องทำงานให้กับหลวงท่านให้ดีที่สุด เพราะเราเป็นข้าราชการ เราต้องทำให้เต็มที่เต็มความสามารถ เราทำดีต่อหลวง หลวงก็จะดูแลเราเป็นอย่างดี หลวงจะปกป้องคุ้มครองเราด้วย
เรียนถามครับ ร้องเพลงหมู่ยากกว่าร้องเพลงเดี่ยวมากไหมครับ
คุณโฉมฉาย : ร้องเพลงหมู่ยากกว่าเพลงเดี่ยวมากค่ะ ต้องร้องให้เสียงเสมอกัน วรรคแบบเดียวกันถ้าวรรคไม่เหมือนกันเสียงจะเหลื่อม เพลงหมู่แสดงความพร้อมเพรียงได้ดี ครูท่านเก่งมาก ฟังทีเดียวรู้เลยว่าใครเสียงแลบ ใครลากเสียงยาวกว่าโน้ต ใครโหนหรือเกาะเสียงของเพื่อน ท่านฟังแล้วรู้ ท่านเรียนมาร้องเดี่ยวเรียงตัว ท่านรู้แม้กระทั่งนักดนตรีคนไหนเล่นเต็มที่หรือเล่นแบบไม่เต็มกำลัง เช่น คนเป่าทรัมเป็ต เป่าแซกโซโฟน คนไหนเป่าแบบอมปี่ คืออู่ ท่านจับได้ ท่านให้เป่าใหม่ ท่านเอาจริงมาก ทุกคนจะเกรงคุณครูมาก และรู้ว่าท่านเอาจริงเพื่อให้ทุกคนเก่ง ท่านมีเมตตาธรรมสูงมาก ท่านให้ทุกคนต้องร้องเพลงได้ทุกเพลง เพราะว่าเวลานักร้องคนไหนขาด ก็จะได้ร้องแทนได้ทันที แต่คุณครูท่านจะเลือกว่าใครร้องเพลงอะไร เพลงไหนเหมาะสมกับใคร
นอกจากเพลง สมมุติว่าเขารัก ที่พี่ขับร้อง ผมจำได้ว่าพี่ร้องเพลงปลุกใจไว้หลายเพลงด้วยครับ
คุณโฉมฉาย : ค่ะ มีหลายเพลง และมีบทเพลงพระราชนิพนธ์ด้วย เช่น ไทยสามัคคี ซึ่งเพลงนี้ต้องกราบเรียนว่าร้องยากมาก ฝึกนานมาก การออกเสียงต้องตรงเป๊ะตามโน้ต ห้ามผิดเพี้ยนเป็นอันขาด คุณครูท่านเน้นหนักเรื่องการออกเสียงในการร้องเพลงมากเป็นพิเศษ ท่านประณีตกับเรื่องนี้มาก ท่านเน้นเสียงควบกล้ำ ตัวรอเรือ ลอลิง การกระดกลิ้น เพื่อให้เสียงอักษรแต่ละตัวชัดเจน
อะไรคือสิ่งที่พี่ได้จากการฝึกฝนตั้งแต่วันแรกจนถึงบัดนี้ครับ
คุณโฉมฉาย : พี่ถูกปลูกฝังให้ภูมิใจในรากเหง้าของเรา พี่ภูมิใจในสถานที่ที่พี่อยู่ พี่ถูกฝึกระเบียบวินัยขององค์กรจนรักและหวงแหนองค์กร เรารักกรมประชาสัมพันธ์มาก เพราะเป็นบ้านของเรา พี่อุทิศให้กับกรมประชาสัมพันธ์ได้เสมอ เพราะคือบ้านของพี่ เราต้องกตัญญูต่อสิ่งมีบุญคุณกับเราเราต้องเคารพคุณครู เคารพรุ่นพี่ๆ รักษาระเบียบขององค์กรเราปฏิบัติจนชิน ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากลำบากกับสิ่งที่เรากระทำทุกวัน และพี่ก็ซาบซึ้งดีว่าเพลงของสุนทราภรณ์มีเอกลักษณ์แบบฉบับของตนเอง มีเสน่ห์มาก เราภูมิใจในเพลงแบบสุนทราภรณ์ เราไม่ได้บอกว่าเราดีกว่าคนอื่น แต่เรามีแบบฉบับของเรา เป็นเอกลักษณ์ของเรา เราเน้นความเป็นไทย มีลีลาการร้องที่บอกได้ชัดเจนว่านี่คือเพลงสุนทราภรณ์
จะฝากบอกอะไรกับคนทั่วไปว่า ทำไมเราจึงต้องช่วยกันรักษาขนบ ประเพณี ของเราไว้ครับ
คุณโฉมฉาย : เรามีชาติพันธุ์ของเรา คนแต่ละเผ่าพันธุ์ล้วนมีชาติพันธุ์ของตัวเอง เราเป็นคนไทย เรามีความเป็นไทย มีเชื้อสายไทย มีเอกลักษณ์ไทย เรามีรากมีเหง้า มีความเป็นมา มีรกมีราก เราต้องศึกษาความเป็นมาของเราให้ดี และบำรุงรักษาไว้ให้ยาวนาน เราต้องภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของเรา เราต้องอบรมบ่มเพาะให้ลูกหลานของเราภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของเรา ต้องฝากสถาบันครอบครัวให้ช่วยกันดูแลและรักษาเรื่องนี้ไว้ให้ดี ต้องปลูกฝังเด็กๆ ของเราให้เข้าใจ เพื่อเขาจะได้ช่วยกันรักษาต่อไป เมื่อปลูกฝังจากบ้านแล้ว โรงเรียนและสังคมรอบตัวก็ต้องช่วยกันปลูกฝังด้วย เราไม่ได้ปฏิเสธความทันสมัย แต่เราต้องไม่ละทิ้งไม่หลงลืมรากเหง้าของเรา เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้บ้านเมือง และเผ่าพันธุ์ของเราดำรงอยู่ต่อไปนานเท่านาน
คุณจะได้ชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTubeไลฟ์ วาไรตี
ขอบคุณภาพจาก โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี