ภาวะเลือดจางเป็นภาวะที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงปกติน้อยลงไม่เพียงพอที่จะนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกายหรือมีระดับของฮีโมโกลบินต่ำกว่าปกติทำให้มีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่ายภาวะเลือดจางมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดเลือดจางอาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมหรือเกิดขึ้นภายหลัง เป็นชั่วคราวหรือเรื้อรังและมีความรุนแรงน้อย ปานกลาง หรือ รุนแรง ภาวะเลือดจางมักเกิดจากสาเหตุหลายอย่างร่วมกันในผู้ป่วยส่วนใหญ่ การรักษาภาวะเลือดจางขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดจาง
อาการและอาการแสดง
อาการและอาการแสดงมีหลากหลายขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของเลือดจางและโรคที่เกี่ยวข้องหรืออาจไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้ ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อล้า เหนื่อยง่ายใจสั่น ซีด ผิวเหลือง หายใจเร็ว หอบเหนื่อย วิงเวียนศีรษะ มึนงง อาจเจ็บหน้าอก อาการและอาการแสดงจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีเลือดจางมากขึ้น ในผู้ที่ไปบริจาคเลือดแล้วได้รับแจ้งว่าเลือดลอยหรือมีค่าฮีโมโกลบินน้อยเกินไปบริจาคเลือดไม่ได้แสดงว่ามีเลือดจาง ในผู้ที่บริจาคเลือดหลายครั้งแล้วไม่ได้รับประทานยาบำรุงเลือดที่ได้รับแจกมาหลังบริจาคเลือดจะมีเลือดจางได้
สาเหตุหลัก
1. ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง
2. มีการเสียเลือดหรือมีเลือดออกโดยเฉพาะในทางเดินอาหารมากกว่าที่ไขกระดูกจะสร้างทดแทนทัน
3. เม็ดเลือดแดงถูกทำลายไปมีอายุสั้นกว่าปกติ
ชนิดต่าง ๆ ของเลือดจางได้แก่
1. เลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก เป็นชนิดเลือดจางที่พบมากที่สุดเกิดจากร่างกายขาดธาตุเหล็กในการสร้างฮีโมโกลบิน เช่นในภาวะตั้งครรภ์ทารกในครรภ์ต้องการใช้ธาตุเหล็กมากขึ้นถ้าไม่ได้รับธาตุเหล็กทดแทนจะทำให้แม่เกิดเลือดจางได้ สาเหตุอื่นที่มีการเสียเลือดมากขึ้น ได้แก่ ในหญิงที่มีประจำเดือนมามากกว่าปกติทุกๆ เดือน หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรหาสาเหตุการเสียเลือดที่พบบ่อยๆ เหล่านี้จึงจะรักษาหรือป้องกันภาวะเลือดจางนี้ได้
2. ภาวะขาดไวตามิน โดยเฉพาะ โฟเลท และวิตามินบี 12 ซึ่งพบในอาหารบางชนิดถ้ารับประทานไม่เพียงพอจะเกิดเลือดจางได้ หรือในผู้ป่วยบางรายมีการสร้างภูมิต้านทานต่อเซลล์ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้ไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12
3. ภาวะเลือดจางที่เกิดจากการอักเสบที่มีโรคบางชนิดร่วมด้วย ได้แก่ มะเร็ง โรคเอดส์ รูมาตอยด์ และโรคไต เป็นต้น ภาวะเหล่านี้จะมีการสร้างสารบางอย่างมายับยั้งการสร้างเม็ดเลือดแดง
4. โรคไขกระดูกฝ่อ เป็นภาวะมีพบน้อยแต่มีอาการรุนแรงมากเกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด ยาบางชนิด ได้รับสารพิษบางชนิด หรือมีภูมิคุ้มกันต่อตนเอง
5. โรคของไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ไขกระดูกเป็นพังผืด ทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงไม่ได้
6. ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก มีเม็ดเลือดแดงผิดปกติทำให้มีอายุสั้น เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมและเกิดขึ้นภายหลัง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเลือดจาง
1. รับประทานอาหารที่ขาดไวตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด
2. โรคลำไส้บางชนิดมีการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ
3. หญิงวัยเจริญพันธุ์มีการเสียเลือดทางประจำเดือนทุกเดือน
4. ภาวะตั้งครรภ์
5. โรคเรื้อรังต่างๆ ที่เป็นอยู่ทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงลดลง เสียเลือดเรื้อรัง
6. ประวัติครอบครัวที่มีโรคทางพันธุกรรม
7. สูงอายุ
8. อื่นๆ เช่น โรคติดเชื้อบางชนิด โรคเลือดโรคแพ้ภูมิตนเอง โรคพิษสุราเรื้อรัง ได้รับสารพิษหรือยาบางชนิด
การป้องกัน
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ เมล็ดธัญพืชต่างๆ ที่อุดมไปด้วยวิตามินชนิดต่างๆ
พลโท รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย ประยูรวิวัฒน์
ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี