โรงหมอรักษาไข้ในอดีต
การสร้างหนังและละครนั้นส่วนมากมักนำสาระความรู้จากวรรณคดี ประเพณีวัฒนธรรม วิถีไทยสอดแทรกในเรื่องอยู่บ่อยครั้ง ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์อยู่หลายเรื่อง เช่น พระเจ้าช้างเผือก,พันท้ายนรสิงห์, ขุนศึก, มหาราชดำ, ผู้ชนะสิบทิศ, สี่แผ่นดิน, บางระจัน ก็ยังอยู่ในวงจำกัด เมื่อมีการสร้างละครหลายเรื่องสร้างในทำนองเดียวกันเผยแพร่ทางละครทีวี ก็ทำให้หลายคนซาบซึ้งและเข้าถึงงานวัฒนธรรมจากการเป็นสื่อเข้าถึงทุกบ้าน
ละครหลายเรื่องที่รู้จักกันดี เช่น ระนาดเอก, โหมโรง หลังสุดก็คือเรื่อง บุพเพสันนิวาส ละครที่สร้างกระแสย้อนรอยวิถีวัฒนธรรมไทย จนพากันแต่งกายแบบไทย
ตามอย่างไปทั่วประเทศ แต่สำหรับเรื่องภูมิปัญญาไทย อย่างเช่น หมอยาไทย หรือแพทย์แผนไทยนั้น ต้องถือเป็นเรื่องยากมากสำหรับการสร้างสรรค์ละครให้โดนใจคนชม ซึ่งต้องขอชื่นชมกับความสำเร็จของละครเรื่อง“หมอหลวง” หมอสมัย ร.๓ ทางช่อง ๓ ที่ คุณชุดาภาจันทเขตต์ และ คุณปิยะ เศวตพิกุล กับทีมงานที่ตีบทแตกแทรกสาระจนได้รับความนิยมกันมาก
คณะผู้จัดละครหมอหลวง
แม้ว่าจะเป็นละครหมอคนละสมัยกับเรื่อง หมอยาท่าโฉลง..หมอสมัย ร.๕ ก็ต้องถือว่าเป็นละครดังสองเรื่องนี้ได้ฟื้นกระแสหมอไทยและตำราสมุนไพรให้กลับคืนมาในทันที จนรู้สึกได้ถึงคุณค่าภูมิปัญญาไทยของหมอหลวง-หมอเชลยศักดิ์นั้น ไม่ได้หายไปจากแผ่นศิลาจารึกวัดพระเชตุพนเลย ดังนั้น การที่กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3จัดงานเสวนา “ส่งเสริมอำนาจละมุน Soft Powerผ่านละครไทย” จากเรื่องหมอหลวง เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๖ โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหารได้ร่วมยินดีกับผลงานละครหมอหลวง ท่ีได้รับความนิยมและทำให้เห็นอนาคตของการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมออกสู่ระดับสากลไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ชุมชนทั่วประเทศให้เห็นเป็นรูปธรรม ผ่านฟิล์มหรืออุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะละครทางสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล
โดยเฉพาะ ละครหมอหลวงนี้ ยังมีการจำหน่ายลิขสิทธิ์เพื่อไปออกอากาศต่อยังแพลตฟอร์มของต่างประเทศ ซึ่งทำให้ละครหมอหลวง เป็นสื่อประสานที่ผลักดัน
เรื่องสมุนไพร แพทย์แผนไทย และอาหารไทย ให้เป็นที่สนใจในวงกว้างของผู้ชมทั้งในและนานาชาติ อันเป็นกรณีศึกษาในการใช้สื่อบันเทิงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันพลังความนุ่มเนียนทางวัฒนธรรมจากสื่อบันเทิง ไปสู่โลกของวัฒนธรรมจนยอมรับกันแพร่หลาย หากสืบค้นเรื่องหมอหลวงก็จะรู้ได้ว่าก่อนสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อราวพ.ศ.๑๗๙๒-พ.ศ.๑๙๙๘ นั้น ไม่มีจารึกตำราหรือเอกสารโบราณได้เหลือตกทอดมา แต่ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันก็คือการจดจำจากบรรพบุรุษหมอไทยที่สืบทอดท่องจดจำกันมาจนมีการชำระรวบรวมในสมัยรัชกาลที่ ๓
ชุดาภา จันทเขตต์ ผู้สร้างละครหมอหลวง
ส่วนตำแหน่งหมอหลวงนั้้น ต้องอ้างจาก “กฎหมายตราสามดวง” ที่ตราขึ้น พ.ศ.๑๙๙๘ นั้น ระบุตำแหน่งหมอในกรมต่างๆ หลายกรม เช่น กรมแพทยา กรมหมอยากรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรค โรงพระโอสถ แต่ละกรมมีเจ้ากรมกำกับดูแล ซึ่งมีความระบุว่า “…ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี
อะไภยพิรียบรากรมพาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ นา ๒๐๐๐ พระศรีมโหสถ ราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ เจ้ากรมแพทยาหน้า นา ๑๖๐๐ เจ้ากรมหมอนวด ซ้าย ขวา หลวงราชรักษา หลวงราโชนาคล๑๖๐๐ ออกพระสิทธิสาร เจ้ากรมหมอยาซ้าย นา ๑๔๐๐…”
ดังนั้น ตำแหน่ง “ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดีฯ จึงเป็นหมอหลวงคนสำคัญ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโรงพระโอสถ มีบทบาทสำคัญในการปรุงยา เสาะหา รวบรวมและดูแลรักษาเครื่องยาสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งการปรุงยาหลวง และประสานงานกับหมอในกรมอื่นๆโดยเฉพาะกรมหมอนวดที่มีความสำคัญด้วย “การนวด” นั้นเป็นการบำบัดโรคพื้นฐานในสมัยนั้น เดอ ลาลูแบร์ (de la Loube`re) ราชทูตชาวฝรั่งเศส ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ว่า “...ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มทำให้เส้นสายยืด โดยให้ผู้ชำนาญการในทางนี้ ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ และใช้เท้าเหยียบๆ...” หลักฐานสำคัญของหมอหลวงโบราณที่ตกทอดมาจนวันนี้ คือ “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ถือเป็นต้นตำรับตำราหมอหลวงที่ทำให้มีการคัดลอกลงสมุดไทยและจารึกไว้ที่วัดโพธิ์ วัดราชโอรสในสมัยรัชกาลที่ ๓ ปัจจุบันจารึกตำรานี้ คือ บันทึกความทรงจำของโลกไปแล้ว...ดังนั้น เรื่องหมอหลวง ตำราสมุนไพร และนวดไทย จึงคือภูมิปัญญาไทยที่ไม่สูญหายไปแน่นอน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี