เราพูดถึงเรื่องการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมาต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์แล้ว โดยเฉพาะสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น acesulfame potassium, advantame, aspartame, cyclamate, neotame, saccharin, steviol glycosides, sucralose และเราก็ทราบแล้วว่า สารเหล่านี้ไม่ได้ช่วยควบคุมน้ำหนัก ไม่ได้ทำให้เป็นเบาหวานน้อยกว่าคนที่กินน้ำตาล แต่ที่น่าตกใจคือ คนที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้ ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือดสูงกว่าคนที่ไม่บริโภค
นั่นหมายความว่าการบริโภคน้ำตาลเทียมแทนน้ำตาลปกติ ไม่ช่วยป้องกันโรคอย่างที่เราคาดหวัง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังคงย้ำว่า เราสามารถใช้น้ำตาลเทียมเหล่านี้เพื่อลดปริมาณน้ำตาลและพลังงานที่เรารับสู่ร่างกายได้
สัปดาห์นี้ จะพูดถึงผลต่อสุขภาพของคนในกลุ่มใช้น้ำตาลเทียมเป็นประจำอีก 2 หัวข้อ คือ โอกาสเกิดมะเร็ง และการคลอดก่อนกำหนด
ในรายงานการวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าผู้ใช้น้ำตาลเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งขัณฑสกร หรือ saccharine เป็นประจำ เสี่ยงเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อย่างตกอกตกใจเกินไปว่า น้ำตาลเทียมเป็นสารก่อมะเร็ง เพราะเมื่ออ้างจากงานวิจัยลักษณะ โดยการเก็บข้อมูลย้อนหลังเท่านั้น แต่อันที่จริงก็ยากที่จะระบุถึงปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดของโรคมะเร็ง ระหว่างคนใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลกับผู้ไม่ใช้น้ำตาลเทียม ได้อย่างละเอียด
ขัณฑสกร หรือ saccharine เป็นสารให้ความหวานสังเคราะห์ที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 300-700 เท่า มักถูกนำไปใช้ในอาหารจำพวก ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กวน
ทั้งนี้ คณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ของไทยไม่อนุญาตให้ใช้สารนี้ในเครื่องดื่ม แต่เพราะสารนี้มีราคาถูก ผู้ผลิตอาหารที่ไม่มีความรู้ หรือไร้จรรยาบรรณ ก็ยังใช้เพื่อลดต้นทุน ดังนั้น ถ้าเราจะเลี่ยงขัณฑสกร เพื่อลดความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ก็ต้องเลี่ยงการบริโภคอาหารหวานจัด จากผู้ผลิตที่ไม่น่าไว้วางใจ
อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องสารให้ความหวานแทนน้ำตาลกับการคลอดก่อนกำหนด รายงานของ WHO ระบุว่าการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเล็กน้อย
ในส่วนนี้ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลตัวใด แต่กลุ่มคนที่น่าห่วงก็คือคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งต่อไปนี้ต้องระวังมากขึ้น
ข้อคิดที่ได้จากรายงานเรื่องสารให้ความหวานแทนน้ำตาลของ WHO คือ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีทางลัด สำหรับการมีสุขภาพดี แต่ต้องปฏิบัติตัวตามองค์ความรู้ที่เรียนมาสมัยเด็กๆ คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม ลดความหวาน (ไม่ใช่แค่ลดน้ำตาล)ลดเค็ม ลดมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างสม่ำเสมอ เมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น หากเจ็บป่วยก็ต้องไปพบแพทย์ตามนัด และใช้ยาตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี