สยามพิวรรธน์ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตเปรูประจำประเทศไทยจัดงาน “Torito de Pucará : Ambassador of the Peruvian Highlands” นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะการเพ้นท์ลวดลายเซรามิกบนหุ่นวัวที่จัดแสดงไปทั่วโลกเพื่อเป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเปรูที่มีต่อกันอย่างแน่นแฟ้นยาวนาน และสร้างโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมระดับโลก (Oppor tunity Platform)โดยจะจัดแสดงในประเทศไทยระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน-23 กรกฎาคม 2566 ณ ชั้น 5 สยามดิสคัฟเวอรี่ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม
นิทรรศการ “Torito de Pucará :Ambassador of the Peruvian Highlands” เป็นโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศของเปรู ผ่านสำนักงานแห่งเมืองปูโน ร่วมกับเทศบาลเมืองเลอัล บิยา เด ปูการาและสมาคมช่างฝีมือปูการาทั้ง 10 แห่ง ที่ได้รวบรวมเซรามิกมากกว่า 500 ชิ้น โดยช่างฝีมือที่ได้รับการส่งเสริมและสืบสานประเพณีเครื่องปั้นดินเผาโบราณตั้งแต่ปีพ.ศ.2565 ทั้งนี้ผลงานที่รวบรวมได้ทั้งหมดจะถูกแบ่งออกไปจัดแสดงนิทรรศการยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ผลงาน “Torito de Pucará” หรือ “กระทิงน้อยแห่งปูการ่า” ที่นำมาจัดแสดงที่ประเทศไทยในครั้งนี้เป็นผลงานที่หมุนเวียนจัดแสดงยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากมีต้นกำเนิดจากเมืองเชกา ปูปูฆา จังหวัดอาซันกาโร แคว้นปูโน โดยได้รับการสร้างสรรค์เป็นผลงานประติมากรรมเซรามิกที่มีรูปร่างเหมือนกระทิง ตกแต่งด้วยลวดลายและดอกไม้หลากสีสัน ซึ่งแต่ละลวดลายจะมีความหมายที่แตกต่างกันไป
การสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมเซรามิกกระทิงน้อยแห่งปูการ่านั้น เป็นผลงานศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความตั้งใจ รวมถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้า ซึ่งในทุกขั้นตอนล้วนต้องใช้ฝีมือการปั้นด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท หลังจากที่ปั้นเป็นรูปทรงกระทิงแล้ว ศิลปินจะตกแต่งรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนจะวางไว้จนแห้ง แล้วนำไปเข้าเตาเผา จากนั้นจึงนำมาทาสีและเคลือบพื้นผิว และนำกลับไปเข้าเตาเผาอีกครั้ง ปัจจุบันยังสามารถพบเห็นผลงานประติมากรรมเก่าแก่นี้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ในเมืองตอนใต้อย่างเมืองกุสโก เมืองปูโน เมืองอายากูโช และเมืองอาปูริมัก โดยชาวบ้านนิยมนำมาใช้ตกแต่งภายในบ้านหรือบนหลังคา อันเป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันภัยและการนำมาซึ่งความผาสุกของครอบครัว ปกปักรักษาฝูงสัตว์ ทั้งยังใช้เป็นของตกแต่งในงานแต่งงานเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นยังนิยมนำกระทิงน้อยแห่งปูการ่าฝังดินเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูอีกด้วย
ภายในงานจัดแสดงผลงานประติมากรรม “กระทิงน้อยแห่งปูการ่า” โดยฝีมือของศิลปินชาวเปรู จำนวน20 ชิ้นงาน แล้วยังได้เชิญ สปัญญ์ อินทวงษ์ ศิลปินนักวาดภาพประกอบนักออกแบบชื่อดังของไทย มาร่วมออกแบบกระทิงน้อยแห่งปูการ่า ในชื่อผลงาน “Into the Rainbow สีสันแห่งเกชัว”โดยได้แรงบันดาลใจจากสีสันและรูปแบบของวัฒนธรรมการทอผ้าของเกชัวผสมผสานกับการนำรูปทรงเรขาคณิตและลวดลายของดอกไม้ที่ถักทออย่างวิจิตรงดงามอยู่บนเสื้อผ้าของเกชัวไว้ด้วยกันอย่างลงตัวและยังมีผลงานประติมากรรมการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเปรูและไทย โดย รศ.สุขุมาล สาระเกษตริน อาจารย์ประจำภาควิชานฤมิตรศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Torito de Pucaráกระทิงน้อยแห่งปูการ่า ผสมผสานกับพระโคแรกนาขวัญของไทย ผนวกรวมกับพวยกาในงานเครื่องปั้นดินเผา Moche (โมเช)ของเปรู จนกลายเป็นงานประติมากรรมแห่งวัฒนธรรม มาจัดแสดงอีกด้วย
นอกจากนั้นภายในงานนิทรรศการยังมีกิจกรรม Workshop เชิญผู้สนใจร่วมระบายสีกระทิงน้อยปูนปั้นจำลอง สร้างสรรค์ลวดลายและสีสันในแบบฉบับของตัวเอง ในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม 2566 และวันเสาร์ที่ 22กรกฎาคม 2566 วันละ 2 รอบ รอบที่ 1 เวลา 15.00-16.00 น.รอบที่ 2 เวลา 16.00-17.00 น. จำกัดรอบละ 50 ท่าน (รวมวันละ 100 ท่าน) ณ ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยสามารถรับกระทิงน้อยในแบบฉบับของตัวเองกลับไปเป็นของที่ระลึกอีกด้วย
พบกับนิทรรศการ “Torito de Pucará : Ambassador of the Peruvian Highlands” ได้ตั้งแต่วันนี้-23 กรกฎาคม 2566 ณ ชั้น 5 สยามดิสคัฟเวอรี่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี