แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเตือน “ปวดหลังเรื้อรัง” นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่ากล้ามเนื้อแกนกลาง หรือ “Core Muscle” ของคุณกำลังไม่แข็งแรง ซึ่งปัจจัยนี้อาจส่งผลต่อการเป็นโรคกระดูกสันหลังได้ในระยะยาว
ปัญหาปวดหลังที่พบบ่อยมักจะมาจากกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวไม่แข็งแรง โดยกล้ามเนื้อแกนกลางทำหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับร่างกายและกระดูกสันหลัง ทั้งในขณะที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวและหยุดนิ่ง เพราะฉะนั้น การออกกำลังกายที่เน้น core muscle ถือเป็นสิ่งที่ควรทำ หากคุณจะเริ่มต้นออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ เนื่องจากเป็นกล้ามเนื้อที่ทำให้ร่างกายทรงตัวได้ดี ลดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายอื่นๆ และยังช่วยในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การยืน การเดิน การนั่งล้วนแล้วแต่ใช้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวทั้งสิ้น
นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว(core muscles) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ใกล้กับแกนกลางของลำตัว ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวกระดูกสันหลัง และก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เช่น การเอี้ยวตัว การยกของ หรือการหันหลังกลับไปมองวัตถุ นอกจากนี้ในการเคลื่อนไหวแขนหรือขา กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวยังมีหน้าที่ในการทรงท่า ทำให้แกนกลางลำตัวอยู่นิ่งเพิ่มความมั่นคงให้กับกระดูกสันหลัง ช่วยให้การเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือวิ่งทำได้อย่างราบรื่น ความสัมพันธ์ของโครงสร้างต่างๆ ในร่างกาย อันเนื่องมาจากกล้ามเนื้อมีการเชื่อมต่อกันด้วยพังผืด ดังนั้น หากกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวอ่อนแรงหรือไม่ยืดหยุ่นจะทำให้กำลังของกล้ามเนื้อแขนหรือขาลดลงในขณะทำกิจกรรมต่างๆ และในทางกลับกันหากกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวแข็งแรงก็สามารถเพิ่มพละกำลังให้กับกล้ามเนื้อแขนหรือขาได้
อย่างไรก็ตาม กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่แข็งแรงจะเปรียบเสมือนการล็อกกระดูกสันหลังแบบรอบทิศทาง 360 องศา ทำให้ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวจะคอยพยุงกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวที่ถูกต้อง หากเรามีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะทำให้เราทรงท่าหรือเคลื่อนไหวได้อย่างสมดุลและมั่นคง ท่าทางการวางตัวของร่างกายจะอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม อันเป็นการลดแรงกระทำต่อกระดูกสันหลัง และยังสามารถลดอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อและโครงสร้างต่างๆ ของกระดูกสันหลังได้ผลของการมีกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่แข็งแรงยังช่วยให้การทำงานของแขนและขาในขณะทำกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทำให้นักวิ่งมีช่วงก้าวเท้าที่ยาวขึ้น นักกอล์ฟสามารถหวดวงสวิงได้ดีขึ้นเป็นต้น
ทั้งนี้ กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่แข็งแรงสามารถช่วยลดอาการปวดหลังเรื้อรังได้ เพราะอาการปวดหลังเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหลังและกล้ามเนื้อหน้าท้องก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการปวดได้ จากผลการศึกษาพบว่าการเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานให้กับกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวสามารถช่วยลดอาการปวดหลังเรื้อรังและอาการปวดหลังอันเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้
โดยสรุปคือ กล้ามเนื้อแกนกลาง (core muscles) ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูกสันหลัง เพราะเมื่อมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อแกนกลางก็จะมีอาการตามไปด้วย ดังนั้น กล้ามเนื้อแกนกลางจึงเป็นส่วนที่สำคัญในการรักษาโรคกระดูกสันหลังไม่ว่าจะเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกปลิ้น หรือหมอนรองกระดูกแตกจากภาวะกระดูกพรุน หลังจากการรักษาโรคกระดูกแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องมาดูแลในส่วนของกล้ามเนื้อแกนกลางควบคู่กันไปด้วยจึงจะเป็นการรักษาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายในส่วนของกล้ามเนื้อแกนกลาง หรือ Core Muscles ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม สามารถทำได้บนพื้นหรือเสื่อ ในขณะออกกำลังกายควรหายใจเข้าออกอย่างผ่อนคลายและสังเกตความตึงบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้อง หากออกกำลังกายเป็นครั้งแรกหรือไม่ได้ออกกำลังกายมาเป็นเวลานาน ควรเริ่มจากท่าพื้นฐานก่อน และเมื่อร่างกายแข็งแรงมากขึ้น จึงค่อยเพิ่มระดับของการออกกำลังกายที่หนักขึ้น
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้ามาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางได้ที่โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โทร.02-0340808
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี