การเจ็บป่วยจากการถูกงูพิษกัดยังเป็นปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบได้มากกว่าช่วงอื่นๆ ของปี เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับงูพิษ และทราบว่าเมื่อมีผู้ป่วยถูกงูกัดควรจะต้องทำอย่างไร และมีการรักษาอย่างไร?
งูพิษในแต่ละภูมิภาคของโลกแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยแบ่งตามพิษของงูที่มีต่อทั่วร่างกายได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
l งูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูทับสมิงคาและงูสามเหลี่ยม พิษงูทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายอ่อนแรง เช่น หนังตา แขนขา และกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง จนหายใจไม่เพียงพอ ทำให้เสียชีวิตในเวลาเป็นนาทีถึงชั่วโมงหลักจากถูกกัดได้ พิษของงูเห่าและงูจงอางจะมีผลทำให้บริเวณที่ถูกกัด บวมช้ำ และเกิดอาการอักเสบติดเชื้อและเนื้อตายได้มาก ขณะที่พิษงูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลาไม่มีผลต่อบริเวณที่ถูกกัดเลย
l งูพิษที่มีผลต่อระบบโลหิต ได้แก่ งูเขียวหางใหม้ งูกะปะและงูแมวเซา พิษงูทำให้การแข็งตัวของเลือดในร่างกายผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่ายพิษงูกะปะยังอาจจะมีผลทำให้บริเวณที่ถูกกัด บวมช้ำ และเกิดอาการอักเสบติดเชื้อและเนื้อตายได้คล้ายงูเห่า พิษงูเขียวหางไหม้ มักจะทำให้บวมเท่านั้น ส่วนพิษงูแมวเซาจะทำให้เกิดการบวมเพียงเล็กน้อย แต่ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดจากพิษงูแมวเซามักจะรุนแรงกว่า และก่อให้เกิดภาวะไตวายได้ด้วย
l งูพิษที่มีผลต่อกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อสลายตัว ได้แก่ งูทะเล จะทำให้ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง และอาจจะมีภาวะไตวายตามมาได้
เนื่องจากงูไม่ได้เป็นพิษทุกชนิดผู้ป่วยที่ถูกงูกัดจึงไม่ได้หมายถึงว่าถูกงูมีพิษกัดเสมอไป ข้อสังเกตที่ช่วยบอกว่าผู้ป่วยถูกกัดจากงูมีพิษหรืองูไม่มีพิษนั้น ประการแรกคือแผลบริเวณที่ถูกกัดหากพบว่าเป็นรอยเขี้ยวในตำแหน่งที่ถูกกัดมีลักษณะคล้ายถูกเข็มทิ่ม จะบวมหรือไม่ก็ได้ จะบ่งชี้ว่าเป็นแผลจากงูพิษ ขณะที่แผลจากงูไม่มีพิษ จะคล้ายกับรอยฟันเท่านั้น ประการที่สองคือการติดตามดูว่าผู้ป่วยมีอาการที่เกิดจากพิษงูที่มีทั่วร่างกายหรือไม่ ซึ่งมักจะเกิดตามหลัง นอกจากนั้นผู้ป่วยแต่ละคนถึงแม้ถูกกัดด้วยงูชนิดเดียวกัน แต่จะได้รับจำนวนพิษงูไม่เท่ากัน ทำให้มีความรุนแรงแตกต่างกันได้ จากไม่มีอาการเลยเพราะได้รับพิษงูน้อย ถึงรุนแรงมากจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่มั่นใจว่าเป็นงูพิษหรือไม่ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัด
เมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยถูกงูพิษ สิ่งที่ควรจะต้องทำคือ 1.ตั้งสติให้ดี ไม่ตกใจจนเกินไป 2.หากสามารถจับหรือถ่ายรูปงูตัวนั้นได้ ก็ควรถ่ายรูปไว้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบ ทำให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพยายามไปจับหรือตีงูตัวนั้น เพราะการที่งูกัดคนนั้นเป็นการป้องกันตัวของงู จึงเป็นอุบัติเหตุและโชคไม่ดีของทั้งงูและผู้ป่วยที่มาพบกันโดยไม่ตั้งใจ 3.หากแผลสกปรกก็ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด 4. พยายามอย่าให้ส่วนที่ถูกกัดมีการเคลื่อนไหวมากนัก เพื่อลดการกระจายพิษงูสู่ร่างกายผ่านระบบน้ำเหลืองที่อาศัยการบีบตัวของกล้ามเนื้อเป็นแรงส่ง ในกรณีที่บริเวณที่ถูกกัดเป็นแขนหรือขาให้ดามบริเวณที่ถูกงูกัด และปิดแผลด้วยผ้าสะอาด หรือผ้าก๊อซ ไม่ต้องรัดแน่น5.ไม่แนะนำการขันชะเนาะเหนือบาดแผล 6.จากนั้นให้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อการดูแลรักษาต่อไป
ในการดูรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัดนั้น แพทย์จะให้การวินิจฉัยโดยอาศัยอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ส่วนตัวงูหรือรูปงูที่นำมานั้นจะข้อมูลประกอบการวินิจฉัย เมื่อทราบว่าน่าจะเป็นงูพิษชนิดใด การดูแลรักษาจึงอาจจะแตกต่างกัน ตามชนิดของงูพิษและความรุนแรงที่เกิดขึ้น
การดูแลรักษาเบื้องต้น จะเป็นการเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยว่าจะเป็นงูพิษชนิดใด เช่น งูพิษระบบประสาท ในช่วงแรกจะติดตามดูว่ามีอาการอ่อนแรงของหนังตา ทำให้หนังตาตก (แต่ไม่ใช่ง่วงนอน) แขนขาหรือกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรงหรือไม่? หากพบว่าเริ่มมีการอ่อนแรงก็จะพิจารณาให้เซรั่มแก้พิษงูที่จำเพาะต่องูชนิดนั้น และหากพบว่าการหายใจเริ่มไม่เพียงพอ ก็จะใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจต่อไป กรณีที่เป็นงูพิษระบบโลหิต จะมีติดตามโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าการแข็งตัวของเลือดผิดปกติหรือไม่ ซึ่งมักตรวจพบความผิดได้ก่อนเกิดภาวะเลือดออก หากพบว่ามีเลือดออกหรือมีการตรวจการแข็งตัวของเลือดผิดปกติในระดับที่สำคัญ ก็จะพิจารณาให้เซรั่มแก้พิษงูที่จำเพาะต่อไป
สำหรับการรักษาบริเวณแผลที่ถูกงูกัดนั้น หากมีแผลบวมก็จะแนะนำให้ยกบริเวณที่ถูกกัดสูงขึ้น ถ้าเป็นไปได้ เช่นยกแขนขาข้างที่ถูกกัดให้สูงขึ้นเพื่อลดบวม ในกรณีที่พบว่าแผลช้ำ มีการอักเสบหรือเนื้อตายที่รุนแรงใต้แผล ซึ่งมักพบได้จากพิษงูเห่าและงูกะปะ ก็อาจจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อล้างแผล และเอาเนื้อที่ตายแล้วออก มิฉะนั้นอาจจะควบคุมได้ยาก และมีการลุกลามจนเป็นแผลบริเวณกว้าง และทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้
เซรั่มแก้พิษงูที่สำคัญนั้น ประเทศไทยสามารถผลิตได้เองโดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เป็นเซรั่มแก้พิษงูที่จำเพาะต่องูพิษแต่ละชนิดทั้ง 7 ชนิด ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูทับสมิงคา งูสามเหลี่ยม งูเขียวหางไหม้ งูกะปะและงูแมวเซา รวมทั้งชนิดรวมสำหรับแก้พิษต่อระบบประสาท และระบบโลหิตอีก 2 ชนิด ทั้ง 9 ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพในระดับสากล มีประสิทธิภาพดีและผลข้างเคียงต่ำ ในปัจจุบันนี้ด้วยโครงการยาต้านพิษของประเทศ ได้มีการสำรองไว้ในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง และผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงยานี้ได้ อย่างไรก็ดีเซรั่มแก้พิษงู สามารถแก้พิษที่มีต่อระบบทั่วร่างกายเท่านั้น แต่สามารถแก้พิษที่มีผลเฉพาะที่ได้เพียงเล็กน้อย กล่าวคือสามารถหยุดยั้งการอ่อนแรงไม่ให้มากขึ้นในการณีพิษงูระบบประสาท และแก้การแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติไปสำหรับงูระบบโลหิตได้ แต่ช่วยให้แผลที่บวมช้ำ อักเสบหรือเกิดเนื้อตายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับการป้องกันคงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยาก เนื่องจากการถูกงูกัดส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุ ควรหลีกเลี่ยงเข้าไปในบริเวณที่อาจจะมีงูพิษอยู่ (ถ้าทราบและทำได้) หากต้องเดินในบริเวณที่มีความเสี่ยง ก็ควรจะต้องใส่รองเท้าที่ปกปิดมิดชิดเท่านั้น
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วินัย วนานุกูล
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี