ที่บ้านสนับสนุนการร้องเพลงค่ะ คุณแม่อุ้ม พาไปฟังเพลงสุนทราภรณ์ตั้งแต่เรายังตัวเล็กๆ ดีใจมากที่ได้เข้ารับราชการในวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ภูมิใจมากค่ะ
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัยนำคุณไปสนทนากับ คุณมาริษา อมาตยกุล เจ้าของเพลงริมฝั่งน้ำ เพลงอมตะเพลงหนึ่งที่ยังคงคุ้นหู และตราตรึงใจผู้รักเพลงสุนทราภรณ์
l กราบขอบพระคุณคุณอาอย่างสูงที่ให้เกียรติครับ ขอเรียนถามคุณอา ร้องเพลงมาตั้งแต่อายุกี่ปีครับ แล้วร้องเพลงที่นับเป็นอาชีพรวมระยะเวลากี่ปีครับ
คุณมาริษา : ยินดีมากค่ะ เริ่มร้องเพลงที่นับเป็นอาชีพตั้งแต่อายุ 18-19 ปี ร้องเพลงมาทั้งหมด 60 ปีเศษๆ
l ปัจจุบันคุณอายังร้องเพลงตามงานต่างๆ อยู่บ้างไหมครับ
คุณมาริษา : ไม่ได้ร้องเป็นอาชีพแล้ว แต่มีร้องกันเองกับหมู่เพื่อนๆ และคนสนิทๆ บ้างเท่านั้น เดี๋ยวนี้ไม่ร้องเพลงตามงานต่างๆ ยกเว้นถ้าเป็นงานการกุศลก็ยังไปช่วยบ้าง แต่น้อยมาก เพราะไม่ค่อยได้ออกจากบ้านไปไหนมากนัก สรุปก็คือยังร้องอยู่บ้างค่ะ แต่ไม่ร้องประจำค่ะ
l แฟนเพลงของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และสุนทราภรณ์ต้องรู้จักคุณอามาริษาเป็นอย่างดีโดยเฉพาะทรงผมที่เป็นเอกลักษณ์ของคุณอาคือทรงสวอน แล้วก็มีเพลงที่ยังติดตราตรึงอยู่ในใจผู้ฟังไม่เสื่อมคลาย คุณอาพอจะกรุณาบอกได้ไหมครับว่าเพลงอะไรที่ทำให้แฟนเพลงคิดถึงคุณอามากที่สุด
คุณมาริษา : เพลงริมฝั่งน้ำค่ะ สมัยก่อนเวลาไปงานต่างๆ แล้วได้พบปะผู้ฟัง ผู้ฟังจะบอกว่าริมฝั่งน้ำมาแล้ว (หัวเราะ) เขาไม่เรียกมาริษานะคะ เขาเรียกริมฝั่งน้ำ เพลงนี้มีจังหวะสนุกสนาน เป็นจังหวะรัมบา ใช้ลีลาศได้สนุกมาก
l จริงๆ แล้วคุณอายังมีเพลงดังๆ ที่ใช้ลีลาศอีกมากมายนะครับ เช่น สาลิกาชมเดือน ฝนตั้งเค้า แล้วก็มีเพลงจังหวะช้าที่ผู้คนติดใจอีกมากมาย เช่น รักอะไร เพียงปลายก้อย คลื่นกรรม เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าคุณอาขับร้องเพลงได้ทั้งเพลงจังหวะเร็วที่ใช้ลีลาศสนุกสนาน และเพลงที่ลีลาศด้วยจังหวะช้าๆ เรียนถามว่าคุณอาชอบร้องเพลงสไตล์ไหนมากกว่ากัน ระหว่างเพลงเร็วกับเพลงช้า
คุณมาริษา : ชอบร้องเพลงทุกแบบเลยค่ะ (หัวเราะ) ชอบร้องเพลงมาก
l ก่อนคุณอาจะเป็นนักร้องกรมประชาสัมพันธ์คุณอาต้องเข้าโรงเรียนสอนขับร้องมาก่อนไหมครับ หรือเป็นพรสวรรค์ของคุณอา
มาริษา : ไม่เคยเรียนร้องเพลงเลยค่ะ แต่เป็นคนชอบร้องเพลงมาก ร้องมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนประถม มัธยมศึกษา เป็นคนที่ฟังเพลงของกรมประชาสัมพันธ์และเพลงสุนทราภรณ์มากตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ สมัยก่อนเวลาได้ยินเสียงเพลงทางวิทยุ เช่น เพลงไม่ใกล้ไม่ไกล เพลงของพี่รวงทอง (ทองลั่นธม) ร้อง เราจะต้องรีบเอาดินสอมาจดลงบนกระดาษทันที จดตลอด จดทันบ้างไม่ทันบ้างก็จด ใช้ตัวย่อต่างๆ นานาเพื่อให้จดให้ทัน เช่น ฉันรักเธอ ก็ย่อว่า ฉ ร ธ เมื่อจดแล้วก็เอามาหัดร้อง บางท่อนก็จดเนื้อไม่ทัน ก็ต้องพยายามฟังครั้งต่อๆ ไป แล้วหัดร้อง นึกแล้วก็สนุกดีนะค่ะ กว่าจะได้เนื้อร้องเต็มเพลงนี่ต้องอาศัยความพยายามมากเลย สมัยก่อนเราอาศัยฟังเพลงจากวิทยุและโทรทัศน์ เวลาเพลงมาเราก็ตั้งหน้าตั้งตาฟังแล้วจดตาม อย่างสมัยเมื่อเด็กๆนั้น ในช่วงเช้าเราจะได้ยินเสียงเพลงปลุกใจที่เปิดทางวิทยุ เราก็ฟังแล้วร้องตาม เช่น เพลงไทยรวมกำลังตั้งมั่น จะสามารถป้องกันขันแข็ง เราฟังทุกวัน ฟังจนร้องได้ เวลาเราสอบเข้าทำงานกับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ได้ เราก็สามารถร้องเพลงนี้ได้ทันที เพราะฟังจนจำเนื้อร้องและทำนองได้ขึ้นใจ
l การที่คุณอาตัดสินใจสอบเข้าทำงานในกรมประชาสัมพันธ์ หรือเป็นนักร้องสังกัดของกรมทางบ้านคัดค้านไหมครับ
คุณมาริษา : ไม่เลยค่ะ ที่บ้านสนับสนุนมาก คุณแม่ฟังเพลงของกรมประชาสัมพันธ์และเพลงสุนทราภรณ์ตลอด ฟังตั้งแต่เรายังเป็นเด็กๆ เลย คุณแม่อุ้มไปดูการแสดงดนตรีของกรมฯ และของสุนทราภรณ์ด้วยค่ะและคุณแม่ก็เป็นเพื่อนรู้จักกับคุณวินัย (จลละบุษปะ) คุณแม่อุ้มไปดูดนตรีตั้งแต่เรายังเด็กมากๆ
l แสดงว่าคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจให้รักการร้องเพลงด้วย ใช่ไหมครับ
คุณมาริษา : ใช่ค่ะ แล้วสมัยเป็นนักเรียนนั้น ช่วงพักกลางวันก็ร้องเพลงให้เพื่อนๆ ฟัง แต่สมัยก่อนร้องเพลงไทยเดิม เช่น แขกสาหร่าย เป็นต้น
l ถ้าเช่นนั้นในชั่วโมงขับร้องดนตรีสมัยเป็นนักเรียน คุณอาก็ต้องเป็นตัวยืนของการร้องเพลงเลยใช่ไหมครับ
คุณมาริษา : (หัวเราะ) ร้องนำเลย ชอบร้องเพลงในสมัยนั้นก็ร้องเพลงไทยเดิมบ้าง เพลงสุนทราภรณ์บ้าง
l คุณอาเล่าว่าคุณแม่อุ้มไปดูการแสดงของสุนทราภรณ์ และคุณแม่ก็เป็นเพื่อนกับคุณลุงวินัย ผมจำได้ว่าคุณอาได้ร้องเพลงคู่กับคุณลุงวินัยด้วย
คุณมาริษา : ค่ะ ได้ร้องเพลงคู่กับคุณวินัยหลายเพลง เช่น กระต่างโง่ ช่อรักซ้อน เดือนค้างฟ้า ร้องคู่ในงานต่างๆ เป็นประจำ มีความสนิทสนมกับคุณวินัย เพราะคุณวินัยอุ้มเรามาตั้งแต่เรายังเด็กๆ (หัวเราะ)
l เมื่อคุณอาสอบเข้าทำงานในกรมประชาสัมพันธ์ได้แล้ว ได้สังกัดวงดนตรีกรมฯ ขอเรียนถามว่าในแต่ละวันต้องฝึกต้องซ้อมอะไรบ้างครับ ซ้อมวันๆ หนึ่งนานกี่ชั่วโมงครับ
คุณมาริษา : อันดับแรกก็ฝึกร้องเพลง ซ้อมร้องเพลงทุกวัน ซ้อมร้องกับเปียโน ฝึกหัดออกเสียงและฟังทำนอง และยังมีอีกหน้าที่หนึ่งคือจดเนื้อเพลง เพลงใหม่มาเมื่อไร เราก็ต้องจด เพื่อใช้สำหรับต่อเพลงให้ได้ ส่วนการฝึกซ้อมร้องเพลง ก็ซ้อมกันทั้งวันค่ะ เพื่อให้คุ้นกับทำนองและร้องได้ดีไม่ผิดเพี้ยน
l การซ้อมร้องเพลงแบบเดียวกับหมู่มีความเหมือนความต่างกันอย่างไรครับ
คุณมาริษา : ถ้าร้องเดี่ยว โดยมากก็จะซ้อมร้องกับเปียโน เมื่อหัวหน้า (ครูเอื้อ) ส่งเพลงมาให้ เราก็จะไปหัดร้อง เราร้อง melody อย่างเดียว เมื่อคล่องแล้วต้อง arrange เพื่อให้สามารถร้องกับดนตรีเต็มวงได้ แล้วจึงจะเข้าห้องบันทึกเสียง
l เพลงแรกที่คุณอาบันทึกเสียงคือเพลงอะไรครับผม
คุณมาริษา : เพลงแรกเป็นเพลงร้องคู่กับคุณสมศักดิ์ เทพานนท์ ชื่อเพลงพี่รักจริง
l คุณอาเคยเรียนถามครูเอื้อไหมครับว่าทำไมจึงให้คุณอาร้องเพลงคู่กับคุณสมศักดิ์
คุณมาริษา : ไม่กล้าถามเลย ไม่เคยได้พูดกับครูมากนัก เป็นคนไม่กล้าถาม ผู้ใหญ่ให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ถามไม่กล้าถามจริงๆ (หัวเราะ) แต่เราคิดเอาเองว่า สมัยนั้นเราอาจจะยังร้องไม่เก่งมากพอที่จะร้องเพลงเดี่ยว ดังนั้นก็ต้องร้องเพลงคู่ไปก่อน เพื่อให้มีเสียงนักร้องคู่ช่วยประคองกันไป ร้องคนละประโยค อันนี้คิดเอาเองนะคะแต่ไม่เคยถามหัวหน้าเลย ไม่กล้าถาม
l เวลาร้องเพลงริมฝั่งน้ำ ดนตรีสนุกสนานมากเนื้อร้องก็สนุก คนฟังก็ลีลาศกันเต็มฟลอร์ แต่ผมสังเกตเห็นคุณอาร้องเพลงริมฝั่งน้ำแล้วไม่ค่อยแสดงท่าทางสนุกสนานทั้งๆ ที่ดนตรีสนุกมาก การที่คุณอาไม่ออกท่าทางเวลาร้องเพลงสนุก เป็นเพราะว่ามีคำสั่งว่าห้ามเต้นเวลาร้องเพลงหรือเปล่าครับ
คุณมาริษา : ไม่มีการสั่งห้ามค่ะ เราก็ร้องเพลงไปตามจังหวะดนตรี ไม่ได้ออกท่าทางมากมาย เพราะเราเห็นรุ่นพี่ๆ เขาทำกัน เวลาพี่ศรีสุดา (รัชตะวรรณ)ร้องเพลงเร็ว เพลงสนุก พี่เขาก็ไม่ออกท่าทางมากมายเราเป็นนักร้องรุ่นหลัง เราก็ดูพี่ๆ เขา เราทำตามเขา เพราะไม่มีใครทำอะไรแตกต่างไปจากรุ่นพี่ๆ เขาทำกันใช้การดูตามๆ กัน เราร้องเพลงสนุกก็จริง เช่น สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม หรือร้องริมฝั่งน้ำ ก็ร้องไป ไม่ใช่ร้องไปเต้นไป มันไม่เคยมีมาก่อนในการแสดงของพวกเรา หัวหน้าไม่เคยบอกว่าเต้นได้หรือไม่ได้ แต่พี่ๆ เขาไม่เต้นกัน เขาได้แต่ร้อง แล้วเราจะร้องไปเต้นไปก็เป็นเรื่องประหลาด ใช่ไหม (หัวเราะ) ขืนทำไปก็จะกลายเป็นแปลกประหลาด
l เป็นเหมือนขนบของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และสุนทราภรณ์ใช่ไหมครับ
คุณมาริษา : ก็น่าจะใช่นะคะ คือวงดนตรีของเราเน้นความเป็นระเบียบแบบแผน เน้นความสุภาพ เรียบร้อย เราเป็นนักร้องรุ่นหลัง ก็ต้องดูว่าพี่ๆ เขาทำกันอย่างไร ก็ทำตามแบบที่พี่ๆ เขากระทำกันมาก่อน เราเข้าไปในวงก็พบเจอแบบนี้ ก็ไม่เคยถามใครว่าห้ามเต้นหรือไม่ แต่เมื่อเขาไม่ทำกัน เราก็ไม่ทำค่ะ
l คุณอาเป็นนักร้องกลุ่มเสียงประเภทไหนครับ
คุณมาริษา : กลุ่มเสียงต่ำ และเสียงกว้างค่ะ ไม่ใช่กลุ่มเสียงสูง
l เรียนถามเมื่อคุณอาได้รับมอบหมายให้บันทึกเสียงเพลงริมฝั่งน้ำ ต้องฝึกซ้อมนานกี่วันครับ
คุณมาริษา : อันที่จริงเพลงนี้มีผู้บันทึกเสียงมาก่อนคือพี่ชวลีย์ (ช่วงวิทย์) แต่ครูเอื้อให้เราบันทึกเสียงใหม่ก็ซ้อมอยู่ไม่กี่วันนะคะ เพราะเป็นเพลงที่เคยฟังมาก่อนแล้ว
l หากคุณอาไม่เล่าให้ฟังว่าเป็นเพลงเก่าที่คุณชวลีย์ร้องมาก่อน ผมยังเข้าใจว่าคุณอาเป็นต้นฉบับของเพลงริมฝั่งน้ำนะครับ นอกจากเพลงริมฝั่งน้ำแล้วคุณครูเอื้อยังมอบหมายให้คุณอาบันทึกเสียงในเพลงอะไรอีกบ้างครับ โดยเฉพาะเพลงที่คุณครูเอื้อแต่งทำนองหรือเพลงให้คุณอาเป็นต้นฉบับ
คุณมาริษา : เรานำมาร้องบันทึกเสียงใหม่ค่ะ เพลงที่ครูเอื้อแต่งให้เราร้องก็มีเพลงเพียงปลายก้อย เดือนหงาย เพลงรักหนึ่งในหัวใจ เป็นต้น ส่วนเพลงรักอะไรนั้น เป็นเพลงที่นำมาบันทึกเสียงใหม่ เพราะของเดิมพี่มัณฑนา (โมรากุล) ขับร้องไว้
l เพลงรักอะไร ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ผมเข้าใจว่าคุณอาเป็นต้นตำรับครับ แต่เมื่อกี้คุณอาพูดถึงเพลงรักหนึ่งในหัวใจ เพลงนี้มีความพิเศษมากตรงที่กล่าวถึงความรักต่างๆ แล้วจบลงด้วยรักชาติบ้านเมือง รักศาสนา และรักเคารพพระมหากษัตริย์เพลงนี้มีความลึกซึ้งมากครับ คุณอากรุณาเล่าถึงเพลงรักหนึ่งในหัวใจ ให้ฟังสักหน่อยนะครับ
คุณมาริษา : เพลงรักหนึ่งในหัวใจเป็นเพลงที่บอกให้เราทุกคนรู้ว่าเรามีความรักต่างๆ ในแต่ละช่วงวัยของชีวิต มีรักแบบคนรักกัน รักคุณพ่อคุณแม่รักชาติบ้านเมือง รักศาสนา และรักหวงแหนเทิดทูนพระมหากษัตริย์ เป็นเพลงที่ย้ำเตือนให้เราทุกคนต้องเคารพหวงแหนสถาบันสำคัญของชาติของเราไว้ เพราะบ้านเรามีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
l เรียนถามความประทับใจที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสี่ท่านที่ร่วมร้องเพลงบ้านเกิดเมืองนอนครับ
คุณมาริษา : ดีใจมากที่สุดเลยค่ะ ได้ขับร้องร่วมกับพี่ศรีสุดา พี่วรนุช (อารีย์) และคุณบุษยา รังษีดีใจจริงๆ ค่ะ เป็นเพลงที่เนื้อหาดีมาก บอกให้เราทุกคนรักบ้านเกิดเมืองนอนของเรา จังหวะก็ดี เป็นเพลงมาร์ชฟังแล้วทำให้รักชาติ รักบ้านเมืองของเรามากขึ้น ทำให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราท่านเอาเลือดเนื้อ และชีวิตแลกเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ในลูกหลานไทย เพลงนี้เป็นเพลงของเดิมที่นำมาบันทึกเสียงใหม่ เป็นเพลงที่มีคุณค่ามากเพลงหนึ่งค่ะ
l คุณอาร้องเพลงมากมายหลายเพลง มีเพลงไหนครับที่คุณอารักมากที่สุด
คุณมาริษา : เพลงรักอะไรค่ะ เนื้อร้องก็ดีค่ะขึ้นต้นว่า รักอะไร พลอดคำพร่ำครวญชวนให้เห็นใจ
l เวลาคุณอาขึ้นต้นร้องเพลงนี้ ผมจำทำนองดนตรี intro ได้ชัดเจนเลยครับ เป็นเสียงออร์แกนนำขึ้นมาแล้วตามด้วยเสียงกีตาร์ intro ของเพลงมีเอกลักษณ์มากเลยครับ
คุณมาริษา : แต่เพลงนี้ของเดิมพี่มัณฑนาร้องมาก่อนนะคะ เรามาบันทึกเสียงใหม่ภายหลังค่ะ
l ถ้าคุณอาไม่บอกว่าเป็นเพลงเก่าที่นำมาบันทึกเสียงใหม่ ผมก็ยังคงนึกว่าคุณอาเป็นต้นตำรับนะครับ
คุณมาริษา : เป็นของเดิมค่ะ ทำนองเนื้อร้องของเดิมทั้งหมดเลยค่ะ เพียงแต่นำมาทำดนตรีใหม่แล้วครูเอื้อให้เราร้องบันทึกเสียงใหม่เท่านั้นค่ะ
l มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่านักร้องรุ่นเก่า อย่างรุ่นคุณมัณฑนา คุณศรีสุดา คุณวรนุช แม้กระทั่งรุ่นของคุณอา ออกเสียงร้องเพลงชัดมาก ไม่ว่าจะร้องเพลงช้าหรือเพลงเร็ว จับเสียงได้ชัดทุกคำ ผิดกับนักร้องรุ่นใหม่ๆ ที่เสียงดี แต่บางคนร้องเพลงไม่ชัดถ้อยชัดคำ คุณอามีข้อสังเกตเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ
คุณมาริษา : เรื่องนี้อยู่ที่การฝึกร้อง ฝึกออกเสียง คนที่เป็นผู้ฝึกสอนให้ร้องเพลงต้องเน้นเรื่องการออกเสียงให้ชัด ถ้าเป็นของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และวงสุนทราภรณ์ หากออกเสียงคำไหนไม่ชัด ต้องกลับไปร้องใหม่ จนกว่าเสียงจะชัดทุกคำ
l คุณอาจะฝากข้อคิดใดถึงนักร้องรุ่นปัจจุบันบ้างไหมครับ
คุณมาริษา : นักร้องรุ่นใหม่ๆ ก็มีความสามารถมากนะคะ บางคนร้องเพลงดีมาก การแสดงบนเวทีก็ดีมาก ก็ชื่นชมนะคะ แต่ก็ขอฝากไว้นิดหนึ่งในเรื่องการนำเพลงเก่ามาร้อง ก็ขอให้อนุรักษ์เพลงเก่าไว้ให้ดี อย่าให้สูญหายไป เพลงเก่าๆ มีความไพเราะทั้งคำร้อง ทำนอง และเสียงร้องของนักร้องก็มีความไพเราะเป็นเอกลักษณ์ ของเก่ามีเอกลักษณ์ของเขาอยู่แล้ว เราควรช่วยกันอนุรักษ์ รักษาไว้ให้เป็นมรดกทางดนตรีให้ลูกหลานของเรา แต่ก็ต้องย้ำนะคะ นักร้องรุ่นใหม่ๆ หลายคนร้องเพลงดีจริงๆ ขอชื่นชมนะคะ
คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี