สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และโดยพระชนมพรรษาจึงนับเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์ปัจจุบันในพระบรมราชจักรีวงศ์
ตลอดระยะเวลาแห่งการดำรงพระราชอิสริยยศ “พระราชินี”จนถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจน้อยใหญ่นานัปการ ทั้งในพระราชฐานะ “พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของปวงชนชาวไทย” และในพระราชฐานะ “คู่บุญคู่พระราชหฤทัย” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทั้งโดยเสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบททั่วทุกภูมิภาค แม้จะทรงตรากตรำพระวรกาย เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้นยังไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบันก็มิได้ทรงย่อท้อแต่อย่างใด
พระปรีชาสามารถและพระวิริยอุตสาหะที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงทุ่มเทอุทิศกำลังพระวรกาย พระสติปัญญา พระราชทรัพย์ ในพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อเกื้อกูลประโยชน์สุขของพสกนิกรนั้นได้ดื่มด่ำอยู่ในหัวใจคนไทยทั้งชาติ และหยั่งลึกลงเป็นรากฐานแห่งความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นผลให้เกิดความมั่นคงและนำสันติสุขมาสู่ปวงชนชาวไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของพสกนิกรในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้
โครงการในพระราชดำริที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมพสกนิกรทั่วทุกภาคของประเทศมากว่า 50 ปีแล้ว จึงได้ทอดพระเนตรเห็นทุกข์สุขทั้งสิ้นในการครองชีพของราษฎร ทรงพบว่าราษฎรซึ่งส่วนใหญ่เป็นกสิกรต้องประสบภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ฝนแล้ง นาล่ม ศัตรูพืชรบกวน ทำให้การประกอบอาชีพไม่ได้ผล อีกทั้งทรงพบว่า ราษฎรไทยหลายท้องถิ่นมีฝีมือเป็นเลิศทางหัตถกรรมหลายชนิดสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ สมควรจะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติชาติสืบไป พระองค์จึงทรงทุ่มเทพระวิริยะ อุตสาหะ และพระราชทานทรัพย์มาส่งเสริมงานหัตถกรรมแก่ราษฎร
วัตถุประสงค์สำคัญ คือเพื่อหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูก หรือเกษตรกรที่ว่างจากฤดูเพาะปลูกให้ได้มีงานทำอยู่กับบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้ราษฎรไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนเข้าไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่ๆอันก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดในระยะยาวต่อไป นับว่าเป็นการช่วยรักษากรรมสิทธิ์ในที่ดินของราษฎรผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย และสำหรับชาวไทยภูเขาซึ่งเคยมีอาชีพปลูกฝิ่น ก็ทรงส่งเสริมให้หันไปประกอบงานฝีมือที่ชาวไทยภูเขามีความชำนาญอยู่แล้ว คือการเป็นช่างเงินหรือช่างทองแทน
วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่ง คือเพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูหัตถกรรมแบบไทยโบราณซึ่งกำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ การทอผ้าแพรวา การจักสานย่านลิเภา การทำเครื่องถมเงินและถมทอง การคร่ำ เป็นต้น เนื่องจากหัตถกรรมประเภทนี้ต้องใช้ฝีมือ เวลา และความอดทนเป็นอย่างมาก จึงหาผู้ที่สนใจสืบทอดวิชาเหล่านี้เป็นอาชีพได้ยากยิ่ง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภทแก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ขึ้นในสวนจิตรลดา และในบริเวณพระตำหนักทุกภาคเวลาที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับเพื่อทรงเยี่ยมราษฎร โดย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร” ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินประทับเคียงข้าง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงช่วยจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผ้า ผู้ทอ และตรวจรับผ้าทอจากสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อการวิเคราะห์และให้ความช่วยเหลือราษฎรได้อย่างถูกวิธี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับเด็กยากจนและการศึกษาน้อยผู้ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางการช่างใดๆ เข้ามาเป็นนักเรียนศิลปาชีพ ทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่มาถ่ายทอดผลงานและพระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกศิลปาชีพ หมุนเวียนไปทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี รวมทั้งโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกชนิดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรทั่วไป
งานของศิลปาชีพเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสมาชิกศิลปาชีพกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ และผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพได้แพร่หลายกว้างขวางเป็นที่นิยมในหมู่ราษฎรไทยและชาวต่างประเทศ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต้องทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์เพื่อโครงการศิลปาชีพเป็นจำนวนมาก จึงมีผู้กราบบังคมทูลขอให้ทรงจัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2519 โดยทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิด้วย ต่อมารัฐบาลได้ประจักษ์ถึงผลงานและคุณประโยชน์มูลนิธิด้วย จึงได้รับเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ โดยจัดตั้งเป็นกองศิลปาชีพขึ้นในสำนักราชเลขาธิการ เมื่อพุทธศักราช 2538 เพื่อสนับสนุนงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มูลนิธิมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Foundation for the Promotion of Supplementary Occupations and Related Technique of Her Majesty Queen Sirikit of Thailand” หรือเรียกย่อๆ ว่า “The SUPPORT Foundation”
รวมถึง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระราชหฤทัยงานด้านศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าที่สำคัญของชาติหนึ่งในนั้นคือ นาฏกรรมโขน ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์และสืบสานอยู่คู่แผ่นดินไทย ดังพระราชปรารภที่ว่า “ทุกวันนี้ประชาชนชาวไทย ไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประชุมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ เพื่อรื้อฟื้นการแสดงโขนตามโบราณราชประเพณี เริ่มต้นจากการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน ทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลมากในการนำโขนมาสู่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง เพราะการฟื้นฟูโขนนั้นไม่ใช่แค่การฟื้นฟูนาฏศิลป์ แต่เป็นการพลิกฟื้นฝีมือช่างหัตถศิลป์หลายแขนง ทั้ง วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ ศิลปกรรม และพัสตราภรณ์ของไทย ให้คืนกลับมา ทั้งยังทำให้เกิดสกุลช่างในรัชกาลปัจจุบัน ในเรื่องของพัสตราภรณ์หรือเครื่องแต่งกาย โดยมี อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นผู้ควบคุมดูแลเรื่องการออกแบบและดูแลช่างที่เป็นสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ช่วยกันตัดเย็บเครื่องแต่งกายและทอผ้าเพื่อใช้การแสดงโขนโดยเฉพาะ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อทรงแบ่งเบาพระราชภาระในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชกรณียกิจเพื่อทรงช่วยเหลือราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ยากไร้ทั่วประเทศ การเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ ของราษฎรในแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีความแตกต่างกันไป พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานจึงมีความเหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานให้จัดตั้งณ ภูมิภาคนั้นๆ เพื่อทรงแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญล้วนเป็นพระราชกรณียกิจเสริมงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ที่ทรงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นฐานการดำรงชีวิตของพสกนิกร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2553 ถวายพระราชสมัญญา “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิคุณของรัฐบาลและปวงชนชาวไทยในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ
นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ผืนป่า เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่ป่าไม้
มีจำนวนลดน้อยถอยลง ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีสาเหตุจากการที่ชาวบ้านลักลอบตัดไม้ และประการสำคัญคือ ทรงพบว่าสาเหตุจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ามาจากปัญหาความยากจน ชาวบ้านหาที่ทางทำกินโดยการแผ้วถางเผาป่า เผาครั้งหนึ่ง 50-60 ไร่ แต่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตรจริงๆ เพียง 5-10 ไร่เท่านั้น ทรงห่วงใยปัญหานี้และทรงวิตกว่าประเทศชาติกำลังสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการป่ารักน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ทุกข์ยากให้ได้มีอาชีพที่สุจริต มีรายได้เพื่อประทังชีวิต โดยไม่ตัดไม้ทำลายป่าอีกต่อไป
โครงการป่ารักน้ำ เริ่มทดลองครั้งแรกที่บ้านถ้ำติ้วตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่20 ธันวาคม พุทธศักราช 2525 เป็นโครงการปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้ที่เติบโตเร็ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงขอซื้อพื้นที่ที่ชาวบ้านแผ้วถางแล้วถูกทิ้งร้าง โดยนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการป่ารักน้ำ โดยราษฎรเป็นผู้ปลูกและดูแลป่าบนพื้นดินที่ทรงซื้อ ทำให้เกิดความรู้สึกหวงแหนและมีสำนึกรักเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผืนป่า ทั้งหมดนี้จะให้ราษฎรในพื้นที่ช่วยกันดูแล โดยทรงว่าจ้างราษฎรเป็นรายเดือน จากนั้นจะทรงลดความช่วยเหลือไปเรื่อยๆ เมื่อราษฎรในพื้นที่สามารถตั้งตัวและหาเลี้ยงชีพได้ โครงการก็จะชะลอและยุติลง เมื่อได้ทรงริเริ่มโครงการป่ารักน้ำขึ้นแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังได้พระราชทานพระราชนโยบายให้จัดตั้งหมู่บ้านป่ารักน้ำขึ้น ให้มีสถานะเป็นบ้านน้อยในป่าใหญ่ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนไม่มีที่ทำกินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างบ้านให้อยู่อาศัยมีหน้าที่ดูแลรักษาต้นไม้และพระราชทานเงินเดือนให้ครอบครัวละ 1,500 บาท
ปัจจุบันโครงการป่ารักน้ำในพระราชดำริ มีอยู่ทั้งสิ้น 5 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โครงการป่ารักน้ำ บ้านถ้ำติ้ว ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร โครงการป่ารักน้ำ บ้านป่ารักน้ำ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โครงการป่ารักน้ำ บ้านกุดนาขามตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร โครงการป่ารักน้ำ บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร และโครงการป่ารักน้ำ บ้านทรายทอง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
พระราชกรณียกิจด้านการทหาร นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงดำรงตำแหน่งพันเอกผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยต่อการดำเนินงานของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ตลอดมา โดยผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 จะเข้ามาถวายรายงานถึงผลการปฏิบัติงานพร้อมกับรับพระราชเสาวนีย์ตลอดจนพระราชทานคำแนะนำไปดำเนินการปฏิบัติอยู่เสมอ ขณะที่ด้านความมั่นคงของประเทศสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหารที่ปฏิบัติการสู้รบต่อสู้ผู้ก่อการร้ายตามชายแดนถึงฐานปฏิบัติการต่างๆแม้เป็นที่เสี่ยงภยันตราย ก็ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดูแลทุกข์สุข ปลอบขวัญถึงฐานปฎิบัติการต่างๆ เป็นขวัญกำลังใจให้ทหารต่อสู้ปกป้องผืนแผ่นดิน นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาประชาชน ให้สามารถทำมาหากินได้อย่างสงบสุข
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนหลากหลายรูปแบบ อาทิ ทรงพระอุตสาหะสอนหนังสือราษฎรด้วยพระองค์เองพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาแก่เยาวชนจากครอบครัวที่ยากจน ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน ทรงรับไว้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ส่วนบิดามารดา พี่น้องของเด็ก ก็โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้ารับการฝึกอบรม พระราชทานความช่วยเหลือให้ปรับปรุงการประกอบอาชีพให้เป็นผล หรือให้มีความรู้เป็นอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้สามารถช่วยตนเองและครอบครัวให้ดำรงชีวิตเป็นสุขตามอัตภาพ โดยใช้วัตถุดิบพื้นบ้านมาทำประโยชน์ เช่น หัตถกรรมจักสานของโครงการหุบกะพง โครงการจักสานย่านลิเภา และทำเครื่องปั้นดินเผาในภาคใต้ ทั้งยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สอดแทรกเรื่องความรักชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การรู้จักรักษาสุขภาพอนามัย การรู้จักพัฒนาตนเอง การเห็นความสำคัญของการศึกษา และการช่วยเหลือร่วมมือกับส่วนรวม พร้อมทั้งให้ทุกคนตระหนักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม ต้องบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์เพื่อความเจริญพัฒนาของภูมิภาค
พระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มิได้แผ่ปกป้องเฉพาะปวงชนชาวไทย หากแต่ยังทรงแผ่ไปถึงประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชาวกัมพูชาอพยพลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแดนไทย แถบจังหวัดตราด จันทบุรี และปราจีนบุรี มีพระราชศรัทธาและพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุข ผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยมิได้ทรงเลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์
ด้วยพระราชกรณียกิจอันเป็นอเนกอนันต์ ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ราษฎรอย่างแท้จริง ทำให้องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โล่เฉลิมพระเกียรติ รางวัล และประกาศเกียรติคุณต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น องค์การเอฟเอโอ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้น และทรงเป็นผู้ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พุทธศักราช 2552 ขณะที่มหาวิทยาลัยทัฟฟ์ แห่งรัฐแมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม ในฐานะที่ทรงยกระดับฐานะการครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็กๆ ในหมู่ผู้ลี้ภัย เมื่อปีพุทธศักราช 2523
สหพันธ์พิทักษ์เด็กแห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมพุทธศักราช 2524, สถาบันเอเชียโซไซตี้ แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม เมื่อวันที่14 มีนาคม พุทธศักราช 2528, ศูนย์ศึกษาการอพยพ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงรับรางวัลความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยประจำปี ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2533, องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ในฐานะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอนุรักษ์และพัฒนางานศิลปหัตถกรรมณ ศาลาธรรม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พุทธศักราช 2535
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณพิเศษในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในฐานะทรงอุทิศพระองค์ประกอบ
พระราชกรณียกิจอันเป็นผลให้แม่และเด็กนับล้านได้รับบริการขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พุทธศักราช 2535
กองทุนพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งความเป็นเลิศในฐานะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพัฒนาสตรีไทย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พุทธศักราช 2535 มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2538, สมาคมไหมโลก ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัล หลุยส์ ปาสเตอร์”ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเทิดพระเกียรติในพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตไหมไทยจนเป็นที่รู้จักของทั่วโลก รวมทั้งช่วยให้ราษฎรผู้ผลิตไหมไทยมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2545 เป็นต้น นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งอังกฤษ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พุทธศักราช 2513 ซึ่งสถาบันแห่งนี้เคยมอบให้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น
นับได้ว่าเป็นบุญของชาติและประชาชนชาวไทย ที่มีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะแห่งรัตนนารีโดยแท้ พระองค์มิได้ทรงเป็นพระบรมราชินีนาถ ที่มีพระสิริโฉมงดงามเท่านั้น หากแต่ยังทรงพระปรีชาสามารถเชี่ยวชาญในกิจการต่างๆ ซึ่งปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนโดยตลอด ทรงยึดมั่นในบวรพระพุทธศาสนา พระคุณธรรม พระปัญญาคุณ และพระเมตตากรุณาคุณ ซึ่งทรงดำรงไว้มั่นคงตลอดมา เป็นปัจจัยส่งเสริมให้พระเกียรติคุณขจรขจายไปทั่วในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงได้รับการสรรเสริญพระเกียรติคุณจากนานาประเทศอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าพระบรมราชินีพระองค์อื่นใดในโลก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี