เด็กและวัยรุ่นในยุคนี้อยู่ในบริบทสังคมที่ต่างไปจากยุค 30-40 ปีที่แล้ว ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเรียนรู้พฤติกรรมของลูก และอบรมสั่งสอนให้ลูกมีวิจารณญาณ แยกแยะสิ่งดีสิ่งไม่ดีให้ได้ เพื่ออนาคตที่ดีของลูก
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณไปสนทนากับ อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการสร้างเกราะกำบังให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม
l จากงานวิจัยของอาจารย์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กในสังคมไทย ทำให้เห็นภาพล่าสุดที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมเด็กไทยอย่างไรบ้างครับ
ดร.นิปัทม์ : จากการทำงานวิจัยด้านจิตวิทยาพัฒนาการ ที่เน้นในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ระหว่างพ่อ แม่ ลูก รวมถึงบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวที่อาจจะมี โดยเฉพาะในครอบครัวขยาย คือ คุณตา คุณยาย คุณปู่ คุณยา และพี่ป้าน้าอาทั้งหลาย งานวิจัยทำให้เราพบว่าในหลายครอบครัวมีปัญหาการเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยเฉพาะเด็กๆ ในแต่ละวัยโดยเฉพาะวัยรุ่นที่พบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก อันที่จริงเด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกันไป เด็กทารกก็จะแบบหนึ่ง เด็กก่อนวัยประถมศึกษาก็จะแบบหนึ่ง เมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่นก็จะมีปัญหาไปอีกแบบหนึ่ง การเลี้ยงดูดูแลจึงต้องใช้วิธีต่างกัน พ่อแม่บางคนที่เคยดูแลลูกวัยทารกและวัยเด็กมากๆ จะติดกับการดูแลลูกตลอด 24 ชั่วโมง แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ลูกก็เริ่มห่างจากพ่อแม่ หรือหนีพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่หลายรายไม่ชินกับพฤติกรรมของลูกวัยนี้ ซึ่งการเลี้ยงดูของพ่อแม่จะต้องปรับไปตามวัยของลูกด้วย การเลี้ยงดูลูกที่เป็นเด็กอ่อนกับลูกที่โตเป็นวัยรุ่นมีความต่างกันมาก แต่ทั้งหมดก็ต้องอยู่บนฐานของความรักเช่นกัน เพราะลูกยังต้องการความรักจากพ่อแม่ตลอดเวลา
l อาจารย์ได้ยินเสียงบ่นจากสังคมบ้างไหมว่า ทำไมเด็กยุคนี้จึงเป็นแบบนี้ หรือ เด็กยุคนี้เป็นอะไรไปหมด อาจารย์ประเมินเสียงบ่นเช่นนี้อย่างไรครับ
ดร.นิปัทม์ : ก่อนอื่นต้องตีความก่อนว่า คำบ่นที่ว่า เด็กยุคนี้เป็นอะไรกันไปหมด เพราะมีทั้งแง่บวกและลบ เวลาเราศึกษาพัฒนาการเด็ก นอกจากเราจะต้องดูมิติของแต่ละบุคคลแล้ว เรายังต้องดูบริบทที่เป็นองค์ประกอบของเขาด้วย บริบทของสังคมยุคนี้ต่างไปจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ และยุคคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย โดยเฉพาะในเรื่องความทันสมัยของเทคโนโลยีและเครื่องมือการสื่อสารต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าเด็กเป็นอะไรก็ต้องบอกก่อนเลยว่า ต้องดูเทคโนโลยีที่เด็กใช้ในขณะนี้ซึ่งมีความรวดเร็วมากกว่าเดิมหลายเท่า ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเคยเราต้องรอจดหมายจากคนที่เราเฝ้ารอ หรือไม่ก็รอโทรเลข แต่ยุคนี้เด็กๆ มีเครื่องมือสื่อสารที่เขาสามารถติดต่อได้โดยทันที เขาต้องการข้อมูลอะไร เขาก็หาได้ หากเขารู้วิธีหา ส่วนข้อมูลที่ได้จะถูกหรือผิด เป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่ามันเร็วมาก ในสมัย 20-30 ปี เมื่อเราต้องการข้อมูล เราไปค้นหาในห้องสมุดข้อมูลที่ได้ก็ค่อนข้างเก่าพอสมควร คือย้อนหลังไป 10-20 ปีแต่ยุคนี้เด็กๆ สามารถค้นหาข้อมูลได้โดยทันที และสามารถกำหนดได้ด้วยว่าต้องการ scope ระยะเวลาของข้อมูลภายในกี่ปี เช่น 3 ปี 5 ปี เป็นต้น แต่ต้องไม่ลืมว่าการได้ข้อมูลที่รวดเร็วฉับไวเกินไป ก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน การได้ข้อมูลมาเร็วอาจทำให้ผู้รับไม่มีเวลากลั่นกรอง ไตร่ตรอง และมีความเมื่อยล้าเมื่อถูกข้อมูลทับถมมากๆ ตลอดเวลา ข้อมูลที่มากเกินไปอาจทำให้เด็กที่ขาดภูมิคุ้มกันทางความคิดเป็นอันตรายได้ เพราะเขากลั่นกรองไม่ได้ ไม่รู้ว่าอะไรน่าเชื่อ หรืออะไรเป็นเรื่องเท็จ แต่จริงๆ เรื่องข้อมูลท่วมทับไม่ได้เกิดเฉพาะกับเด็กๆ เท่านั้น แต่เกิดกับคนทุกวัยที่ขาดภูมิคุ้มกันทางความคิด หรือขาด media literacy หรือเกราะกำบังทางความคิด เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ได้รับข้อมูลแล้วเชื่อทันที แบบนี้ต้องบอกว่าค่อนข้างอันตรายมาก แล้วยิ่งน่าเป็นห่วงการแชร์โดยไม่สอบหาข้อเท็จจริงก่อน ดังนั้นเราจึงต้องฝึกให้ทุกคนที่ได้รับข้อมูลแล้วต้อง “เอ๊ะ” ก่อนทุกครั้ง เพราะจะได้ไม่เชื่อโดยทันที เราต้องฝึกการเอ๊ะ เช่น เอ๊ะ เรื่องนี้จริงหรือ เอ๊ะ เรื่องนี้ใช่หรือ อันที่จริงในความเร็วของเทคโนโลยีนั้น หากเราตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนจะเชื่อ เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อโดยง่าย และเดี๋ยวนี้เราตรวจสอบข้อมูลได้ไม่ยาก แค่เรา search เพื่อค้นหาเรื่องราวนั้นๆ เราก็จะทราบว่าเรื่องที่กำลังพูดถึงเป็นความจริงหรือไม่ แต่เผอิญว่าคนยุคนี้ชอบให้คนอื่นมองว่าเรารู้ก่อน รู้เร็วกว่าใคร หลายคนกลัวตกข่าว ก็เลยรีบส่งต่อเรื่องที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ แล้วก็ต้องมาขอโทษในภายหลัง เพราะส่งข่าวเท็จ ข่าวลวง ดังนั้น เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มเติมให้กับผู้รับข่าวสารในสังคม ต้องบอกว่าอย่าด่วนแชร์ อย่าด่วนสรุป และต้องฝึกเอ๊ะให้บ่อยเข้าไว้ ตรงนี้คือประเด็นที่สามารถตอบได้ว่าทำไมเด็กยุคนี้จึงเป็นเช่นนี้ ซึ่งก็มีทั้งสองแบบคือ แบบที่มีภูมิคุ้มกันดี กับไม่มีภูมิคุ้มกัน คนยุคนี้บางคนมองว่าหากเขาส่งข่าวได้เร็ว เขาจะเป็นคนมีเสียงดังกว่าคนอื่นแล้วหลายคนก็มีเครื่องมือสื่อสารอยู่กับมือ ทุกคนมีสถานะของคนส่งสารได้รวดเร็ว เหมือนเป็นนักข่าวกันทุกคน เมื่อเข้าส่งเรื่องใดๆ ไปแล้วมีคนดู แล้วมีคนแชร์ข้อมูลนั้นๆ มันทำให้เขาดูเสมือนคนมีเสียงดัง ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่จริงๆ แล้วคนไม่ได้เปลี่ยนไป เพียงแต่เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปเร็วมากเท่านั้น และเดี๋ยวนี้คนก็สามารถแสดงเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายกว่าเดิม และเร็วกว่าเดิม ต่างจากสมัยก่อนที่ทุกอย่างช้า และต้องใช้เวลาในการสื่อสารกับภายนอก เช่น วันนี้หากเรามีปัญหากับที่บ้าน แล้วเรา postเรื่องราวของเราผ่าน social media เรื่องของเราก็กระจายไปเร็วมาก เพราะทุกคนสามารถรับรู้เรื่องราวของเราผ่าน social media ได้ ซึ่งผิดกับ 30-40 ปีก่อนที่เรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีโอกาสบอกคนอื่นๆ ได้ง่ายนัก ยกเว้นกับคนสนิทจริงๆ เท่านั้น ดังนั้น เมื่อ social media มันมีความเร็วมาก มันก็ทำให้เรื่องที่เคยอยู่ในที่เฉพาะส่วนตัว ที่มืดมันถูกกระจายได้เร็วมากเรื่องราวต่างๆ ก็จึงแพร่ไปได้เร็ว ไม่ว่าจะเรื่องที่สมควรหรือไม่สมควรก็ตาม
l การสร้างเกราะกำบังทางความคิดให้เด็กและเยาวชน ต้องเริ่มจากตรงไหนก่อนครับ
ดร.นิปัทม์ : สิ่งที่เราพบเจอจากงานวิจัยเป็นประจำคือ องค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่รอบล้อมเด็กและเยาวชนมีส่วนช่วยสร้างเกราะกำบังความคิดให้เขา หากเด็กมีคนที่รายล้อมซึ่งเป็นคนที่ให้สติเด็กได้ เด็กจะไม่ก้าวไปในทางผิด และจะช่วยเอื้อให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น หากเด็กมีบ้านอบอุ่น มีครูที่เอาใจใส่อย่างดี มีญาติพี่น้องที่คอยตักเตือนให้รู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ และยังมี idol หรือตัวแบบที่ดีที่เด็กมองเป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิต แบบนี้เด็กก็จะไม่หลงทาง ไม่ออกนอกแนวทางที่ดี แต่ปัญหาคือหากเด็กขาดบางอย่าง เช่น บ้านไม่อบอุ่นเท่าที่ควร แต่พบเจอครูดี หรือมีญาติดี เขาก็จะไม่หลงทางเช่นกัน แต่หากเด็กขาดไปเสียทุกหนทาง คือบ้านก็ไม่อบอุ่น ครูก็ไม่เอาใจใส่ ญาติพี่น้องก็ไม่มี และไม่มีบุคคลต้นแบบที่ดีอีกด้วย แบบนี้ก็น่าเป็นห่วงมาก การที่เด็กมีบุคคลแวดล้อมที่มีลักษณะต่างๆ กัน ก็ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดีได้เช่นกัน นั่นคือเด็กจะมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจบ้าง มีสิ่งน่าสนใจคือ เด็กต้องการความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่ และผู้ปกครอง แต่เด็กบางคนขาดสิ่งนี้จึงต้องทำตัวเป็นเด็กเกเรเพื่อให้ผู้ปกครองให้ความสนใจ เด็กบางคนสร้างเรื่องราวต่างๆ นานา เพราะต้องการให้พ่อแม่สนใจ จึงใช้วิธีทางลบเพื่อสร้างความสนใจ เด็กกลุ่มนี้อาจถูกมองว่าเป็นเด็กเกเร เด็กไม่ดี เมื่อครูมองว่าเด็กเกเร พ่อแม่ก็มองว่าลูกไม่รักดี เมื่อเป็นแบบนี้เด็กก็จะต้องไปหาที่พึ่งที่อื่น เช่น เพื่อนๆ หากเจอเพื่อนดีก็ดีไป แต่หากเจอเพื่อนไม่ดีก็ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ จากงานวิจัยของเรา เราพบว่าทั้งสองแนวทางคือเด็กประพฤติตัวดีเพราะคนแวดล้อมดี กับเด็กประพฤติตัวไม่ดี เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น หากเด็กอยู่ในครอบครัวไม่อบอุ่น แถมครูก็ไม่สนใจ แต่หากเด็กมีไอดอลดีๆ เขาก็ยังมีแบบอย่างดีๆ สำหรับเขาเองได้ เช่น เด็กบางคนชอบเล่นกีฬา แล้วพบครูสอนกีฬาเอาใจใส่อย่างดี เขาก็อาจจะหันเหไปชอบกีฬา แล้วพาตัวเองออกจากสิ่งไม่ดีได้ตรงนี้คือการบอกว่า หากเด็กยังมีที่ยึดเหนี่ยวอยู่บ้าง เขาจะไม่หลุดลอยไปในทิศทางหรือกระแสที่ไม่ดี เพราะเขายังมีที่ยึดเหนี่ยวที่เขาไว้ใจได้ แต่งานวิจัยก็บอกว่าสำหรับเด็กที่ขาดแคลนไปเสียทุกสิ่ง คือไม่มีใครเป็นต้นแบบเลย แบบนี้ก็น่าหนักใจมิใช่น้อย กรณีนี้เด็กอาจถูกชักนำไปในทิศทางที่ไม่ชอบได้ง่าย อาจจะถูกใช้ในการทำสิ่งผิดกฎหมายได้ง่ายด้วย
l อาจารย์มีทางออกให้กับปัญหาเด็กหมดที่พึ่งหรือไม่มีหลักยึดอย่างไรบ้างครับ เพราะระยะนี้เราพบว่าเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่เสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายในลักษณะต่างๆ บ่อยมาก
ดร.นิปัทม์ : ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า เด็กทุกคนมีความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเชื่อไม่เท่ากันค่ะ สำหรับเด็กบางคนมีพัฒนาการที่ชัดเจนมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า ฉันชอบหรือไม่ชอบอะไร และเชื่อมั่นหรือไม่เชื่อมั่นสิ่งใดในชีวิต แต่ก็ยังมีเด็กอีกมากที่ยังงงๆ มึนๆ กับชีวิต เช่น ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร บางคนตอบตัวเองไม่ได้ว่าชอบเรียนอะไร แล้วอยากเป็นอะไร เด็กบางคนไม่มั่นใจในตัวเองเลย ซึ่งในสังคมก็เห็นกันเป็นประจำ แต่อย่างที่คุยกันในตอนแรกคือยุคนี้เด็กมีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีทันสมัยมาก ซึ่งเด็กในสมัยก่อนก็มีความมั่นใจและไม่มั่นใจในตนเองเช่นกัน แต่ที่ต่างกันคือเทคโนโลยี คนรุ่นก่อนอาจจะมั่นใจในตัวเองสูงก็จริงแต่เขาไม่มีหนทางแสดงออกมากเท่ากับเด็กยุคใหม่ นั่นคือยุคเก่าไม่มี social media ที่รวดเร็วแบบทุกวันนี้ ดังนั้นต่อให้คนรุ่นเก่ามั่นใจตัวเองมากๆ แต่ก็แสดงออกได้ไม่รวดเร็วเท่าการแสดงผ่าน social media ในยุคนี้ ดังนั้นเราพบว่าการ post ข้อความอะไร หรือรูปภาพใดๆ ออกไปในแต่ละครั้ง เมื่อมีคนกด like ให้เขา เขาก็อาจคิดว่าเขามีพวก เขาทำถูก เขาได้รับการสนับสนุน มีคนเห็นด้วยและคิดแบบเขา แล้วหากมีการกดแชร์ต่อๆ กันไปมากๆ เขาก็จะยิ่งเข้าใจว่าเขาทำถูกต้องแล้ว นี่คือการเสริมแรงให้เด็กๆ เข้าใจว่าเขาทำถูก เขาจึงไม่เสียงสนับสนุน โดยเขาไม่สนใจว่าเรื่องที่ทำนั้นถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่แต่การส่งสารไปแล้ว เขาได้รับการสนับสนุน เขาก็สามารถเข้าใจผิดได้ว่าสิ่งที่ทำคือเรื่องถูกต้อง ทั้งๆ ที่สิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง แต่เขาเข้าใจไปเองแล้ว การที่เขาได้รับเสียงสนับสนุน ก็คือการบอกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว เขามี back up
l เด็กยุคนี้ท้วงติงกันเองบ้างไหมครับ
ดร.นิปัทม์ : มีค่ะ ในสังคมนิสิตมหาวิทยาลัยก็มีค่ะเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ตรงจากการได้ทำงานกับน้องนิสิต และได้คุยในชั้นเรียนด้วย เราพบว่าเมื่อมีเรื่องความแตกต่างทางความคิด ทั้งเรื่องการเมือง หรือการใช้ชีวิตอะไรทั่วๆ ไป เขาก็จะพูดคุยกัน บทสนทนาของเด็กๆ น่าสนใจมาก คือสมัยนี้ต้องยอมรับว่าค่านิยมเรื่องการเคารพความคิดของกันและกันมีสูงมาก แม้ว่าความคิดบางเรื่องนั้นเราไม่ได้เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีใครตำหนิ
ความคิดของคนอื่น อย่างเช่น เมื่อเด็กๆ post อะไรบางอย่าง หรือแสดงความคิดเห็นเรื่องบางเรื่อง เด็กรุ่นใหม่เขามองว่าเป็นมารยาทที่พึ่งกระทำคือ เขาจะไม่หัวเราะเยาะ หรือไม่แสดงความโกรธที่คิดเห็นไม่ตรงกัน คือเด็กรุ่นใหม่ถูกฝึกมาเรื่อยๆ ว่าต้องเคารพความเห็นของคนอื่น เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ภายในมหาวิทยาลัยมากขึ้น แล้วยิ่งเวลาที่ลงไปทำงานวิจัยกับน้องระดับมัธยม เราก็จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องการเคารพสิทธิของกันและกันมากขึ้น เขามองว่าการแสดงออกทางความคิดเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกห้าม ซึ่งเรื่องนี้ต่างจากยุคก่อนๆ มากเลย และเขาไม่รู้สึกอายที่จะแสดงออก เพียงแต่ว่ามันมีข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง ถ้ามองในแง่ของพ่อแม่แล้ว และเลี้ยงดูลูกที่กล้าแสดงออก เป็นเรื่องที่ช่วยแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า ถ้าพ่อแม่เอาใจใส่แก้ปัญหานั้นๆ เรื่องแบบนี้ทำให้พ่อแม่รู้ว่าลูกคิดอะไรอยู่ หากพ่อแม่เข้มแข็งและเข้าใจลูก ก็จะแก้ปัญหาของลูกได้ตรงประเด็น เด็กๆ ก็จะไม่ต้องแอบไปเปิด account ส่วนตัว แต่เด็กจะไม่มีความลับกับพ่อแม่ สามารถใช้ social media กับพ่อแม่ได้อย่างเปิดเผย ไม่ปิดบังพ่อแม่ นั่นคือหากเด็กมั่นใจว่าพ่อแม่รักและเข้าใจเขาจริงๆ เขาจะไม่ปิดบังพ่อแม่ และไว้ใจพ่อแม่มากขึ้น ซึ่งดีกว่าผลักให้ลูกไปแอบเปิด account ส่วนตัวที่พ่อแม่ไม่รู้ ซึ่งเป็นอันตรายมากทั้งต่อตัวเองและต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว
l นั่นคือพ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกรู้ว่ารักและหวังดีต่อลูกเสมอ ลูกจะไม่หนีไปจากพ่อแม่ ใช่ไหมครับ
ดร.นิปัทม์ : ใช่ค่ะ จริงๆ แล้วโดยพื้นฐานของเด็กๆ ด้วยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว เด็กดูแลตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นเด็กจึงรอความรักจากพ่อแม่ และพยายามทำทุกอย่างให้พ่อแม่รัก เด็กบางคนต้องการความสนใจจากพ่อแม่ แม้จะถูกทำร้ายอย่างรุนแรงภายในครอบครัวก็ตาม เด็กบางคนยอมให้พ่อแม่ทุบตีอย่างรุนแรง เพราะเห็นว่าเป็นวิธีการเดียวที่จะได้รับความสนใจจากพ่อแม่และอาจเข้าใจผิดว่านั่นคือการแสดงความรักจากพ่อแม่ ที่เขาเข้าใจเช่นนั้นเป็นเพราะเด็กยังอยู่ในโลกแคบๆเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น ไม่ได้ออกไปเห็นโลกภายนอก แต่ในวันหนึ่งที่เขามีโอกาสไปพบเจอโลกภายนอก เขาก็จะรู้ว่าเขาถูกทำร้ายร่างกายจากคนที่เขาคิดว่ารักเขา ดังนั้นเด็กบางบ้านจึงถูกพ่อแม่ตี ทำร้ายร่างกายเป็นประจำเมื่อพ่อแม่เมา หรือมีปัญหาภายในบ้าน แต่เด็กก็ยังเข้าใจว่านั่นคือหนทางเดียวที่พ่อแม่จะให้ความสนใจกับเขา
l อีกประเด็นคือ เดี๋ยวนี้มีคำวิพากษ์ว่าเด็กๆ แต่งเนื้อแต่งตัวที่ดูแล้วไม่เหมาะสมกับกาลเทศะบางรายแต่งกายจนดูเสมือนว่าน่าจะนำไปสู่อันตรายต่อตัวของเด็กเอง เช่น เด็กผู้หญิงสวมเสื้อผ้าที่แทบจะไม่ได้ปกปิดร่างกายแม้แต่น้อย เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไรครับ ทำไมเด็กๆ จึงกล้าทำทั้งๆ ที่เสี่ยงอันตรายมาก
ดร.นิปัทม์ : เด็กๆ บางคนเข้าใจว่าเขามีสิทธิเสรีภาพในร่างกายของเขา เขาจะทำอะไรก็ได้ บางคนก็จึงไม่แคร์สายตาของใครอื่น ไม่สนใจว่าใครจะมองเขาว่าอย่างไร หรือคิดอย่างไรกับเขา หากมองในแง่นักจิตวิทยาแล้ว เรายึดมั่นในสุขภาพจิตของบุคคลเป็นสำคัญ หากเขาทำอะไรแล้วมีความสุข เราก็ถือว่าเป็นสิ่งดีสำหรับเขาเอง แต่เรื่องนี้ต้องดูบริบทของสังคมประกอบด้วย คือต้องดูทั้งในแง่ของกาลเทศะด้วย เช่น ไปวัดต้องแต่งตัวอย่างไรไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แต่งตัวอย่างไร เรื่องแบบนี้พ่อแม่ต้องบอกให้ลูกรู้ด้วยว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดในครอบครัวที่มีความอบอุ่นเพียงพอ โดยพ่อแม่จะเฝ้าระวังดูแล เช่น จะถามลูกว่า แต่งตัวแบบนี้แล้วออกไปนอกบ้าน ลูกคิดว่าเหมาะสมหรือ ปลอดภัยกับตัวลูกหรือ คือจะต้องพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน บางครั้งการที่พ่อแม่ประคบประหงมลูกมากเกินไป ลูกก็ไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นในบางกรณีต้องให้ลูกได้รับประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง เช่น การที่ลูกแต่งตัวไม่เหมาะสมแล้วถูกแซวหรือถูก bully จากคนภายนอก เด็กก็จะรู้ตัวเองว่า เขาแต่งกายแบบนั้นไม่เหมาะ และเป็นอันตรายกับตัวเขา เขาก็จะปรับตัวในที่สุด เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย เช่น อาจจะต้องเปลี่ยนการแต่งกายให้รัดกุมยิ่งขึ้น หรือต้องมีเสื้อคลุม เราอาจไม่สามารถปกป้องลูกได้ในทุกกรณีเสมอไป แต่เราต้องให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง โดยเฉพาะในสิ่งที่ไม่เป็นอันตรายกับเขาจนเกินไป เมื่อเขามีบทเรียนแล้ว เขาจะปรับตัวเองในที่สุด เด็กบางคนชอบลอง แต่เมื่อเขารู้ว่าเป็นอันตราย เขาก็จะมีบทเรียน แล้วปรับตัวได้ แต่การให้บทเรียนกับเด็ก ต้องเป็นการให้บทเรียนที่อยู่ในขอบเขต ไม่ใช่ปล่อยให้ตกอยู่ในอันตรายมากจนเกินไป
คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระความรู้และบันเทิง ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี