หมอเจี๊ยบ-พญ.ลลนา ก้องธรนินทร์
“ชีวิตคิดบวก คือ มองโลกตามความเป็นจริง เห็นศักยภาพในสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในตัวของตัวเอง พูดเรื่องจริง มองตามจริงไม่ได้มองแบบท้อแท้ ไม่บั่นทอนตัวเองสมมุติจะสอบแล้ว คิดว่าทำไม่ได้ สอบตกแน่ แต่ถ้าเราคิดบวก ว่าข้อสอบนี้ยากจริง ต้องอ่านหนังสือ ต้องพยายาม ต้องตั้งใจเรียน เราน่าจะสอบผ่านได้นะ นั่นคือการคิดบวกแล้ว”
ฮีลใจเป็นอย่างมาก สำหรับกิจกรรม “รักน้อง คล้องใจ...นักศึกษาใหม่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”ภายในงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2566 นอกจากรับชมวีดิทัศน์และรับมอบโอวาทจากคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้วช่วงเสวนา “ชีวิตคิดบวก” เป็นการแชร์ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย ยังได้เชิญ “หมอเจี๊ยบ-แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์” แพทย์เฉพาะทาง แผนกฉุกเฉินและประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Let’ s Be Heroes มาพูดคุยถึงประสบการณ์การเรียน เป็นแนวทางให้น้องๆ นักศึกษาใหม่สามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในรั้วราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
“เจี๊ยบผ่านการสอบตกมาแล้วประสบการณ์นี้เชี่ยวชาญมาก ตอนเด็กๆสอบได้เกรดศูนย์นะ วิทยาศาสตร์เกรดสองยิมนาสติกเกรดหนึ่ง ปกติไม่เก่งวิชาการก็ต้องเก่งกีฬา แต่นี่ไม่เก่งสักอย่างพ่อแม่ไม่หวังอนาคตแล้ว แต่ตัวเองคิดบวกไงว่าถ้าฉันอยากเป็นหมอ ฉันน่าจะทำได้ ถ้าเรามีความพยายามตั้งใจแล้วก็ลองดูสักตั้ง มองตามความเป็นจริงว่าเราได้เรียนหนังสือเหมือนเพื่อนคนอื่น แขน ขาก็มีครบ ทำไมจะทำไม่ได้ล่ะซึ่งถ้าตอนนั้นไปคิดว่าฉันเคยเรียนแล้วสอบตก จะเอาความสามารถที่ไหนไปเรียนหมอ ถ้าคิดบั่นทอนตัวเองตั้งแต่วันนั้น วันนี้ก็คงไม่ได้เรียนแพทย์มีประสบการณ์มาคุยให้น้องๆ ฟัง
“คิดบวก คือ มองตามความเป็นจริง ลงมือทำ ไม่ดูถูกตัวเอง ไม่ฟังเสียงในหัวที่มาบั่นทอน หรือจะฟังก็ได้แต่ให้มองเป็นมุมท้าทาย เวลาใช้ชีวิต ก็มีสองตัวนี่แหละอยู่ที่ไหล่ ตัวมารกับตัวแองเจิ้ล ถ้ามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่กลัวที่จะทำ สุดท้ายจะมีอะไรดีขึ้นในชีวิตของทุกคน อย่างเพื่อนที่รู้จักกันไม่ได้เรียน ม.ปลายด้วยกัน ทุกคนงงหมดเราไปได้ยังไง ยิ่งตอนประกวดนางงามยิ่งเป็นได้ยังไง ทรงแบบนี้ และไม่สามารถถือไมค์พูดแบบนี้ได้เลย ดังนั้น ที่มาจนถึงวันนี้ได้ ทำทุกอย่างที่คิดว่าตัวเองไม่สามารถทำได้ เพราะเราไม่ฟังเสียงนั้นเราคิดบวก”
เริ่มที่ความคิดของเรา หมอเจี๊ยบย้ำว่า “เข้าใจยุคนี้มีโซเชียล สมัยก่อนอาจต้องเขียนจดหมายหากัน เดี๋ยวนี้ต่อว่ากันได้เลย ส่วนตัวของเจี๊ยบกว่าเราจะโตขึ้นมาผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกันจากรุ่นที่ยังไม่ได้มีโซเชียลมาก จนกระทั่งถึงจุดที่เป็นคนสาธารณะ เคยอ่านบางอย่างแล้วเฟล ร้องไห้ บางอย่างเขาพูดสิ่งไม่จริง รู้สึกว่าเขาไม่รู้จักเราเลยทำไมเขาตัดสินแล้ว คนรอบข้างทุกคนบอกอย่าสนใจ แต่ใจมนุษย์ ไม่มีวัคซีน เจอครั้งแรกปุ๊บมันก็ป่วย สุดท้ายเราก็ทำได้แค่ว่าเราทำสิ่งที่เราทำให้มันดีที่สุด ถ้าเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า หรือถ้าเราเป็นอย่างที่เขาว่าจริงเราก็ต้องหาทางพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่แค่ว่าอ่านแล้วก็แบบฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็จะเหมือนที่บอกแต่แรก คิดบวกต้องเป็นกระบวนการ คิดแล้วลงมือทำอย่างเต็มที่ด้วย”
ท้ายสุดฝากถึงน้องๆ ทุกคน “มาเจอน้องๆ ในวันนี้ก็ประทับใจนะคะเพราะว่าเราผ่านรั้วมหาวิทยาลัยมานานมากแล้วก็ดีใจที่เห็นน้องๆ มีความตั้งใจที่ดี อยากจะเรียนในสาขาที่ได้ช่วยคนก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ขอให้เก็บความตั้งใจเอาไว้และมุ่งมั่นไปให้ถึงฝันทุกคนค่ะ แต่การตั้งใจเรียนก็อย่าเครียดมากเกินไป เราต้องรู้จักมีทั้งเรียนและก็เล่นด้วย ถ้าเกิดเครียดก็ต้องหาคนปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูเพื่อนหรือว่าคุณพ่อคุณแม่ ทุกคนพร้อมรับฟัง อีกอย่างทุกอย่างมีทางออก อดทน สร้างกำลังใจให้ตัวเอง แล้วไปถึงเป้าหมายให้ได้นะคะ”
ด้านนักศึกษาใหม่ของ“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ปีการศึกษา 2566 นางสาวพนิดา ดาววง นักศึกษาทุนจาก สปป.ลาว หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี กล่าวว่า “วันนี้ได้เพื่อนใหม่เยอะเลย และได้ฟังพี่หมอเจี๊ยบพูดได้รับความรู้หลายๆ อย่างเลยค่ะ รวมถึงแรงบันดาลใจด้วย ส่วนที่เลือกเรียนพยาบาลนั้นก็เพราะว่าที่บ้านเปิดคลินิกค่ะ คุณพ่อเป็นหมอคุณแม่เป็นผู้ช่วยฯ แล้วส่วนตัวก็เป็นผู้ช่วยของพ่อ แบบช่วยหยิบจับอะไรเล็กๆ น้อยๆ จนตัวเองรู้สึกว่าการเป็นพยาบาลนั้นน่าสนใจ สามารถช่วยเหลือคนได้หลากหลายรูปแบบ ที่มาศึกษาที่นี่มีเป้าหมายอยากเป็นอาจารย์พยาบาลที่ประเทศของตัวเอง อยากส่งเสริมความรู้ของหนูให้น้องรุ่นต่อๆ ไป”
นางสาวกนกเกตุ เลาห์ทวี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน กล่าวว่า “วันนี้รู้สึกตื่นเต้นดีค่ะ ได้มาเจอเพื่อนในปีการศึกษา 2566 เพื่อนใหม่ในทุกๆ สาขาในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นะคะ แล้วก็ได้มาฟังประสบการณ์ของหมอเจี๊ยบ รู้สึกดีค่ะ ส่วนตัวหนูชอบด้านสุขภาพอยู่แล้ว คิดว่าหลักสูตรนี้ค่อนข้างแปลกใหม่ในระดับปริญญาตรี ด้วยความเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เราก็จะได้เรียนด้านสุขภาพที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้วก็ได้เรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รู้สึกว่าในอนาคตเรื่องดิจิทัลหรือว่าเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์น่าจะมาแรง แล้วก็มีประโยชน์มากๆ ในสาขาที่เรียนก็ได้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตัวหลักสูตรเน้นพื้นฐานในการนำข้อมูลต่างๆ ที่ค่อนข้างเยอะมากในโรงพยาบาลมาปรับใช้ แล้วก็มาพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขอีกด้วย”
นายธรพจน์ พจน์พิพัฒน์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ.2563 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒนกล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้เจอเพื่อนๆ จากหลายสาขาวิชาแล้วก็รู้สึกประทับใจมากๆ ที่ได้มางานนี้เพราะว่ามันเป็นการที่เราได้ Network กันแล้วก็ Connectกับเพื่อนๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถต่อยอดได้ในอนาคต ซึ่งก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ด้วย ตัว N Networking ว่าด้วยเครือข่ายความร่วมมือ เพราะอยู่ด้วยกันหลายหลักสูตร การสร้างมิตรภาพความเชื่อมโยงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้าเวลาทำงานร่วมกัน ด้านแรงบันดาลใจในการเรียนแพทย์ เนื่องจากพ่อแม่ผมก็มีโรคประจำตัว หากได้เจอผู้ป่วยที่ท้อแท้ไม่มีแรงบันดาลใจ เราก็อยากจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้ในวินาทีที่มันไม่ดี อยากมาเรียนสั่งสมความรู้ แล้วก็นำไปต่อยอดเพื่อที่จะรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะคนที่อยู่ต่างจังหวัดห่างไกล ยังเข้าถึงการรักษาได้อย่างยากลำบากซึ่งมีอยู่อีกมาก”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี