ต่อจากครั้งก่อนที่ว่าด้วยเรื่องการกินยากับนมหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม สัปดาห์นี้จะมาคุยต่อเรื่องยากับเครื่องดื่มอื่นๆ ว่าสามารถกินด้วยกันได้หรือไม่ มีข้อควรระวังปลีกย่อยอย่างไร
เริ่มจากเครื่องดื่มที่ตามปกติเราก็ไม่ควรดื่มมากเกินไปอย่างเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่าง เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ โดยทั่วไปก็ไม่ได้มีข้อห้าม นอกจากยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและทำให้ง่วง เช่นยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด ยาบรรเทาปวดกลุ่มโอพิออยด์ ยาคลายเครียด ยานอนหลับ
ซึ่งการกินยาเหล่านี้กับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะยิ่งเสริมฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางซึ่งกันและกันจนถึงระดับที่เป็นอันตรายในผู้ป่วยบางรายได้ ข้อสังเกตของยากลุ่มนี้คือ จะมีคำเตือนบนฉลากว่า “กินแล้วอาจทำให้ง่วงนอน ห้ามขับขี่ยานพาหนะ” ยาบางตัวก็อาจมีคำเตือนเพิ่มเติมเจาะจงด้วยว่า “ห้ามกินยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์”
ถึงตรงนี้อาจมีคำถามเหมือนกับตอนกินยากับนมว่า แล้วถ้ากินยาแล้ว อยากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ต้องเว้นระยะห่างกันเท่าไหร่ คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการออกฤทธิ์ของยาซึ่งโดยมากก็นานกว่า 4 ชั่วโมงขึ้นไปทั้งนั้น การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นการยากในทางปฏิบัติ เภสัชกรจึงมักแนะนำให้เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดช่วงเวลาที่ต้องใช้ยาดังกล่าว
นอกจากนี้ ยาบางชนิดยังไปมีผลทำให้เกิดพิษจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อีก เนื่องจากยาบางชนิดไปรบกวนการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ฉะนั้นเภสัชกรจึงมักแนะนำให้เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดช่วงเวลาที่ต้องใช้ยาดังกล่าวด้วย
เครื่องดื่มชนิดต่อไปที่คนมักใช้ร่วมกับยาโดยนึกไม่ถึงว่าจะมีปัญหาคือหมวดที่มีกาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ (ที่ไม่มีส่วนผสมของนม) หรือน้ำอัดลมสีดำยี่ห้อต่างๆ โดยทั่วไปเครื่องดื่มกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีปัญหากับยา ยกเว้น ยาที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน ได้แก่ ยาแก้ปวดไมเกรนที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ คาร์เฟอก็อต (Cafergot) หรือชื่อยี่ห้ออื่นๆ ในสูตรเดียวกัน ยานี้มีส่วนผสมของ caffeine และ ergotamine
จะเห็นว่าในตัวยามีกาเฟอีนอยู่แล้ว หากถูกกินร่วมกับเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนอีก ก็จะส่งผลให้ได้รีบกาเฟอีนเกินขนาดเกิดอาการต่างๆ เช่น กระวนกระวาย ใจสั่น ท้องเสีย โดยเฉพาะคนที่ไวต่อกาเฟอีนอยู่แล้ว
นอกจากยาไมเกรนคาร์เฟอก็อตแล้ว เครื่องดื่มหมวดนี้ยังไม่ควรดื่มร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ทำให้ใจสั่น เช่นยาขยายหลอดลม ยาแก้คัดจมูก ยาเสริมฮอร์โมนไทรอยด์เป็นต้น ดังนั้น ท่านใดที่จำเป็นต้องใชัยาเหล่านี้ต้องพึงระวังเป็นเครื่องดื่มที่กินร่วมกับยาให้ดี
เครื่องดื่มหมวดสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือน้ำผลไม้ หมวดนี้ดูเหมือนจะปลอดภัยที่สุดในบรรดาเครื่องดื่ม แต่มีน้ำผลไม้บางชนิดอาจไปตีกับยาจนเกิดอันตรายได้ เช่นน้ำเกรปฟรุต ชื่อเกรปฟรุตนี้อาจจะไม่คุ้นหูชาวไทยกันนัก เพราะมันเป็นผลไม้ต่างประเทศ รสชาติเปรี้ยวอมหวานมีกลิ่นเฉพาะตัวที่สดชื่น แม้ว่าคนไทยไม่ค่อยคุ้นเคยกับเกรปฟรุต แต่ในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ก็เห็นน้ำผลไม้ชนิดนี้วางขายประปราย สารสำคัญในเกรปฟรุตสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เปลี่ยนแปลงยาบางชนิดได้ เมื่อกินพร้อมกันจึงทำให้ยานั้นมีประสิทธิภาพเปลี่ยนไป อาจไม่ได้ผลหรือเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงจากยาได้
ตัวอย่างยาที่ใช้บ่อยและตีกับน้ำผลไม้นี้ เช่น ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตตินบางตัว ยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้ในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ นอกจากน้ำเกรปฟรุตแล้ว ยังมีน้ำทับทิม น้ำส้มโอ และน้ำมะเฟื่อง ที่เคยมีการศึกษาว่ามีโอกาสไปตีกับยาได้ ทางทีดีควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้เหล่านี้ในระหว่างที่มีการใช้ยา
โดยสรุป การกินยากับเครื่องดื่มต่างๆ ที่ไม่ใช่น้ำเปล่านั้นมีข้อควรระวังบางประการ โดยทั่วไปจะปรากฏคำเตือนบนฉลาก ผู้ใช้ยาจึงควรอ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อน รวมถึงหากไม่มั่นใจ ว่ายาใดกินกับเครื่องดื่มที่ท่านต้องการได้หรือไม่สามารถสอบถามข้อมูลจากเภสัชกรได้ที่ @guruya
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี